เพ็ญสุภา สุขคตะ : พินิจหลักฐานเกี่ยวข้องกับเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตามรอยเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี จากลวปุระถึงหริภุญไชย ศึกษาจากตำนานพงศาวดาร และสถานที่จริง (จบ)

ขณะที่ท่านกำลังอ่านคอลัมน์นี้กันอยู่นั้น น่าจะตรงกับช่วงเวลา (วันที่ 23 กรกฎาคม 2562) ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนเตรียมจัดงานหรือกำลังจัดงานประชุมสัมมนาทางวิชาการหัวข้อ “ชำระประวัติศาสตร์เมืองลำพูน เน้นการตามรอยเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี” เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นลำพูนศึกษา อยู่พอดี

การศึกษาเรื่องพระราชประวัติพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นบุคคลในตำนานที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่า 1,000 ปีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ดิฉันมีความจำเป็นที่จะต้องวางน้ำหนักในการสืบค้นหลักฐานหลายด้านประกอบกันเพื่อเพิ่มความรัดกุม ดังนี้

1. หลักฐานด้านโบราณคดี

2. หลักฐานด้านประวัติศาสตร์

3. หลักฐานด้านคำบอกเล่า มุขปาฐะ นิทานพื้นบ้าน

4. หลักฐานด้านนิมิต ฯลฯ

 

หลักฐานด้านโบราณคดี

ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญยิ่ง ประกอบด้วย 2 หลักฐานย่อยคือ หลักฐานด้านโบราณวัตถุ และหลักฐานด้านโบราณสถาน

โบราณวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์ เครื่องปั้นดินเผา ด้านโบราณสถาน กอปรด้วย สถูปเจดีย์ ซากปรักหักพัง ร่องรอยฐานอาคารที่อยู่ใต้ชั้นดิน

ทั้งหมดนี้ต้องมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นศักราชที่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี

หลักฐานเหล่านี้สามารถสืบค้นพบอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ไม่มาก ใช้เป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรทวารวดีที่ส่งทอดมายังอาณาจักรหริภุญไชยจริง

 

หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ : ศิลาจารึก

หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ ได้แก่ ศิลาจารึก พงศาวดาร ตำนาน ฯลฯ โดยนักวิชาการจะให้น้ำหนักแก่ศิลาจารึกมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นในยุคที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ จริง ส่วนพงศาวดารและตำนาน เป็นการบันทึกขึ้นภายหลังแล้ว

ในจังหวัดลำพูนและละแวกใกล้เคียง ไม่พบศิลาจารึกที่มีอายุเก่าแก่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีเลย พบแต่จารึกที่มีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 ลงมาแล้วเท่านั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระญาอาทิตยราช พระญาธัมมิกราชา และพระญาสววาสิทธิ

สำหรับศิลาจารึกหลักเก่าที่สุดที่มีการกล่าวถึงพระนางจามเทวีคือ “จารึกจุลคีรี” ที่พระธาตุดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เขียนขึ้นในสมัยพระเมกุฏิ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว เป็นการบันทึกเรื่องราวย้อนหลัง โดยเอ่ยถึงนามของพระนางจามเทวีว่าได้มาสักการะพระธาตุแห่งนี้

มีจารึกนอกพื้นที่ลำพูนที่น่าสนใจยิ่ง 2 ชิ้น เพราะนอกจากจะมีอายุร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีแล้ว ยังมีเนื้อหาที่กล่าวถึงสตรีสูงศักดิ์ (อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีก็เป็นได้ แต่ควรนำมาศึกษาประกอบกัน) ได้แก่

จารึกหลักแรกพบที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 กล่าวถึงพระนางจันทรเทวี ถูกส่งจากราชวงศ์ไศเลนทร์ อาณาจักรศรีวิชัย ไปเป็นมเหสีของกษัตริย์ที่นครศรีธรรมราช (ในอดีตเรียกรัฐตามพรลิงค์) เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี นามของ “จันทรเทวี” กับ “จามเทวี” มีคล้ายคลึงกันไม่น้อย

อีกหลักหนึ่ง พบที่นครราชสีมา เรียก “จารึกบ่ออีกา” มีอายุพุทธศตวรรษที่ 11-12 ใช้อักษรมอญผสมอักษรปัลลวะ ของอินเดียตอนใต้ กล่าวถึงธิดาของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง เป็นประธานในการสร้างวัดถวายแด่พระพุทธศาสนา สะท้อนว่าสตรีมีบทบาทต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างสูงตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว สอดรับกับเรื่องราวของพระนางจามเทวีไม่น้อย

