ธงทอง จันทรางศุ | คนในวัด

ธงทอง จันทรางศุ

คนในวัด

เมื่อมติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้อยู่ในมือท่านผู้อ่าน เราเพิ่งผ่านวันเข้าพรรษามาได้เพียงไม่กี่วัน

เราผู้เป็นคนไทยทั้งหลายย่อมทราบดีแล้วว่า เรื่องเข้าพรรษามีประวัติความเป็นมาอย่างไร

กำหนดเวลาสามเดือนของการเข้าพรรษาก็จะไปสิ้นสุดลงพร้อมกันกับการจบสิ้นของฤดูฝน

และจากนั้นไปก็จะเป็นการเริ่มต้นงานบุญทอดกฐินซึ่งมีกำหนดยาวหนึ่งเดือน

และไปสิ้นสุดถึงวันสุดท้ายในวันลอยกระทง

แต่ดั้งเดิมมา กุลบุตรชาวไทยย่อมถือเป็นประเพณีที่จะบวชเรียนให้ได้อย่างน้อยพรรษาหนึ่ง จากนั้นจึงค่อยไปมีเหย้าเรือนหรือประกอบอาชีพการงานเป็นหลักฐานต่อไป

ระยะเวลาสามเดือนของการเข้าพรรษาตามวัดวาอารามต่างๆ จึงมีพระบวชใหม่หรือที่เรียกว่าพระนวกะ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม

นอกเหนือจากพระภิกษุที่บวชอยู่ประจำอารามนั้น ช่วงเวลาสามเดือนนี้พระใหม่จะได้รู้จักคุ้นเคยกับพระพุทธศาสนา ได้มุมมองใหม่ในฐานะที่เป็นคนใน ไม่ใช่คนนอกวัดมองเข้ามาในวัด

และถ้าไม่ยากเกินกำลัง วัดวาอารามต่างๆ ก็จะจัดให้มีหลักสูตรการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา

เช่น หลักสูตรนักธรรมตรี สำหรับพระใหม่ได้ศึกษาเล่าเรียน เป็นการใช้เวลาสามเดือนนี้ให้คุ้มค่า

ถ้ากล่าวให้หรูหราเข้าไปอีกหน่อย ผมก็อยากจะบอกว่าการบวชเป็นพระสามเดือนอย่างนี้นี่เอง คือหลักสูตรที่ชายชาวไทยสมัยก่อนแทบทุกคนต้องผ่านการศึกษาอบรมก่อนจะออกไปใช้ชีวิตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

เรียกว่าเป็นหลักสูตรมาตรฐานของประเทศเลยทีเดียว ดีกว่าหลักสูตรของหน่วยราชการทั้งปวงเป็นไหนๆ

ด้วยเหตุอย่างนี้ คนไทยจึงอยู่ใกล้วัด คุ้นเคยกับศีลธรรมของพระพุทธศาสนา เมื่อเดินเข้าวัดไปหาหลวงพ่อหลวงพี่ก็พูดจาภาษาวัดได้ถูกต้อง มีลูกหลานก็พาเข้าวัดตั้งแต่เด็ก มีสุขมีทุกข์อย่างไรก็มีวัดเป็นที่พึ่ง

ถ้าเก่าขึ้นไปกว่านั้น วัดยังเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาความรู้ต่างๆ เป็นโรงพยาบาล เป็นศาลาประชาคม และเป็นอื่นๆ อีกสารพัด

แต่มาถึงทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และเมืองไทยก็พลอยเปลี่ยนแปลงตามโลกไปด้วย

ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ เริ่มตั้งแต่การบวชสามเดือนเมื่ออายุครบบวชคือเมื่ออายุ 20 ปีตามธรรมเนียมเดิม ผู้ชายชาวไทยสมัยนี้ถ้าเป็นคนเอาถ่านสักหน่อย อายุ 20 ปีก็ยังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ การลาบวชสามเดือนเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะทำให้เรียนจบช้าไปถึงหนึ่งปีเต็ม เป็นอันตกรุ่นตกชั้นไม่ทันเพื่อนฝูง

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เรียนหนังสือแล้ว อายุ 20 ปีนี้ก็อยู่ในวัยทำงาน ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วนายจ้างที่ไหนเล่าเขาจะยอมให้ลูกจ้างลาบวชสามเดือน การงานของบริษัทห้างร้านก็จะปรวนแปรไปเสียทั้งหมด

