พรรคที่ประกาศให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาล จะรักษาหน้าและสัจวาจาได้อย่างไร ?

หรือต้องสน “ประชาชนคิดอย่างไร”

รัฐบาลหลังการเลือกตั้งเริ่มทำงาน เหมือนกับว่า “รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ” ถอยออกไป

แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามการเมือง ไม่ต้องใกล้ชิดมาก แค่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ย่อมรับรู้ร่วมกันว่านั่นเป็นเพียงภาพที่จัดสร้างขึ้นมาเพื่ออ้างเอา “ประชาธิปไตย” มาเชื่อมโยงระบบการบริหารประเทศ

เป็นเครื่องมือที่จะใช้ตอบโต้การกล่าวหาไม่ว่าจะจากเสียงวิจารณ์ภายในประเทศและต่างประเทศ

จะต้อง “รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” เป็น “รัฐบาลของระบอบประชาธิปไตย”

แต่ก็แค่ข้ออ้าง ด้วยในความเป็นจริง ทุกคนทุกฝ่ายย่อมรู้ดีว่าเป็นอย่างไร

อำนาจจากคำสั่งคณะรัฐประหารที่ประเทศนี้ถือว่าใช้บังคับกับประชาชนได้เช่นเดียวกับกฎหมายได้รับการแปรรูปมาเป็นกฎหมายจริงๆ ที่ใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งทั้งหมดเห็นไปในทางเดียวกันคือความต้องการของคณะรัฐประหารล้วนเป็นความเหมาะสมสำหรับประเทศนี้

ตั้งแต่ “รัฐธรรมนูญ” อันถือเป็นกฎหมายสูงสุด และกฎหมายรองๆ ลงมาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและจัดการโครงสร้างอำนาจ ล้วนได้รับการยกมือแบบฝักถั่วให้เป็นไปตามสำนึกเช่นนั้น

“ประชาธิปไตย” จึงเป็นเพียงข้ออ้างของ “รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” ซึ่งไม่รู้จะอ้างไปทำไม เพราะอ้างแล้วไม่มีใครเชื่ออยู่ดี ซ้ำยิ่งอ้างยิ่งก่อความรู้สึกชวนให้ “ขำขัน”

อย่าว่าแต่คนทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ “ขำขื่น” กับข้ออ้าง แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอย่างน้อยก็รู้ว่า “การยอมรับโครงสร้างอำนาจแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของพรรค”

รูปธรรมของการรู้ถึงอันตรายต่อพรรคในระยะยาวคือ “การประกาศเข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีเงื่อนไขว่าจะเข้าไปผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ”

แต่นั่นเพียงทำให้ผู้บริหารพรรครู้สึกดีขึ้น

ด้วยเอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาประกาศนโยบายรัฐบาล เรื่องการแก้ไขในรัฐธรรมนูญไม่มีอยู่ในนั้น

แน่นอนว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในอำนาจว่าจะต้องมาจากประชาชนย่อมต้องเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อเอื้ออำนาจให้กับผู้มาจากการแต่งตั้งโดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนเป็นเรื่องจำเป็น

แต่สำหรับกลุ่มบุคคลที่ได้ประโยชน์จากกติกาที่ตัดความคิดการยึดโยงกับประชาชนออกไป ย่อมไม่ปล่อยให้วาสนาของตัวเองหลุดลอยไปกับการแก้รัฐธรรมนูญ

สภาวะที่ไปคนละทางแบบนี้ ที่สุดแล้วฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะอ้างความต้องการของประชาชนที่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งเป็นอย่างนั้นจะเห็นได้จากผลสำรวจของ “นิด้าโพล”

ในคำถามที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่”

คำตอบที่ว่า “จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน เพราะการได้มาของนายกรัฐมนตรี และ ส.ว. ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่มีความยุติธรรม ไม่แตกต่างกับการรัฐประหาร ขัดกับความต้องการของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพ เกิดความวุ่นวายขึ้นในสภา เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป อยากให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้” มีถึงร้อยละ 37.04

ที่ตอบว่าไม่จำเป็นมีแค่ร้อยละ 17.15

อันหมายถึงเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และหลักฐานยืนยันได้ว่า ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการแก้ไข เช่นเดียวกับนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค

ทว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับโอกาสจากโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมทำให้ความคิดแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องชวนขบขันสำหรับพวกเขา

ประเด็นจึงกลับมาอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองที่ประกาศให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายพรรค และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลจะรักษาหน้าและสัจวาจาของตัวเองได้อย่างไร

ย่อมเป็นเรื่องที่ชวนให้พูดไม่ออก บอกไม่ถูก

และในที่สุดทำได้อย่างเดียวคือ เงียบๆ ไป