คติขนมปังกับไวน์ คือเรือนร่างและเลือดพระเยซูของชาวคริสต์ มาจากวัฒนธรรมการกินขนมปังกับเบียร์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ถึงแม้นักโบราณคดีจะค้นพบว่า บรรพชนของมนุษย์รู้จักการนำเอารากของพืชจำพวกต้นอ้อ มาทำให้เป็นแป้ง แล้วผสมเข้ากับน้ำ จากนั้นก็เอาไปอบอยู่บนหินที่เผาไฟไว้จนร้อนฉ่า จนออกมาเป็นขนมปังก้อนแบนๆ เพราะไม่มีหัวเชื้ออย่าง “ยีสต์” ที่ทำให้ขนมปังฟู ทำนองที่พวกฝรั่งเรียกว่า “flatbread” มาตั้งแต่ช่วงยุคหินเก่าตอนปลาย เมื่อราว 30,000 ปีที่แล้วในยุโรป

แต่การแพร่กระจายของ “ขนมปัง” ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ อย่างมีนัยยะสำคัญ ก็ดูจะสัมพันธ์อยู่กับการใช้ยีสต์ ที่น่าจะเริ่มจากโลกตะวันออก แถบๆ ภูมิภาคตะวันออกกลาง แล้วค่อยๆ แพร่กระจายเข้าไปยุโรป และดินแดนในแอฟริกาตอนเหนือในมากกว่าอยู่ดี

แถมการแพร่กระจายที่ว่า ยังไม่ได้เป็นการแพร่ไปของขนมปังเพียงอย่างเดียว พวกมันยังไปพร้อมๆ กับเบียร์ และการทวีความซับซ้อนของสังคมวัฒนธรรมมนุษย์ ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งด้วยเลยอีกต่างหาก เพราะมันสัมพันธ์อยู่กับการเริ่มต้นทำการเกษตรกรรม และการอาศัยอยู่ติดที่เป็นครั้งแรกๆ ของมนุษยชาติ

หลังจากคนพวกนี้เริ่มอยู่ติดที่ “ขนมปัง” และ “เบียร์” ก็ดูจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในมหากาพย์กิลกาเมซ ของหมู่ชนต่างๆ ในดินแดนเมโสโปเตเมียนั้น ระบุเอาไว้ว่า การดื่มและกินขนมปังและเบียร์นั้นเป็นสิ่งที่จำแนกพวกเขาออกจากคนเถื่อนทั้งหลาย

เช่นเดียวกับที่แรงงานที่ใช้ในการสร้างพีระมิดในอียิปต์ทั้งหลายถูกจ่ายค่าจ้างเป็นขนมปังและก็เบียร์ นี่ด้วยเหมือนกัน (ถูกต้องแล้วนะครับ หลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบันพบว่า พีระมิดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาสเสียหน่อย)

ดังนั้น สิ่งที่ควบคู่กันมากับ “ขนมปัง” ในยุคที่ผู้คนเริ่มตั้งหลักปักฐานเป็นสังคมอยู่ติดที่ รู้จักการเพาะปลูก และเกษตรกรรมอื่นๆ จนซับซ้อนกลายเป็นสังคมเมือง, รัฐ หรืออาณาจักรขนาดใหญ่ได้นั้นก็คือ “เบียร์”

ซึ่งเจ้าอาหารทั้งสองสิ่งนี้มีอะไรที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่ก็คือ “ยีสต์”

 

ข้าวต้ม โจ๊ก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำจากธัญพืชผสมน้ำร้อนๆ สักชามในช่วงยุคเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรม ถ้าถูกตั้งทิ้งไว้สักสองสามวัน (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือแค่ขี้เกียจทำความสะอาดก็ตาม) ความชื้นจะเปลี่ยนแป้งในธัญพืชเหล่านั้นให้เป็นน้ำตาลมอลโตส หรือ “มอลต์” ที่มีรสชาติหวาน ซึ่งเป็นรสชาติที่หาได้ยากในยุคที่ไม่มีน้ำตาลจากแหล่งอื่น จึงน่าจะกระตุ้นให้ผู้คนผลิตมอลต์จากการทำเมล็ดธัญพืชให้ชื้น

และถ้าโจ๊กชามนั้นทำมาจากมอลต์ ช่วงเวลาในการถูกวางทิ้งไว้ก็จะทำให้ “ยีสต์ป่า” ที่ลอยอยู่ในอากาศก็จะเข้าไปทำปฏิกิริยาให้ “น้ำตาล” ในนั้นกลายรูปเป็น “แอลกอฮอล์” ที่มีรสซ่าเล็กน้อย (แต่ก่อให้เกิดอาการกรึ่มๆ ได้มากพอจะครึ้มอกครึ้มใจ) เพราะโจ๊กได้กลายเป็นเบียร์ไปนั่นเอง