มีเฉพาะก็แต่ระบบราชการนี่แหละครับที่ยอมให้คนลาบวชสามเดือนได้ แต่ก็ต้องถือเป็นนายจ้างส่วนน้อยอย่างแท้จริง

เอาเข้าจริงแล้ว ผมจึงพบว่าผู้ที่มีศรัทธาจะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนายุคสมัยนี้ หาเวลาไปบวชพระได้ 15 วันก็ต้องถือว่าเก่งมากแล้ว

วัดวาอารามทั้งหลายก็รู้ความจริงข้อนี้ และเอื้อเฟื้อให้เกิดความสะดวกเท่าที่จะเป็นไปได้

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับว่า ถ้าทางวัดไม่จัดระบบอะไรเสียบ้าง ใครมาขอบวชวันไหนก็ยอมตามใจปรารถนาทุกราย พระอุปัชฌาย์ก็แทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น เพราะมีเรื่องต้องลงโบสถ์ไปบวชพระใหม่ทุกวัน วันนี้บวช วันโน้นสึก

จะอบรมสั่งสอนหรือพูดจาอะไรกันก็วุ่นวายเต็มที

ผมได้พบว่าหลายวัดวางระบบว่า ในเดือนหนึ่งจะมีการอุปสมบทสองครั้ง ตั้งกติกาไว้ในเบื้องต้นว่า เวลาบวชเป็นพระใหม่แล้วต้องมีกำหนดเวลาอย่างน้อย 15 วันก่อนลาสิกขา พอจะได้อบรมสั่งสอนหรือทำความคุ้นเคยกันได้บ้าง

เมื่อบวชพร้อมกันเสียแล้ว การกำหนดกิจกรรมสำหรับพระใหม่ที่บวชพร้อมกันก็ทำได้ง่าย เป็นประโยชน์ทั้งข้างฝ่ายวัดและฝ่ายบ้านผู้มาขอบวช

นี่ว่ากันข้างฝ่ายบวชชั่วคราว 7 วัน 15 วันนะครับ ชนิดที่บวชสามเดือนให้ได้พรรษานั้นมีจำนวนน้อยลงเต็มทีแล้ว

สำหรับพรรษาคราวนี้ ถ้าไม่ใช่วัดใหญ่โตหรือมีชื่อเสียงจริงๆ มีเพียงรูปสองรูปก็ถือว่าเก่งมากแล้ว

อย่าไปพูดถึงใครอื่นเลย ลำพังตัวผมเองเมื่อตอนอายุ 20 ปีที่โบราณเรียกว่าอายุครบบวช ก็เรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย เทศกาลเข้าพรรษานั้นตรงกับภาคเรียนต้นของมหาวิทยาลัยพอดี ความคิดจะบวชเรียนจึงไม่เกิดขึ้นเลยในเวลานั้น

จบจากเมืองไทยไปเรียนหนังสือเมืองนอกแล้วกลับมาสอนหนังสืออยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เพลิดเพลินกับหน้าที่การงาน

จนอายุใกล้จะ 40 ปีแล้ว จึงมีสติคิดขึ้นว่า น่าจะหาโอกาสบวชเรียนให้ได้สักพรรษาหนึ่ง จะได้เป็นบุญกุศลแก่ตัวเอง พ่อแม่จะได้ชื่นใจ

และนอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสที่ทำให้ตัวเองได้คุ้นเคยกับพระพุทธศาสนาและวัดวาอารามมากขึ้น

ความคุ้นเคยนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อไปในวันข้างหน้า

คําว่าประโยชน์ในที่นี้ ไม่ได้คิดเรื่องเซ็งลี้ฮ้ออะไรนะครับ ผมคิดไปถึงความรู้ทางวิชาการ ที่จะได้รู้จักวัดและสังคมไทยมากขึ้น อะไรทำนองนั้น

เพราะตัดสินใจเช่นว่าแล้วก็ต้องวางแผนล่วงหน้า

วางล่วงหน้าไปหนึ่งปีเลยล่ะครับ เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าเทศกาลเข้าพรรษา ตรงกันกับภาคเรียนที่หนึ่งของมหาวิทยาลัย