 

หลักฐานด้านประวัติศาสตร์ : พงศาวดาร และตำนาน

พงศาวดารที่มีการกล่าวถึงพระนางจามเทวี ล้วนแต่เรียบเรียงขึ้นยุคหลัง ห่างไกลจากเหตุการณ์จริงมากกว่า 800 ปี อาทิ จามเทวีวงส์ พงศาวดารหริปุญไชย เขียนในพุทธศตวรรษที่ 20, พงศาวดารเหนือ เขียนในพุทธศตวรรษที่ 22 และพงศาวดารโยนก เขียนในพุทธศตวรรษที่ 25 (โดยปราชญ์ชาวสยามสมัยรัชกาลที่ 5)

หลักฐานด้านตำนาน เท่าที่ตรวจสอบสามารถจำแนกออกเป็น 2 ฝ่าย คือตำนานฝ่ายวัด และตำนานฝ่ายบ้าน

ตำนานฝ่ายวัด เขียนโดยพระภิกษุชาวล้านนาสายลังกาวงศ์ พุทธศตวรรษที่ 20 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 อาทิ ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น

ตำนานฝ่ายบ้าน เขียนโดยชาวมอญ (เมงค์) บ้านหนองดู่-บ่อคาว อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ด้วยตัวอักษรมอญ พุทธศตวรรษที่ 20 มีอายุร่วมสมัยกับตำนานฝ่ายวัด แต่เนื้อหามีความแตกต่าง ปัจจุบันตำนานส่วนนี้ต้นฉบับได้หายสาบสูญไปจากชุมชนมอญแล้ว เนื่องด้วยชาวฝรั่งเศสชื่อ Camille Notton (กามีย์ นอ-ตอง) ยืมเอาไปศึกษาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วมิได้เอามาคืน

ตำนานฝ่ายบ้านจากวัดหนองดู่ ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของการเขียนตำนานเกี่ยวกับพระนางจามเทวีรุ่นหลังๆ โดยเรียกว่า “ฉบับฤๅษีแก้ว” และ “ฉบับนายสุทธวารี สุวรรณภาชน์”

 

ความแตกต่างของเนื้อหา

ตํานานฝ่ายวัด และตำนานฝ่ายบ้าน มีความแตกต่างกันหลายด้าน โดยเฉพาะด้านชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี

ตำนานฝ่ายวัด ระบุว่าพระนางจามเทวีได้รับการอัญเชิญมาครองเมืองหริภุญไชยโดยฤๅษีวาสุเทพ ในฐานะพระราชธิดากษัตริย์ละโว้ (แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าทรงประสูติที่ไหน และมีเชื้อสายเผ่าพันธุ์ใด)

ตำนานฝ่ายบ้าน พระนางจามเทวีเป็นธิดาเศรษฐีอินตา เกิดที่บ้านหนองดู่-บ่อคาว (ปัจจุบันอยู่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) นกคาบมาตกบนใบบัว ฤๅษีนำไปเลี้ยง แต่ด้วยเกรงคนติฉิน จึงอธิษฐานจิตปล่อยให้ลอยน้ำไป มีกากวานร (ลิงดำ) เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล

จนกลายเป็นธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้

 

นัยยะแห่งตำนานสองฝ่าย

ตํานานฝ่ายวัด มองพระนางจามเทวีเป็น “สัญลักษณ์แห่งผู้นำทางศาสนา” ที่นำเอาพระพุทธศาสนาจากละโว้มาสถาปนาในลำพูน เนื่องจากผู้เขียนตำนานเป็นพระภิกษุล้านนาลัทธิลังกาวงศ์

ตำนานฝ่ายวัดจะไม่ให้ความสำคัญหรือน้ำหนักด้านชาติกำเนิด การวิวาห์ ศึกชิงนาง ความงาม พระพี่เลี้ยง บทบาทของช้างคู่บารมี รวมถึงอิทธิพลของ “ขุนหลวงวิลังคะ” ฯลฯ