ชาวเมโสโปเตเมียเรียก “ขนมปัง” ว่า “แบปเพียร์” (Bappir) หมายถึง “ขนมปังเบียร์” เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าพวกเขาเอาโจ๊กข้นๆ ไปตากแดด หรือทิ้งไว้บนหินร้อน มันก็จะแห้งและกลายเป็น “ขนมปัง” ในขณะที่โจ๊กเหลวๆ ที่ถูกหมักทิ้งเอาไว้มันก็จะกลายเป็น “เบียร์”

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า “ขนมปัง” ก็คือเบียร์ในรูปของแข็ง ส่วน “เบียร์” ก็คือขนมปังในรูปของเหลว ท้ายที่สุดแล้วสองสิ่งนี้ก็คือ “พลังงาน” และ “อาหารหลัก” ของผู้คนในยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของโลก ทั้งในเมโสโปเตเมีย และอียิปต์

 

แต่นอกเหนือจากที่ “ขนมปัง” จะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของผู้คน ในอารยธรรมยุคแรกเริ่มของโลกอย่างเมโสโปเตเมีย หรืออียิปต์แล้ว ความนิยมในการกินขนมปังก็ยังมีคงอยู่ในต้นกระแสธารของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหลาย อย่างในอารยธรรมของพวกกรีกและโรมันด้วยนะครับ

ผู้วางรากฐานและโครงสร้างกฎหมายคนสำคัญของกรุงเอเธนส์ อันเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมกรีกยุคคลาสสิค อย่าง “โซลอน” (Solon) ที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 2,638-2558 ที่แล้ว (คืออยู่ในยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า) เคยประกาศกฎหมายฉบับหนึ่งที่ระบุให้ชาวกรีกเมื่อครั้งกระโน้นสามารถอบ และนำเจ้า “ขนมปังข้าวสาลี” (wheaten bread) ออกมาเสิร์ฟได้เฉพาะในงานเทศกาลเท่านั้น

แต่อันที่จริงแล้ว โซลอนไม่ได้เป็นเผด็จการเสียขนาดที่จะบังคับให้ประชาชนทั่วไปกินเจ้าขนมปังชนิดนี้ได้เฉพาะในงานเทศกาลเสียหน่อย เพราะที่จริงแล้วเขาสร้างธรรมเนียมในมื้ออาหารเย็น ที่เสิร์ฟกันในสภาการปกครองของกรีกที่เรียกว่า “ไพรตานีอิออน” (Prytaneion) ซึ่งก็เลี้ยงกันเป็นการเฉพาะภายในสมาชิกของสภาที่ว่านี้ต่างหาก

แต่ที่โซลอนไม่ได้ห้ามก็คือ ขนมปังที่ทำมาจากข้าวบาร์เลย์ (ซึ่งก็เป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมเอามาทำขนมปังเบียร์ หรือแบปเพียร์ ในดินแดนเมโสโปเตเมีย และอียิปต์โบราณ เพราะข้าวบาร์เลย์สามารถหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ให้ฤทธิ์มึนเมาได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากกว่าธัญพืชชนิดอื่นๆ ที่รู้จักกันใน ณ ขณะจิตนั้น) ซึ่งสามารถกินได้ตลอดช่วงเวลาที่ไม่ใช่วันเทศกาลใดๆ

แน่นอนว่า ผมกำลังพูดถึงธรรมเนียมในสภาไพรตานีอิออน ที่โซลอนบัญญัติขึ้นเท่านั้น แต่ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรถ้าธรรมเนียมอย่างนี้จะถูกนำไปปฏิบัติตามในบ้านคนชั้นสูงของพวกกรีก จนไม่มีการกินขนมปังข้าวสาลีกันในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาล แต่กินแบปเพียร์กันในวันปกติทั่วไป เช่นเดียวกับในวัฒนธรรมของอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย

 

มีข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างว่า ชาวอียิปต์เป็นพวกแรกที่รู้จักนำเอายีสต์มาใช้ในการอบขนมปัง อย่างเป็นระบบระเบียบ และมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนกว่าการอบไปตามมีตามเกิดอย่างดั้งเดิม

จนทำให้ขนมปังของชาวอียิปต์นั้นนุ่มนิ่ม และชวนให้น้ำลายสอมากขึ้นกว่าเจ้าแบปเพียร์แห้งๆ แข็งๆ ที่ทำกินกันมาแต่เดิม

ชนิดและคุณภาพของขนมปังจึงเป็นสิ่งที่มีมาก่อนหน้าโลกของพวกกรีกแล้ว ซึ่งก็คงจะมีธรรมเนียมในการกินขนมปังชนิดที่พิเศษเฉพาะในช่วงเทศกาล ที่มักจะเกี่ยวข้องอยู่กับศาสนามาก่อนชาวกรีกด้วย

