ตรวจแถวTVดิจิตอล ล่องนาวาฝ่ากระแสคลื่นลม ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด จะรอดกี่ราย

ภาพรวมของธุรกิจทีวีดิจิตอล ในปี 2559 ถือได้ว่ามีความน่าสนใจพอสมควร เพราะตลอดทั้งปีเราจะได้เห็นภาพของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ต้องดิ้นรนเพื่อหนีตายตลอด ทั้งการหารายได้และการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าภาพของผู้ประกอบการที่เปิดแชมเปญฉลองชัยชนะการประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 24 ช่อง 17 บริษัท เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2556 ที่ต่างวาดฝันว่าจะโกยเงินได้เป็นกระสอบเหมือนดังช่องใหญ่ๆ ในทีวีอะนาล็อกเดิม ทุกสิ่งนั้นเป็นแค่ภาพลวงตา

เพราะในความเป็นจริง ด้วยจำนวนช่องที่มากถึง 24 ช่องที่ประมูลมาได้ ประกอบกับ 3 ช่องอะนาล็อกเดิมที่ไม่ต้องประมูล กลายเป็นจำนวนที่มากเกิน จึงไม่สามารถแบ่งเค้กตลาดโฆษณาที่มีอยู่ราว 60,000 ล้านบาทได้มากนัก

ส่งผลให้ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ้ติ๋ม ทีวีพูล ต้องทิ้งใบอนุญาตไป 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวี และ เอ็มวีทีวี แฟมิลี่

 

ดังนั้น ทีวีดิจิตอล จึงกลายเป็นสมรภูมิสำหรับผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ช่องไหนที่ผอมแห้งแรงน้อยกว่าก็จะประสบปัญหาเรื่องเรตติ้งและรายได้อย่างหนัก จึงทำให้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเรายได้เห็นภาพการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เพื่อเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทั้ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บางรายถึงกับต้องเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นกันเลยทีเดียว!!

โดยการเปลี่ยนแปลงที่ผู้ถือหุ้นที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุด คือการที่ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี จากกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เข้ามาซื้อหุ้น บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ในอัตรา 47.62% มูลค่ารวม 850 ล้านบาท

และกรณีที่ บริษัท ประนันท์ภรณ์ จํากัด ของ น.ส.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เข้าซื้อหุ้นบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด หรือสถานีโทรทัศน์ช่องวัน จำนวน 50% มูลค่า 1,905 ล้านบาท

 

และล่าสุดก่อนสิ้นปี 2559 ไม่กี่วัน (20 ธันวาคม 2559) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ด้วยการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตงวดที่เหลืออีก 3 งวดออกไปเป็น 6 งวด แต่จะต้องเสียดอกเบี้ยตามอัตรา MLR ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งให้ กสทช. เป็นผู้ชำระเงินค่าอัพโหลดสัญญาณทีวีดิจิตอล ขึ้นดาวเทียม เพื่อออกอากาศทีวีดิจิตอลผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรับภาระรวมกันที่ปีละ 800 ล้านบาท

เมื่อรัฐให้ความช่วยเหลือแล้ว จากนี้จึงเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลในปี 2560 จะเป็นอย่างไร

และจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือไม่!!

 

ซึ่ง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มองว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ตามประกาศ คสช. นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะสามารถให้ผู้ประกอบการเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์หรือไม่ ซึ่งผู้ใช้สิทธิ์ก็จะต้องรับภาระดอกเบี้ยตามอัตรา MLR ของ ธปท.