ตรงข้าม จะเน้นแค่เพียงบทบาทของความเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่หักล้างประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับฤๅษีตนต่างๆ ภาพลักษณ์ของพระนางจามเทวีคือ เป็นนักปกครองที่ดี เป็นนักผังเมือง นักบริหารจัดการ ผู้มีความรอบรู้ สามารถขยายอาณาเขตกว้างไกลไปถึงเขลางค์นคร (ลำปาง)

นัยยะแห่งตำนานฝ่ายบ้าน กลับมองพระนางจามเทวีเป็นมนุษย์ตัวเป็นๆ มีเลือดเนื้อ ใส่รายละเอียดในทุกๆ เรื่องราว เช่น ระบุเวลาตกฟาก ทราบวันเดือนปีเกิด อธิบายรายละเอียดของรูปโฉมโนมพรรณ

สะท้อนแง่มุมในชีวิตของพระนางจามเทวีแบบปุถุชน คือบิดามารดาหย่าร้าง เติบโตมาแบบสามัญชน มีพี่เลี้ยงเป็นลิง มีสถานะเป็นธิดาบุญธรรมของกษัตริย์ละโว้ ไม่สมหวังในคู่ครอง ต้องอยู่ในสภาพแม่หม้าย แต่มีคนหมายปองมากมาย

ยามบ้านเกิดเมืองนอนคับขันต้องกลับไปช่วยกอบกู้วิกฤต

ประสบชะตากรรมความลำบากยากเข็ญในการเดินทาง ต้องฟันฝ่าอุปสรรค

มีความทุกข์ความกังวลที่ต้องคอยรับมือต่อสู้กับขุนหลวงวิลังคะที่เต็มไปด้วยการใช้ไสยศาสตร์

ในที่สุดตัดสินใจอำลาเพศฆราวาสสู่ร่มกาสาวพัสตร์

 

หลักฐานด้านคำบอกเล่า มุขปาฐะ

ประกอบด้วยนิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่า วรรณกรรม กาพย์เจี้ย เป็นการขยายประเด็นจากข้อมูลที่ได้ยินมาจากตำนานฝ่ายบ้านมากกว่าตำนานฝ่ายวัด กลายเป็นเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงระหว่าง 2 ฟากแม่น้ำปิง

แม่ปิงฟากตะวันออก หรือฝั่งลำพูน เป็นฝ่ายที่อยู่ข้างพระนางจามเทวี โดยนำเรื่องราวมาจาก “ฉบับฤๅษีแก้ว” แปลโดย ดร.สนอง วรอุไร ระบุว่า จุดที่ฤๅษีเลี้ยงดูพระนางจามเทวีนั้นอยู่ที่ดอยติ-หนองบัว

แม่ปิงฟากตะวันตก หรือฝั่งเชียงใหม่ เป็นฝ่ายที่เห็นอกเห็นใจขุนหลวงวิลังคะในลักษณะว่าเป็นผู้ถูกกระทำ สะท้อนผ่านกาพย์เจี้ยจามเทวี รจนาโดย ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ระบุจุดที่ฤๅษีเลี้ยงดูพระนางจามเทวีอยู่ที่ดอยคำ แม่เหียะ

นอกจากนี้แล้ว นิทานพื้นบ้าน เรื่องเล่า ชื่อบ้านนามเมือง ที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวี พบว่ายังได้กระจายตัวในพื้นที่ตลอดเส้นทางเสด็จผ่านจากลวปุระถึงหริภุญไชย เป็นระยะๆ สองฟากเจ้าพระยาสู่แม่ระมิงค์ มากเกือบ 50 แห่ง

ยังมีเส้นทางจาริกแสวงบุญไปนมัสการพระธาตุ และรอยพระบาทต่างๆ ของพระนางจามเทวี พร้อมด้วยพระราชโอรสฝาแฝด และพญาช้างปู้ก่ำงาเขียว อีกด้วย เช่น นมัสการรอยพระพุทธบาทตากผ้า พระพุทธบาทสี่รอย หรือไปนมัสการพระธาตุดอยเกิ้ง พระธาตุแก่งสร้อย พระธาตุจอมทอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยปรากฏในตำนานฝ่ายวัดหรือฝ่ายบ้านมาก่อน แต่พบอยู่ในตำนานเรื่องเล่าท้องถิ่นของแต่ละสถานที่นั้นๆ