สิ่งที่พวกกรีกแตกต่างออกไปจากอารยธรรมดั้งเดิมที่รุ่งเรืองมาก่อนพวกเขาก็คือ พวกกรีกในยุคคลาสสิคนั้น นิยมที่จะละเลียดรสชาตินุ่มๆ ของ “ไวน์” (ซึ่งก็เกิดจากการนำยีสต์มาหมักผลไม้) มากกว่าที่จะดวด “เบียร์” กันอย่างชาวเมโสโปเตเมีย และก็พวกอียิปต์ (ที่จริงทั้งสองอารยธรรมนี้ก็รู้จักไวน์แล้ว) แต่ก็แน่นอนว่า กับแกล้มในวงของพวกเขาก็คือ ขนมปังด้วยเหมือนเดิมนี่เอง

ธรรมเนียมการดื่มไวน์ แกล้มด้วยขนมปังยังตกทอดไปถึงกรุงโรม หนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญที่สุดก็คือ ฉากปกรณัมในคริสต์ศาสนาที่ว่าด้วย อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู

หรือที่รู้จักกันในชื่อ “The Last Supper”

 

พระเยซูคริสต์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคที่จักรวรรดิโรมันกำลังเรืองอำนาจนะครับ

เห็นได้ง่ายๆ ก็จากพวกที่จับพระองค์ไปตรึงกางเขนก็คือพวกทหารโรมันนี่แหละ แต่ก่อนที่พระองค์จะทรงถูกจับไปนั้น ก็คือเวลาที่ทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย อยู่กับพระอัครสาวกทั้ง 13 คน

และก็เป็นในมื้อนี้เอง ที่พระองค์ทรงหยิบขนมปังขึ้นมา ขอพระพร แล้วให้กับทุกคนๆ พร้อมกับตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่คือกายของเรา”

จากนั้นก็ทรงหยิบแก้วไวน์ขึ้น เมื่อขอบพระคุณแล้วก็ส่งไปให้อัครสาวกทั้งหลาย พร้อมกับตรัสว่า “จงรับไปดื่มทุกคนเถิด เพราะว่านี่คือโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญา ที่หลังออกเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก”

แน่นอนว่า ยูดาส (Judas) หนึ่งในอัครสาวกที่ร่วมวงอยู่ในโต๊ะอาหารมื้อนั้นได้ทรยศพระคริสต์ นำพาเหล่าทหารโรมันมาล้อมจับพระองค์เพื่อนำไปตรึงกางเขน

และปกรณ์ตอนนี้ก็เป็นที่มาของการกินขนมปัง และจิบไวน์ในพิธีศีลมหาสนิท ซึ่งก็หมายถึงการเข้าร่วม หรือเข้าไปสนิทสนมกับพระองค์

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าวกลับมีรากเหง้ามาจาก พิธีเฉลิมฉลองเทพเจ้าไดโอนิซุส (Dionysus) ของพวกกรีก หรือที่ชาวโรมันเรียกว่า เทพแบคคลุส (Bacchus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์ และความอุดมสมบูรณ์

เทศกาลฉลองของเทพเจ้าไดโอนิซุสนั้นจะมีการดื่มไวน์กันอย่างบ้าคลั่ง (แน่นอนว่าเพราะเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์) ต่างจากศีลมหาสนิทที่จะจิบไวน์เพียงเล็กน้อย แต่อาหารที่ใช้กินแกล้มในพิธีนั้นกลับเป็น “เนื้อดิบๆ” ไม่ใช่ “ขนมปัง”

นัยว่าเป็นการสื่อถึงเทพปกรณัมตอนที่ไดโอนิซุสถูกพวกคณะเทพไทแทน (Titans) ฉีกกินร่างกายของตน ก่อนที่จะกลับมาฟื้นคืนชีพ

 

เห็นไหมครับว่า นอกจากการดื่มไวน์ในพิธีกรรมแล้ว ก็ยังมีการฟื้นคืนชีพเหมือนกันกับที่พระเยซูเองก็ทรงฟื้นคืนชีพ หลังจากทรงถูกตรึงกางเขน และการกิน “เนื้อดิบ” ซึ่งก็เรือนร่างของ “เทพไดโอนิซุส” ไม่ต่างอะไรกับที่พระเยซูทรงเปรียบเปรยว่า “ขนมปัง” ก็คือ “ร่างกาย” ของพระองค์

แล้วก็ต้องอย่าลืมด้วยว่า โซลอนได้ประกาศให้กินขนมปังข้าวสาลีได้เฉพาะในค่ำคืนของวันเทศกาล ไม่ต่างไปจากที่พระเยซูทรงแจกขนมปังในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระองค์

“ขนมปัง” กับ “ไวน์” ที่หมายถึง “ร่างกาย” และ “เลือด” ของพระเยซู ตามคติของชาวคริสต์ จึงมีรากมาจากวัฒนธรรมการกิน “ขนมปัง” กับ “เบียร์” ของมนุษย์ในยุคเริ่มแรก ซึ่งถูกผูกโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาผ่านปกรณัม ที่ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะแต่ในศาสนาคริสต์ เพราะมีมาก่อนในศาสนาของพวกกรีก-โรมันแล้ว