“แต่เหนือสิ่งอื่นใดของการใช้ ม.44 ในครั้งนี้คือ จะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น สามารถนำเงินที่เหลือไปลงทุนด้านเนื้อหารายการ เพื่อเสนอรายการที่ดีมีคุณภาพให้ประชาชน ซึ่งท้ายสุดประชาชนจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการช่วยเหลือนี้”

พ.อ.นที กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่าหลังจากการประมูลก็มีเหตุที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมายเกิดขึ้นมากมาย ทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ไม่เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต่างหวังกันไว้ ซึ่ง กสทช. ก็เห็นใจและพยายามช่วยอย่างเต็มที่มาโดยตลอด แต่หลายครั้งติดปัญหาด้านข้อกฎหมาย จึงไม่อาจดำเนินการได้

 

ในมุมของผู้ประกอบการ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล บอกว่า ปีนี้สถานการณ์การของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะดีขึ้นในระดับหนึ่ง เนื่องจาก

1. แนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ ในตลาดมีกำลังทรัพย์ในการซื้อโฆษณามากยิ่งขึ้น

2. การเพิ่มสัดส่วนคนดีจากกลุ่มช่องทีวีอะนาล็อกเดิม ไปยังช่องทีวีดิจิตอลอื่น มีแนวโน้มดีขึ้น ประชาชนรู้จักช่องใหม่มากขึ้น

3. การที่ กสทช. มีการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอล

และ 4. การที่ คสช. มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศ คสช. ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลออกไป ซึ่งการยืดเวลาชำระค่าใบอนุญาตออกไป จะสามารถลดความตึงเครียดของสถานะการเงินของผู้ประกอบการออกไปได้มาก เพราะสามารถนำเงินที่เหลือจากการยืดเวลาไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาเนื้อหารายการให้ดียิ่งขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม นายสุภาพบอกว่ายังอยากได้มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ อีกคือ อยากให้ กสทช. เจรจากับผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินลดราคาค่าใช้บริการให้ถูกลง เนื่องจากค่าใช้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลในขณะนี้ยังแพงมาก

ขณะที่การแข่งขันของตลาดทีวีดิจิตอลในแต่ละช่องก็จะยังคงมีการแข่งขันอย่างดุเดือด มองว่าทุกช่องจะทุ่มแบบสุดกำลัง เพื่อแย่งเรตติ้งจากคนดู

เนื่องจากมีแนวโน้มแล้วว่าอัตรามูลค่ารวมในตลาดโฆษณาจะยังอยู่ในอัตราเพิ่มจากเดิมไม่มากนัก

 

ขณะที่ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลช่อง 8 มั่นใจว่าปีนี้เศรษฐกิจจะดีขึ้น โดยจะยิ่งเห็นภาพชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอ้างอิงจากการซื้อโฆษณาจากลูกค้าที่ซื้อโดยตรงไม่ผ่านเอเยนซี่มากขึ้น

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองก็มีความผ่อนคลายพอสมควร และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมา ก็ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้ากล้าที่จะใช้งบฯ ทำการตลาดและโฆษณามากขึ้น โดยประเมินว่าเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่แค่ 5 ช่องแรกที่ครองเรตติ้งสูงสุดในปี 2559 ซึ่งมีช่อง 8 เกาะกลุ่มอยู่ด้วย

ฉะนั้น จึงทำให้มั่นใจในการประกอบธุรกิจจะดีขึ้นพอสมควร แต่ก็จะต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวังและรอบคอบ

และการที่ คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลออกไป และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) เข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ก็เชื่อว่าจะให้สถานการณ์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลออกมาดีขึ้นเช่นกัน เพราะจะทำให้กระแสเงินสดของผู้ประกอบการดีขึ้นมีความคล่องตัวขึ้น

แต่ท้ายสุดจะทำให้ธุรกิจไปรอดหรือไม่นั้นก็ต้องดูต่อไป เพราะมาตรการช่วยเหลือที่ออกมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

จากข้อมูลข้างต้นก็บอกได้ว่าความช่วยเหลือที่ภาคธุรกิจต้องการนั้น ภาครัฐจัดการให้แล้ว นับหมดข้ออ้างที่จะขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้น ช่วงที่เหลือจากนี้ก็อยู่กับฝีไม้ลายมือของผู้ประกอบการว่าจะงัดหมัดเด็ดมาสู้คู่แข่งได้อย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่าน

โปรดอย่ากะพริบตา…