ทำดีก็อยากให้คนเห็น ทำชั่วก็อยากจะอยู่ในที่มืด เทคโนโลยีเป็นเหมือนไฟส่องชั่วคราว

“ดูฉันสิ”

วันก่อนมีน้องที่เคยสอนที่จุฬาฯ ส่งข้อความมาคุยด้วย

หลังจากคุยสัพเพเหระ ถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว

น้องก็เริ่มเข้าเรื่อง

“เพื่อนผมมันเกรดดีมากเลยพี่”

ผมเลยถามไป

“เพื่อนสนิทหรอ”

“ป่าวพี่ เดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็รู้เกรดคนอื่นกันทั้งนั้น” น้องบอก

“อ้าว รู้ได้ไงอ่ะ” ผมถามต่อ

น้องอธิบาย “เดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็โพสต์เกรดตัวเองลงเฟซบุ๊กครับ”

ผมก็เลยกลับมานั่งนึก

จริงด้วย

แอบเห็นน้องๆ หลายๆ คนที่รู้จัก กำลังเรียนจบช่วงนี้

แชร์เกรดตัวเองให้คนอื่นๆ เห็น

ส่วนใหญ่ก็เกรดดีกันทั้งนั้น

ผมก็ไม่เคยคิดอะไร

จนน้องคนนี้มาบ่นๆ ว่า

“รู้สึกเครียด เวลาเห็นอะไรแบบนี้”

เชื่อเหลือเกินว่า หลายๆ ท่านคงจะมีเฟซบุ๊กส่วนตัวอยู่

แล้วเราโพสต์ แชร์ เรื่องราวอะไรกันบ้าง

บางทีคงเป็นเรื่องของ สิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราไม่ชอบ

สิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราเป็น

หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเชื่อ ว่าเราเชื่อ

หรือสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเชื่อว่าเราเป็น

เมื่อสมัยก่อนตอนที่ผมยังเด็ก

ยังจำได้ดีถึงความรู้สึกเวลาเกรดออก

ถ้าเราสอบได้คะแนนดี คนแรกที่นึกถึง

อยากจะ “บอก” อยากจะกด “แชร์” ที่สุด

ก็คงจะไม่พ้น “คุณแม่” ครับ

อยากให้ท่านดีใจ ภูมิใจในผลงาน

ครั้งไหนเกรดไม่ดี ก็ไม่อยากบอกครับ

ไม่อยากให้ใครรู้

แต่ว่ามันก็เป็นไปไม่ได้

คุณแม่ก็จะต้อง “ถาม” ทุกครั้งไป

โดนสั่งสอนกันไปตามระเบียบ

ส่วนเรื่องการที่เพื่อนๆ รู้เกรดของเรานั้น

ถ้าไม่สนิท หรือไม่ถามกัน ก็คงไม่อยากบอกหรอกครับ

เป็นบทสนทนาที่ “มาคุ” เล็กๆ

ถ้าเราได้เกรดดี คุยกับเพื่อน แล้วเกรดเขาไม่ดี

เขาจะว่าเรา “ขี้อวด” รึเปล่า

ถ้าเกรดไม่ดี ก็ไม่อยากจะเล่าให้ใครฟัง

เราเลือกได้ว่า อยากให้ใครรู้เรื่องราวของเรา

ทีละคน ทีละคน

แต่พอได้ยินเรื่องของน้องที่เขามาเล่าให้ฟัง

“เห็นเกรดเพื่อนๆ ดีๆ ทั้งนั้น แล้วเครียด”

ผมก็มาลองคิดดูว่า เทคโนโลยีนี้มันทำให้โลกนี้ดีขึ้น

อย่างที่เขาว่าไว้รึเปล่า

เพราะคนอายุแบบผม ก็พอจะตระหนักรู้ได้

ว่าชีวิตในเฟซบุ๊กนั้น เป็นชีวิตด้านเดียว

ด้านที่ดีมาก อยากให้คนอื่นรู้

หรือไม่ก็ด้านอื่นๆ ที่อยากให้คนใคร่รู้ สงสัย ปลอบประโลม

ลองมาดูในเฟซบุ๊กของตัวผมเองว่าโพสต์อะไรไปบ้าง ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก็พบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่อง “วิ่ง” ครับ

ช่วงนี้วิ่งเยอะเลย อยากจะไปมาราธอน

ตอนนี้วิ่งได้ 25 กิโลมากสุด

ก็ประกาศตัวไว้กับเพื่อนว่า จะวิ่งให้ถึง 42 กิโลให้ได้

กลายเป็นว่า บอกคนอื่นไปแล้ว ก็ต้องทำให้ได้

เหมือนรายงานผลความก้าวหน้าให้เพื่อนๆ ได้เห็นกัน

ส่วนตัวยอมรับว่า การแชร์สิ่งเหล่านี้

ทำให้ “การวิ่ง” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นคน “พูดไปเรื่อย”

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

ตอนนี้การมีไลน์กลุ่มนักวิ่ง ที่ทุกคนโพสต์ว่า วันนี้ไปวิ่งไหนมาบ้าง

วิ่งได้ตามตารางที่ซ้อมไว้แค่ไหน

มันก็เป็น “แรงกดดัน” ให้เราก้าวข้ามความขี้เกียจ

ที่สำคัญคือ “อยากให้คนอื่นเชื่อว่าเราเอาจริง”

พฤติกรรมเหล่านี้ ในทางวิทยาศาสตร์มีอยู่จริง

เขาเรียกว่า “ความลำเอียงจากการผูกมัด (commitment bias)”

เราผูกมัดตัวเองกับคนอื่นไปว่า เราจะเป็นคนที่ดีขึ้น

งานวิจัยมากมายที่บอกไว้ว่า

คนที่ตั้งเป้าอะไรสักอย่าง แล้วบอกคนอื่นๆ ด้วย

มีความเป็นไปได้ที่จะทำสำเร็จมากกว่าตั้งเป้าแล้วเก็บไว้คนเดียว

ใช่ครับ คนเราอยากจะให้คนอื่นเห็นด้านที่ดีของเรา

ด้านที่ขยัน ด้านที่พยายาม ด้านที่ชนะตัวเอง

ถ้าการที่เราใช้เทคโนโลยีอย่างเฟซบุ๊กมาทำให้ตัวเราเองดีขึ้นได้

และสามารถจะแชร์ดอกผลของความพยายามได้

คล้ายๆ น้องๆ ที่แชร์เกรดของตัวเองลงในหน้าจอ

ประกาศให้โลกรู้ว่า ฉันเก่ง ฉันพยายาม

แม้หลายครั้งอาจจะดูน่าหมั่นไส้ในสายตาใครบางคน

อาจจะทำให้บางคนเห็นแล้วท้อแท้ ทำไมไอ้นี่เก่งจัง

ก็คงจะขึ้นกับแต่ละคน ที่มีสิทธิ์จะมองสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ท้ายสุด มนุษย์ก็ยังคงเป็นสัตว์สังคม

ทำดี ก็อยากให้คนเห็น

ทำชั่ว ก็อยากจะอยู่ในที่มืด

เทคโนโลยีแค่ช่วยเป็นเหมือนไฟส่องชั่วคราว สำหรับความดี ความเจ๋ง

ให้ปรากฏสู่สายตาผู้อื่น แค่นั้น

แต่มุมมืดๆ ที่คนไม่เห็นก็ยังมีอีกมากมาย

เริ่มจากรู้จักตัวเอง และใช้เทคโนโลยีให้เหมาะ เพื่อพัฒนาตน

คงค้นพบตัวเองในรูปแบบที่ดีขึ้นได้ไม่ยาก