แมลงวันในไร่ส้ม/ รับน้อง ‘เดือดระอุ’ บิ๊กตู่นำ ‘พปชร.’ เข้าสภา แถลงนโยบายครั้งแรก

แมลงวันในไร่ส้ม

รับน้อง ‘เดือดระอุ’

บิ๊กตู่นำ ‘พปชร.’ เข้าสภา

แถลงนโยบายครั้งแรก

 

เป็นข่าวมาระยะหนึ่ง การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้น 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 และเป็นครั้งแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ที่จะได้แถลงแนวทางการทำงานต่อรัฐสภา ที่มีส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง

พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการสนับสนุนจาก 19 พรรคการเมืองที่ประกอบเป็นรัฐบาล และ ส.ว. อีก 250 คน รวมแล้วเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจไปอยู่ที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ เศรษฐกิจใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ  และพลังปวงชนไทย ซึ่งมีการรวมตัวทำงาน แบ่งงาน จัดหัวข้อการอภิปรายและแถมพิเศษด้วยการจะอภิปรายปัญหาคุณสมบัติของ 14 รมต.

สำหรับ 14 รมต. ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 4.นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง 5.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

6.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม 7.นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ 8.น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ 9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย

10.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ 11.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอี 12.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน 13.นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ 14.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวนำเรื่องนี้ไปถามนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ว่าการอภิปรายคุณสมบัติรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายจะทำได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภากำหนดไว้ว่า การอภิปรายในเรื่องของความเป็นไปได้ของนโยบาย หรือการที่นโยบายจะประสบความสำเร็จ ซึ่งเขามีสิทธิ์อภิปรายความสามารถของบุคคลนั้นๆ ได้

ส่วนความกังวลที่ฝ่ายค้านอาจจะใช้เวทีอภิปรายนโยบายรัฐบาลเป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อยๆ นายชวนระบุว่า เขาก็ทำมาโดยตลอด จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงความหนักใจในการควบคุมการประชุม ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า เรื่องนี้มีระเบียบอยู่แล้วว่าจะอภิปรายได้เพียงใด การอภิปรายความสามารถของบุคคลเขาสามารถทำได้

เป็นการบ้านให้พรรครัฐบาลไปหาวิธีการช่วยเหลือปกป้องนายกฯ และ รมต.ต่อไป

 

สําหรับคำแถลงนโยบาย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีเนื้อหาทั้งหมด 66 หน้า แบ่งเป็นนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน นโยบายหลักประกอบด้วย 1.การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3.การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 4.การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5.การพัฒนาเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของไทย 6.การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

7.การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐากราก 8.การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของไทยทุกช่วงวัย 9.การพัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันทางสังคม 10.การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ และ 12.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม

ส่วนนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ประกอบด้วย 1.แก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชน 2.ปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3.มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับการผันผวนของเศรษฐกิจโลก 4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และพัฒนานวัตกรรม

5.การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6.การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7.การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 8.การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ

9.การแก้ไขปัญหายาเสพติดและความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 10.พัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11.การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้ง และอุทกภัย

และนโยบายที่จับตามองกันมากที่สุด คือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ในข้อ 12.การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า จะมีการศึกษา ฟังความเห็นประชาชน หากจะแก้ เต็มที่คือ ส่วนที่ว่าด้วยวิธีการแก้ไข ที่เดิมต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบในวาระ 1 ถึง 1 ใน 3 ซึ่งยากมาก ที่จะเป็นไปได้ เพราะ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช.ล้วนๆ

 

และเพื่อรับมือฝ่ายค้าน พรรคพลังประชารัฐได้จัดสัมมนา ส.ส.ขึ้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 21-22 กรกฎาคม

และจัดทัพ ส.ส. 25 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อภิปรายสนับสนุนนโยบายรัฐบาล 12 ข้อเร่งด่วน และ 12 นโยบายหลัก โดยอภิปรายคนละ 7-8 นาที

อีกกลุ่ม จะทำหน้าที่เป็น “องครักษ์รัฐมนตรี” คัดเลือก ส.ส.ที่มีประสบการณ์ในเวทีสภา เป็นอดีต ส.ส.เก่า เพื่อเตรียมไว้รับมือในกรณีที่ถูก ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายนอกเหนือจากนโยบาย

และมีการเปิดเผยในการสัมมนาครั้งนี้ว่า ในการประชุม ครม.นัดแรก ภายหลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้รัฐมนตรีแต่ละคนชี้แจงในนโยบาย ที่รับผิดชอบ และกล่าวติดตลกว่า “อย่าทิ้งผม อย่าปล่อยให้ผมพูดคนเดียว ขอให้ทุกคนช่วยกันพูด”

และในตอนเช้าวันที่ 22 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ต่อด้วยรถยนต์ มาพบปะกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และกล่าวให้กำลังใจ ส.ส.ในการทำหน้าที่ พร้อมกับยืนยันว่าจะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ครบ 4 ปี หรือครบเทอม

ผลจากการสัมมนาน่าจะส่งผลต่อการประชุมแถลงนโยบาย ขณะที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า สถานที่จัดงาน คือ “88 การ์มองเต้ รีสอร์ท” ซึ่งมีปัญหาทับซ้อนพื้นที่อุทยานฯ และวิจารณ์ว่า พล.อ.ประวิตรใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปร่วมงานการเมือง ทำให้เกิดการตอบโต้กันต่อไปอีก

เห็นชัดว่าเป็นรายการ “รับน้อง” ทางการเมืองที่ดุเดือดร้อนแรงไม่น้อย รัฐบาลตั้งใหม่ แม้จะหน้าเก่าแต่ก็ประมาทไม่ได้