เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | เคว้งคว้างกลางพรรษา

พรรษา แปลว่า ฝน มาจากศัพท์วสันต์นั่นเอง โยงจากคำว่าวัสสะ เป็นพัสสะ แล้วเป็นพรรษา หากคำวสันต์นั้นขยายความไปถึงฤดูใบไม้ผลิด้วย

ตรงนี้ชวนให้คิดถึงวงจรของฤดูกาลพรรษาว่า เป็นฤดูฝน เหมาะแก่การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ดังบ้านเราที่เป็นสังคมเกษตร ทำไร่ทำนาเป็นหลัก เพราะฉะนั้น ฤดูฝนจึงสำคัญยิ่ง

ผู้รู้ท่านเล่าว่า เมื่อเริ่มฤดูหว่านไถทำไร่นา ทุกคนก็จะลงมาไถถากปักดำ ลูกหลานชาวนานี่แหละจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ พอข้าวยืนต้นแล้วก็ถึงกาลพรรษา ลูกหลานหนุ่มฉกรรจ์ผู้เป็นกำลังสำคัญในงานไร่นาได้เวลาบวชเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ทางธรรม

นึกออกนะว่าสังคมดั้งเดิมนั้น วัดนี่แหละเป็นสถาบันการศึกษาของคนไทยที่ดำรงอยู่เป็นหลัก

อีกประการคือ หน้าฝนเป็นอุปสรรคแก่การสัญจรไปมา เหมาะที่พระภิกษุจะได้สำนักยังวัดวาอาราม ดังเรียก “จำพรรษา” นั้น ปล่อยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารได้งอกงามเติบโตเต็มที่อยู่ในไร่นา ที่พระผู้บวชในพรรษานั้นเองได้ลงแรงไว้เมื่อก่อนบวช ก่อนฤดูกาลพรรษาจะมาถึง

สมฤดูวสันต์หรือวสันตฤดู คือฤดูใบไม้ผลิ

วัดจะมีชีวิตชีวาที่สุดของหมู่บ้านหรือชุมชน ด้วยเป็นเสมือนโรงเรียนประจำของลูกหลานผู้ชาย

ชาวบ้านก็จะมาทำบุญด้วยการตักบาตรเลี้ยงพระกันในวาระที่เรียกว่า “วันพระ” เป็นประจำตลอดกาลพรรษา

นอกจากเลี้ยงพระ ชาวบ้านในชุมชนนั้นเอง ยังถือเป็นโอกาสได้ล้อมวงกินข้าวปลาเป็นประจำด้วย

ก่อนสิ้นพรรษาจะมีเทศกาลสารทเดือนสิบจัดเป็นงานบุญใหญ่ ตรงนี้แหละที่ท่านผู้รู้เล่าว่า เดือนสิบเป็นวาระที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังงาม คือเพิ่งจะโต แต่ยังไม่ได้ที่ ยังไม่โตเต็มที่แต่เก็บเกี่ยวบางส่วนมาทำเป็นของกินเล่นได้แล้ว และก็กินดีนักด้วย

ดังข้าวอ่อนที่เมล็ดยังเขียว เหมาะที่จะเกี่ยวมาตำเป็น “ข้าวเม่า” รวมถึงพืชไร่ เช่น ถั่วงา ก็กำลังงามจึงเก็บเกี่ยวมากวนเป็นขนมที่เรียกว่า “กระยาสารท” นั้น

เป็นการแบ่งผลิตผลจากไร่นาปรุงเป็นอาหารพิเศษแม้ยังโตไม่เต็มที่แต่ให้รสโอชะอร่อยนัก ดังตำนานเรียก “ข้าวทิพย์” หรือ “กวนกระยาทิพย์” ถวายเทพอันเป็นพิธีสำคัญ

เทพของไทยในเทศกาลสารทเดือนสิบ คือ พระผู้เป็นลูกหลานของเราที่จำพรรษานี่เอง

เพื่อให้พระลูกชายหลานชายได้ “ฉันโอชะอันเป็นทิพยธาตุของแผ่นดิน” ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของท่านโดยแท้

เทศกาลพรรษาจึงสะท้อนวงจรของสังคมเกษตรอย่างสำคัญ เป็นวิถีวัฒนธรรมพื้นฐานสังคมไทยมาแต่โบราณ

พื้นฐานมั่นคงที่กำลังคลอนแคลนอยู่ในวันนี้

พื้นฐานสังคมเกษตรก่อให้เกิดวัฒนธรรมเคารพความเป็นบุคคล ดังเรา “นับญาติ” เรียกลุงป้าน้าอาว์โดยถืออาวุโสเป็นสำคัญ แม้จะไม่เกี่ยวข้องเป็นญาติโกโหติกากันเลย

เรื่องนี้ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือ “มองสังคมอเมริกาแล้วหันมามองไทย”

สังเขปความคือ วัฒนธรรมเป็นผลผลิตของสังคม และสังคมนั้นมีพัฒนาการจากเกษตรสู่อุตสาหกรรม กระทั่งถึงสังคมวิทยาการคือไฮเทค