วิชาที่ผมสอนประจำอยู่ก็ต้องย้ายไปสอนภาคเรียนที่สอง ไปวิ่งเต้นขอร้องให้อาจารย์ที่สอนวิชาใดวิชาหนึ่งในภาคเรียนที่สองย้ายมาสอนภาคเรียนแรกแทน

มีการประกาศให้นิสิตทราบล่วงหน้าหนึ่งปี เพื่อนิสิตจะได้วางแผนการเรียนได้ถูกต้อง

วุ่นไปทั้งคณะ แหะ แหะ

ผมบวชเป็นพระได้เต็มพรรษาเมื่อกลางปีพุทธศักราช 2538 โดยได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็นพระภิกษุนาคหลวง และมาจำพรรษาอยู่ที่วัดโสมนัสวิหาร ซึ่งตัวเองมีความคุ้นเคยมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก

ระยะเวลาสามเดือนเต็มที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ได้ให้ความรู้และประสบการณ์ที่แสนวิเศษ ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ที่ผมไม่เคยนึกคิดมาก่อน

ผมได้รับความเมตตาและความคุ้นเคยจากพระภิกษุทั้งหลายในพระอารามในฐานะที่เป็นคนในคนหนึ่ง ไม่ใช่คนนอกอย่างแต่ก่อน

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดสักเรื่องหนึ่งครับ ที่ดินรอบวัดโสมนัสวิหารนั้นเป็นที่ธรณีสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับดูแลจัดผลประโยชน์และนำมาใช้บำรุงพระอาราม

พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนท่านทรงมองการณ์ไกลครับ พระอารามใหญ่โตขนาดนี้ ลำพังกำลังญาติโยมถวายบิณฑบาตเห็นจะไม่พอซ่อมวัดเป็นแน่

วัดจึงมีหน้าที่จัดการผลประโยชน์ในที่ดินพระราชทานให้เป็นไปตามพระบรมราชูทิศ

เมื่อเข้าไปอยู่ในวัดมีฐานะเป็นคนในแล้วผมได้พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับผู้คนที่อยู่รายรอบไม่ใช่ความสัมพันธ์ทางกฎหมายในฐานะผู้ให้เช่าและผู้เช่ามิติเดียว อัตราค่าเช่าจึงไม่ใช่ค่าเช่าเชิงพาณิชย์ หากแต่มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันมากกว่านั้น

และเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ในฐานะเป็น “โยม” ของวัดด้วย

เพราะคนเหล่านี้เองคือคนที่ใส่บาตรตอนเช้า เมื่อพระจากวัดโสมนัสฯ เดินออกไปบิณฑบาต

ผมไม่ต้องเดินไปไหนไกล เพียงไม่กี่นาทีของขบฉันก็เต็มบาตรแล้ว

กิจการของวัดอย่างใดที่ต้องการความช่วยเหลือจากฆราวาส ฆราวาสที่เห็นหน้าบ่อยก็คือคนเหล่านี้อีกเช่นเดียวกัน

เวลามีฟังเทศน์ฟังธรรม มีเวียนเทียน ก็ได้พบหน้ากันอยู่เสมอ

ความรู้และประสบการณ์อย่างนี้ผมไม่เคยมองเห็นมาก่อน ถ้าไม่ได้เป็นพระก็มองไม่เห็นหรอกครับ

ดังนั้น ว่ากันโดยรวมแล้ว การที่ลูกหลานหรือคนในครอบครัวของเราได้ไปบวชเป็นพระ จะบวชเต็มพรรษาก็ดี จะบวชระยะสั้นเพียงแค่เจ็ดวัน สิบห้าวันก็ดี ผมเห็นว่า “ดี” ทั้งนั้น

ขึ้นต้นตั้งแต่การอยู่ในศีล 227 ข้อ เพียงนี้ก็ดีวิเศษแล้ว การได้เป็นเนื้อนาบุญ เป็นความชื่นใจของผู้คนที่อยู่รายรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ ข้อนี้ก็ยิ่งดีขึ้นไปใหญ่ และความดีนี้จะต่อเนื่องไปจนถึงเวลาที่เราสึกหาลาเพศไปแล้ว ความรู้ในศีลในธรรมที่ติดตัวไปจะเป็นเครื่องคุ้มครองชีวิตของเราไปตลอดจนแก่จนเฒ่า

ขออนุโมทนาบุญกับพระนวกะทุกรูปในพรรษานี้ขอรับ

ขอให้ท่านได้เจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไปเถิด