นิธิ เอียวศรีวงศ์ | สังคมม็อบ (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นับจนถึงปีนี้ คนไทยต่างมีชีวิตอยู่ท่ามกลางม็อบทางการเมืองมาเกือบ 14 ปีแล้ว ถ้าถือว่าชั่วอายุคนหนึ่งคือ 30 ปี ก็หมายความว่าเราอยู่กับม็อบมาเกือบครึ่งชั่วอายุคน

จริงอยู่ ม็อบในความหมายถึงฝูงชนที่ชุมนุมกันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลาใน 14 ปีนี้ แต่ผมคิดว่า “วัฒนธรรมม็อบ” ดำรงอยู่มาอย่างสืบเนื่องไม่ขาดสาย ถึงไม่มีฝูงชนก็มีระบบความสัมพันธ์แบบม็อบเป็นกระแสหลัก ที่กำหนดการเมือง การดำเนินชีวิต และวิธีมองโลกของคนไทยอยู่ตลอดเวลา

ผมอยากจะชวนคุยเรื่องนี้แหละครับ คือเรื่องวัฒนธรรมม็อบ และการดำรงอยู่ของมันในด้านต่างๆ ของชีวิตคนไทย โดยขอดูจากเรื่องของวัฒนธรรมทางการเมืองของม็อบ

คําว่าวัฒนธรรมทางการเมืองในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำม็อบทำอย่างไรจึงได้และรักษาอำนาจของตนในม็อบไว้ หรือแย่งอำนาจกันอย่างไร แต่หมายถึงความรู้สึกนึกคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในม็อบ ที่สนับสนุนให้อำนาจในม็อบเป็นไปในลักษณะนั้นๆ

ขึ้นชื่อว่าม็อบ จะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็ด้วยอารมณ์ ดังนั้น อารมณ์จึงมีความสำคัญสุดยอดที่ม็อบต้องรักษาเอาไว้ให้คอยกำกับการเคลื่อนไหวของม็อบอยู่เสมอ ไม่ใช่เฉพาะผู้นำม็อบนะครับ แต่รวมถึงสมาชิกในม็อบเองด้วยที่จะคอยเสริมพลังของอารมณ์ให้แก่กันและกันด้วยวิธีต่างๆ

คำว่าอารมณ์ในที่นี้ ผมหมายถึงความรู้สึกที่มักจะรุนแรงโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เช่น ความรัก ความเกลียด ความกลัว ความกล้าบ้าบิ่น ความรู้สึกประเภทนี้จะถูกปลุกให้รุนแรงขึ้นจนเป็นอารมณ์ ซึ่งก็ง่ายอยู่แล้ว เพราะในชีวิตปกติก็อาจกลายเป็นอารมณ์ได้ด้วยสิ่งเร้าเพียงนิดเดียว

(เช่นน้องคนสวยคนนั้น เมื่อได้พูดด้วยแล้วก็เกิดอารมณ์รัก ซึ่งมักจะมาคู่กับอารมณ์เกลียดไอ้หมอที่มันดูจะสนิทกับน้องอย่างมากด้วย เพราะอารมณ์รักนั้นมักเปิดประตูให้อารมณ์เกลียดด้วย เช่น มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรูของวัตถุแห่งความรักได้ง่าย… “ไม่รักพ่อ” เป็นต้น)

นอกจากอารมณ์ที่มาจากความรู้สึกรุนแรงเช่นนี้แล้วก็ยังอาจรวมถึงอารมณ์ร่วม หรือความรู้สึกร่วม ซึ่งสะสมมานานก่อนจะเกิดม็อบ การสื่อสารระหว่างกันและสื่อสารสาธารณะช่วยก่อรูปของอารมณ์ให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สร้างมิตรและศัตรูร่วมกัน หรือมองเห็นเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน

แต่ต้องเตือนด้วยว่า เป้าหมายที่มองเห็นร่วมกันนั้นเป็น “อารมณ์” อย่างหนึ่ง จึงมักเห็นได้ชัด แต่ไม่สู้กระจ่างเท่าไรนัก ในม็อบสีเหลือง เป้าหมายคือเอาไอ้หน้าเหลี่ยมออกไป แต่จะเอาออกไปอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่สู้กระจ่างนัก แม้ว่าแกนนำบางกลุ่มอาจรู้อยู่แล้วว่าจะลงเอยที่การรัฐประหาร เช่นเดียวกับในม็อบสีแดง เป้าหมายที่ร่วมกันคือเอาทักษิณคืนมา แต่ก็ไม่กระจ่างว่าจะเอาคืนมาอย่างไร ภายหลังคำพิพากษาและภายหลังที่ชนชั้นนำหลากหลายกลุ่มได้ “เปิดหน้าเล่น” ถึงเพียงนั้นแล้ว

ยังมีการเร้าอารมณ์อีกสองอย่าง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในวัฒนธรรมม็อบ หนึ่งคือการสร้างบุคลาธิษฐานของอารมณ์ และสองคือการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น

การทำให้อารมณ์มีตัวตนรับรู้ได้ และกลายเป็นวัตถุแห่งอารมณ์ที่ทุกคนมีร่วมกันได้ คือการกระทำที่ผมเรียกว่าสร้างบุคลาธิษฐาน การพูดถึงระบบที่ตนเห็นว่าฉ้อฉลและเอารัดเอาเปรียบว่า “อำมาตย์” ทำให้เห็นศัตรูเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นบุคคลได้เลย พูดอีกอย่างหนึ่งคือเอาตัวบุคคลมาเป็นตัวแทนของระบบ เช่นเดียวกับ “ไอ้หน้าเหลี่ยม” หรือ “อีเตี้ย” (ในสมัย 14 ต.ค.) ต่างล้วนเป็นตัวแทนที่ชัดเจน จับต้องได้ของระบบที่ฉ้อฉลและเอารัดเอาเปรียบได้ทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้คือการสร้างบุคลาธิษฐานให้แก่อารมณ์เกลียด

บุคลาธิษฐานของอารมณ์รักก็มีในทำนองเดียวกัน เช่น “ในหลวง”, ทักษิณ, ประชาธิปไตย, (ซึ่งหมายถึงอะไรที่ตรงกันข้ามกับระบบที่ถูกเรียกว่า “อำมาตย์” ไม่ใช่ democracy อย่างที่เข้าใจกันเวลาพูดถึงนอกมณฑลแห่งอำนาจของอารมณ์)

บุคลาธิษฐานของความกลัวอาจต่างออกไป เพราะไม่ได้ใช้บุคคลเป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัวโดยตรง หากใช้ปรากฏการณ์ที่อาจคุกคามความปลอดภัยของผู้ชุมนุมในม็อบเป็นตัวแทน เช่น การคอร์รัปชั่นขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งจำนำข้าว ทั้งรถไฟความเร็วสูง จนถึงขั้นที่คนไทยและลูกหลานจะโงหัวไม่ขึ้นไปอีก 50 หรือ 90 ปี หรืออีกด้านหนึ่งคือการฉ้อฉลระเบียบการปกครองทั้งกฎหมายและระบอบปกครอง เสียจนไม่มีหลักประกันอะไรให้แก่สิทธิเสรีภาพของ “ไพร่” อีกเลย

ส่วนเรื่องความเป็นปึกแผ่นนั้น นอกจากสีเสื้อ, สำนวนภาษาที่ใช้เฉพาะม็อบ, เพลงปลุกใจ และบุคลาธิษฐานของอารมณ์ที่สร้างขึ้นแล้ว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในม็อบยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสำนึกความเป็นปึกแผ่น ซึ่งเป็นพลังสำคัญของม็อบอีกด้วย

ผมขอยกตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวคือเรื่องกิน เพราะคนจะมาชุมนุมอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานๆ โดยขาดเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เนื่องจากผมไม่เคยไปคลุกคลีกับม็อบสีใดทั้งสิ้น จึงต้องอาศัยข้อมูลสองทาง ได้แก่ รายงานของผู้สื่อข่าว และรายงานของนักวิชาการซึ่งเข้าไปศึกษามิติด้านต่างๆ ของม็อบการเมืองไทย ซึ่งบัดนี้ก็ทยอยกันพิมพ์ออกมาหลายเรื่องแล้ว

ม็อบเสื้อแดงมักมีโรงครัวของตนเองจากแต่ละจังหวัด วัสดุประกอบอาหารมาจากการบริจาคของผู้ชุมนุมในจังหวัดนั้นๆ ผสมปนเปกับส่วนที่มาจากการอุดหนุนของนักการเมืองระดับต่างๆ ในจังหวัด ส่วนใหญ่มักเป็นโรงครัวเปิด คือคนอื่นในม็อบก็อาจมาขอกินด้วยได้

ตรงกันข้ามกับม็อบเสื้อเหลืองซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ประจำ เรื่องอาหารจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แม้กระนั้นก็มีโรงครัวสำหรับผู้อยู่ประจำซึ่งจัดการโดยสำนักสันติอโศก ดังนั้น จึงเป็นอาหารแบบสันติอโศก ซึ่งผู้ร่วมม็อบส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยนัก แม้กระนั้นก็มีผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ที่ทำหรือสั่งซื้ออาหารอย่างดีจากร้านอาหารเข้ามาแจกจ่าย ซึ่งมีตั้งแต่ข้าวกล่องไปถึงอาหารราคาแพง (เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่า เขาแวะเข้าไปในม็อบเสื้อเหลืองเสมอ เพื่อหาอาหารดีๆ กิน)

ดังนั้น อาหารของม็อบทั้งสองฝ่ายจึงมาจากการ “อุปถัมภ์” เหมือนกัน แต่อาจมากน้อยต่างกัน เพียงแต่ว่าฝ่ายแดงเสนออาหารโดยไม่ระบุผู้อุปถัมภ์ (ซ้ำผู้อุปถัมภ์เองก็อาจไม่ประสงค์ออกนามด้วย) ซ้ำยังจัดการประหนึ่งเป็นของ “ส่วนรวม” ที่มีไว้สำหรับทุกคน คุณภาพและราคาวัสดุของแต่ละครัวไม่สู้จะแตกต่างกันนัก เพราะหากผู้ชุมนุมอยากกินอะไรพิเศษก็มีซุ้มหรือรถเข็นอาหารที่ต้องควักกระเป๋าซื้อเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารราคาไม่สูงนักเช่นกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบอุปถัมภ์ (ไม่ว่าจะมีอยู่มากน้อยเพียงไร) ถูกละลายหายไปกับสภาพความเท่าเทียม ซึ่งดูเหมือนผู้จัดการม็อบต้องการเน้นย้ำ ใครเข้าไปร่วมในม็อบ ไม่ว่าเคยหรือไม่เคยเป็นเสื้อแดงมาก่อน ก็อดรู้สึกเป็น “ปึกแผ่น” ร่วมกับม็อบไม่ได้ (เช่นหลายครั้งที่เราจะเห็นรายงานข่าวที่ค่อนข้างเอียงเข้าข้าง และรายงานของนักวิชาการบางคนซึ่งยอมรับความรู้สึกเอียงข้างเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมาเลย หลังจากได้คลุกคลีอยู่ระยะหนึ่ง)

แต่ไม่ว่าจะอุปถัมภ์หรือไม่อุปถัมภ์ ก็เกิดสำนึกปึกแผ่นในม็อบทั้งสองเหมือนกัน เพราะสำนึกปึกแผ่นนั้นเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งในสองปัจจัย หนึ่งคือรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น โดยยังรักษาความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นไว้เหมือนเดิม เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นนั้นให้มีความเอื้อเฟื้อแก่กันและกันตามอุดมคติ ผู้เช่านาอาจจงรักภักดีต่อเจ้าที่ดินอย่างยิ่งก็ได้ หากเจ้าที่ดินโอบอ้อมอารี ผ่อนปรนลดหย่อนค่าเช่าให้ตามผลผลิตที่เป็นจริง อีกทั้งช่วยเหลือเจือจุนในยามขาดแคลน

งานศึกษาการรวมกลุ่มของลูกเสือชาวบ้านในสมัยเมื่อ 40 ปีก่อนก็ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นในลักษณะนี้ และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าขบวนการลูกเสือชาวบ้านในช่วงหนึ่ง มีสำนึกปึกแผ่นอย่างสูง ผมเห็นว่าสำนึกปึกแผ่นในม็อบเสื้อเหลืองมีลักษณะช่วงชั้นอย่างเดียวกันกับลูกเสือชาวบ้าน

ในทางตรงกันข้าม สำนึกปึกแผ่นที่เกิดจากอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจาก “อารมณ์” ของคนที่รู้สึกว่าตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน (เสื้อแดงรู้สึกตนว่าถูกรังแกเหมือนกัน) และเข้ามาร่วมมือกันต่อสู้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม เพราะความสัมพันธ์แบบต้องพึ่งพา แบบที่มีฝ่ายสูงฝ่ายต่ำถูกทำให้เลือนหายไป ไม่ว่าจะมีอยู่ในความจริงหรือไม่

ดังนั้น ผมจึงคิดเสมอว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นที่จะพูดว่า ในม็อบเสื้อเหลืองก็มีคนจน และในม็อบเสื้อแดงก็มีคนรวย คุณสมบัติสองอย่างนี้ถูกทำให้ประหนึ่งไม่แตกต่างในม็อบเสื้อแดง แต่ยังปล่อยให้แตกต่างในม็อบเสื้อเหลือง (ในรายงานบางชิ้นกล่าวว่า มีที่นั่งสำหรับคนดัง และมีประกาศบนเวทีด้วยหากมีคนดังใดเข้าร่วม) นี่คือประเด็นสำคัญกว่า

ที่มาของสำนึกปึกแผ่นที่แตกต่างนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเมืองของม็อบทั้งสองฝ่ายด้วย ในขณะที่เสื้อเหลืองอ้างว่าวิกฤตทางการเมืองครั้งนั้นแก้ได้ด้วย ม.7 คืออาศัยพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ ทั้งนี้ คือทางออกของวิกฤตในกรอบของสังคมช่วงชั้น (อันเป็นสิ่งที่ กปปส.รับมาขยายต่ออย่างอุจาดใน 6-7 ปีต่อมา)

ในขณะที่ม็อบเสื้อแดงอ้างว่าต้องการปกป้องประชาธิปไตยไทย

วัฒนธรรมม็อบที่ครอบงำการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน เปลี่ยนโลกทัศน์ทางการเมืองของคนไทยอย่างไพศาลกว่าการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของฝูงชน ดังนั้น แม้แต่การทำรัฐประหารถึงสองครั้ง ก็ไม่อาจเปลี่ยน “มุมมอง” ทางการเมืองของคนไทยจำนวนมากไปได้

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คงประกอบด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ซึ่งผมคงไม่สามารถอธิบายได้หมด แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเงื่อนไขทางการเมือง ที่ช่วยประคับประคองให้ “มุมมอง” เช่นนี้ยังมีความหมาย (แปลว่ายังสามารถใช้เพื่อทำความเข้าใจกับอุบัติการณ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าที่เข้าใจนั้นจะถูกหรือผิด) ประเด็นนี้ผมขอค้างเอาไว้เพื่อพูดถึงในตอนต่อไป

(ยังมีต่อ)