กล่าวโดยสรุป การจะศึกษาเรื่องพระราชประวัติของนางจามเทวีอย่างรอบด้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมข้อมูลจากหลักฐานของทุกๆ ฝ่าย ทั้งในและนอกพื้นที่ลำพูน ทั้งตำนานฝ่ายวัดและตำนานฝ่ายบ้าน ทั้งหลักฐานด้านโบราณคดี ดังที่กล่าวมาแล้ว เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จนค้นพบคำตอบที่เคยสงสัยคาใจกันมานานแล้ว อาทิ ในประเด็นที่ว่า

ศาสนาในยุคพระนางจามเทวีเป็นเช่นไร มีการอุปถัมภ์ศาสนาฮินดูหรือไม่ และหากมียุคนั้นควรเน้นนิกายอะไร ระหว่าง “ไศวนิกาย” (พระศิวะเป็นใหญ่) กับ “ไวษณพนิกาย” (พระวิษณุเป็นใหญ่) หรือศาสนาพุทธที่รุ่งเรืองนั้น เป็นนิกายเถรวาทหรือมหายาน?

รวมไปถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ฤๅษีวาสุเทพเลือกทำเลสร้างเมืองหริภุญไชยบริเวณลำพูนปัจจุบัน มีเงื่อนไขด้านกายภาพทางภูมิศาสตร์ หรือปัจจัยด้านเศรษฐกิจอย่างไรหรือไม่เป็นตัวกำกับ (เช่น อุดมไปด้วยสินแร่ทรัพยากร) อีกทั้งอาณาบริเวณที่ทรงขยายขอบขัณฑสีมาออกไปนั้น จรดแว่นแคว้นใดกันบ้าง

ส่วนปัญหาเรื่องชาติกำเนิด เป็นปริศนาที่โบราณาจารย์มิรู้กี่ยุคกี่สมัย ก็มิอาจหาข้อสรุปได้แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ดังนั้น ในยุคสมัยของเราคงต้องศึกษาแบบ “ปลายเปิด” ทิ้งปมปริศนาไว้ 2 แนวทางเช่นเดียวกัน (ระหว่างเป็นชาวมอญพื้นเมืองเกิดแถวป่าซาง กับเป็นธิดากษัตริย์ละโว้)

ปลายเปิดที่ว่านี้คือ เปิดใจ เปิดประตู เปิดพรมแดน มองไปรอบๆ และเรียนรู้เรื่องราวจากเพื่อนบ้านของเราบ้าง ในท้ายที่สุดเชื่อว่าสักวัน เราจักได้ “สมมติฐานที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ระดับหนึ่ง”

 

หลักฐานด้านนิมิต

อ๊ะ อ๊า! ด้านสุดท้ายนี้ มีข้อมูลมหาศาล อย่าทำเป็นเล่นไปเชียวนะคะ ด้านนี้ก็มีประโยชน์

อย่างน้อยทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อว่า ปมหรือแรงขับอะไรหนอที่เต้นเร่าๆ อยู่ภายในใจของพวกที่มีความเชื่อเกี่ยวกับพระนางจามเทวีไปต่างๆ นานา

บ้างหาว่าพระแก้วขาวองค์ที่วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่ ไม่ใช่ของจริง ของแท้ต้องอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง จ.ลำพูน

หรือการโยงให้พระนางจามเทวีปรากฏกายในถิ่นทุรกันดารด้วยการขยายดินแดนตามพื้นที่อันไกลโพ้น ซึ่งดูแล้วเกินกำลังที่พระนางจักไปถึงได้จริง

หรือว่าลึกๆ แล้วคนเหล่านี้อาจถูกเหยียดย่ำทางด้านชาติพันธุ์มานาน หรืออาจมีปมเรื่องเกิดในเมืองใหญ่-เมืองเล็ก ฤๅเพราะถูกกดขี่ข่มเหงทางด้านเพศสภาพ? ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง โดยดึงเอาพระนางจามเทวีมาเป็นตัวประกัน!

เนื่องจากดิฉันเรียบเรียงเนื้อหาเรื่องพระราชประวัติพระนางจามเทวีไว้ค่อนข้างยาวถึง 200 หน้า จึงยากเกินกว่าจะสรุปประเด็นต่างๆ ได้หมดในที่นี้ แค่บอกเล่าถึงวิธีคิดว่าศึกษาประวัติศาสตร์หน้าแรกของเมืองลำพูนอย่างไรเท่านั้น

โปรดรอติดตามผลการสัมมนาฉบับสมบูรณ์เร็วๆ นี้ต่อไปนะคะ