สังคมเกษตรสร้างวัฒนธรรมเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรมที่ยังพึ่งแรงคนและธรรมชาติคือฟ้าฝนอยู่ ดังนั้น คนจึงนับถือศักยภาพของคนเป็นใหญ่ คนจึงยัง “นับญาติ” กันอยู่

ความเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมไทยเรานั้นซับซ้อนเหลื่อมทับสับสนและก้าวกระโดดจากเกษตรที่เรายังไม่พัฒนาด้วยตัวเองสู่สังคมอุตสาหกรรมโดยทุนต่างชาติ มาจนปรูดปราดสู่สี่จุดศูนย์และอะไรไม่รู้แล้วในวันนี้นั้น

การ “นับญาติ” จึงกลายเป็นเรื่องประหลาดที่รับไม่ได้ของคนยุคก้าวกระโดดในวันนี้

สังคมอุตสาหกรรมสะท้อนอยู่ในวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรม คือถือเครื่องจักรเป็นใหญ่กว่าคนจึงมีลักษณะ “ตัวใครตัวมัน” เปรียบเทียบได้อย่างสังคมบ้านจัดสรร ที่บ้านติดกันแต่เหินห่างกันไม่น่าเชื่อ เหมือนเครื่องจักรในโรงงานที่แยกเป็นส่วนๆ เป็นเครื่องกำหนดงานและกำหนดคน

ยิ่งไฮเทคเว่อร์อย่างวันนี้เหมือนมี “โลกในเรือน เพื่อนในมือ” ไม่ต้องคุยกันละ ก้มหน้าจิ้ม “จอแผ่น” ลูกเดียว

ชาวบ้านเรายังหลงๆ งงๆ จึงเสมือน “ไปไม่เป็น” ลุงๆ ป้าๆ เดินห้างเห็นแต่ชื่อห้าง ชื่อร้านและสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น เกลื่อนตา จะเรียกลูกเรียกหลานก็ไม่กล้า ด้วยมันเป็น “หมวยตี๋หลียุ่นแหม่ม” กันไปหมดแล้วจริงๆ

บ้านทุ่งบ้านนาวันนี้ก็ดูเหมือนจะหาไม่เจอกันแล้ว

โลกก้าวกระโดดของยุคสมัยมันลุกลามคุกคามจนเหมือนจะระเนระนาด ล้มคว่ำคะมำหงาย เอาไม่อยู่อยู่นี่ไง

เทศกาลพรรษาวันนี้ก็ดูจะเวิ้งว้างวังเวงไป ด้วยวัดไม่เป็นวัด บ้านไม่เป็นบ้าน ไร่นากลายเป็นแปลงใหม่ที่เรียกเกษตรพันธสัญญา แปลงคนเป็นลูกจ้างในไร่นาของตัวเอง หาไม่ก็เป็นของนายทุนผู้จ้างนั่นเอง

อนาถคือวัดก็ล้วนแต่จะหาจุดขายเอากับบรรดาคนสิ้นหวังทั้งหลายอันมีอยู่มากมายในสังคมก้าวกระโดดนี้ด้วย โดยถือเอาศักดิ์สิทธิ์สัมฤทธิ์เร็วดั่งเทพทันใจนั้น

โลกวันนี้กำลังวิปริตปั่นป่วนทั้งธรรมชาติดินฟ้าอากาศปรวนแปรไปทั้งสังคมและผู้คนที่จับต้นชนปลายไม่ถูกกับวัฒนธรรมที่ไม่รู้ว่ายืนอยู่บนพื้นฐานของสังคมอะไร

มันคลอนแคลนไปหมด

ไม่รู้ว่าจะปฏิรูปหรือปฏิโลม

พรรษาพิสุทธิ์

จากเกสรดอกไม้ให้น้ำหวาน

ให้ผึ้งงานคั้นเค้น เป็นขี้ผึ้ง

จากขี้ผึ้งผันเปลี่ยน เป็นเทียนกลึง

มีด้ายขึงฟั่นเส้น เป็นไส้เทียน

ถวายเทียนพรรษา บุญญานิสงส์

ให้เห็นทางเที่ยงตรงไม่แปรเปลี่ยน

คือความดับทุกข์ได้ ไม่วนเวียน

ได้บวชเรียนเพียรธรรม บำเพ็ญบุญ

ให้ข้าวกล้านาไร่ ได้ชูช่อ

เชิดชำแรกแตกกอ รุ่นต่อรุ่น

ม่วงหมากพร้าวถั่วงาคณาคุณ

เอกอุดมสมดุล แห่งแผ่นดิน

เทียนพรรษาส่องทางสว่างธรรม

ส่องลำนำแนวทางสว่างถิ่น

พิรุณธรรมหยาดธรรม มธุรริน

ทิพยธาตุปถพิน หยาดยินดี

นิมนต์ครองพรรษา ผ้าสามผืน

ถ้วนไตรมาสราบรื่น ธรรมวิถี

ขอกุศลผลบุญบารมี

พิสุทธิ์ศรีพรรษา…เถิด สาธุ!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์