สมหมาย ปาริจฉัตต์ : มุมมองจากครูของครู ร.ร.พัฒนาต่อเนื่องต้องทำอะไร (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปิดท้ายตอนที่แล้ว ดร.กาญจน์วรินทร์ ผลอนันต์ ผู้อำนวยการนานาชาติ เซนต์แอนดรูว์ส

สะท้อนมุมมองในหัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่การเรียนรู้ของผู้เรียน” ยังไม่จบ

ผมขอยกมาต่ออาทิตย์นี้

 

เธอเล่าว่า การบริหารโรงเรียนนานาชาติ ทีมผู้บริหารจะมีการประชุมทุกอาทิตย์ ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการโดยเข้าไปสังเกตการเรียนการสอนเพื่อให้คำแนะนำ ประเมินสมรรถนะของครูผู้สอน โดยมีกรอบซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะเข้ามาสังเกตอะไร ผู้บริหารจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ของนักเรียน โดยดูที่วัตถุประสงค์ที่นักเรียนจะต้องเรียนรู้อะไร บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มีการวางแผนการสอนก่อนเข้าสอนหรือไม่ และหากไม่ได้เข้าสังเกตการณ์จะมีการประชุมครูผู้สอน

อีกส่วนที่ให้ความสำคัญคือ นักเรียนที่มีความหลากหลาย ครูจะสอนอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจภายใต้ความหลากหลาย เสริมเด็กเก่ง ช่วยเหลือเด็กอ่อน นักเรียนได้ประเมินตนเองและเพื่อน หลังเรียนคุณครูจะสะท้อนผลการเรียนรู้ต่อเด็กในลักษณะกระตุ้นการเรียนรู้ของนักเรียน ผลของการประเมินจะมีส่วนช่วยในการออกแบบการสอนของคุณครูครั้งต่อไป

การให้ความสำคัญต่อคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน กระตุ้นให้คิด/ทำ มี connection สามารถทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียนได้ มี Global Mindset มีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ

ค่านิยมที่ปลูกฝังคือ นักเรียนต้องรู้จักควบคุมตนเอง มีความมั่นใจ ยืดหยุ่นเมื่อเจอปัญหา ซึ่งจะสอดแทรกตามกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น

“หัวใจการพัฒนาไปสู่โรงเรียนที่มีคุณภาพ คือ การมีส่วนร่วม คิดสร้างสรรค์ ผู้ปกครองมีส่วนร่วม มีการสื่อสารที่หลากหลาย ประชุมกับผู้บริหารในการวางแผนแก้ไขปัญหา”

“การรับรองคุณภาพของโรงเรียนนานาชาติ ต้องได้รับการรับรองจากองค์กรต่างประเทศ Education Development Trust ที่รัฐบาลอังกฤษให้ตรวจสอบโรงเรียนนอกราชอาณาจักรโดยใช้ 8 มาตรฐาน คือ พัฒนาการด้านต่างๆ ของนักเรียน ครู หลักสูตร สื่อ การอำนวยความสะดวก การจัดการระบบช่วยเหลือนักเรียน ความร่วมมือกับผู้ปกครอง และการบริหารจัดการ”

ผลการประเมินจากบุคคลภายนอก นักเรียนที่หลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความกระตือรือร้นสูง การวางแผนของคุณครูมีการลงรายละเอียด มีความรู้ในสิ่งที่จะสอน ช่วยเหลือนักเรียนในการเรียนรู้ คุณภาพของการเรียนการสอนอยู่ในระดับแถวหน้า คุณครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดี ทัศนคติของเด็กเชิงบวก นักเรียนพยายามตอบคำถามตลอดเวลาของการเรียน ทีมเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เข้มแข็ง

“การเรียนของโรงเรียนนานาชาติที่สร้างสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็ก ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียน สะท้อนพันธกิจของโรงเรียนคือ เด็กมีความสุข ทำอย่างไรให้เด็กมาโรงเรียน ครูคือส่วนสำคัญต้องทำงานเป็นทีมเพื่อแลกเปลี่ยน วางแผนการสอนเป็นกระบวนการ PLC อย่างชัดเจน”

“หัวใจของ PLC เป็นการตั้งคำถามอย่างมีโครงสร้าง เด็กเรียนรู้อะไร ครูสอนอย่างไร เด็กไม่รู้จะทำอย่างไร เด็กที่เก่งอยู่แล้วจะทำอย่างไร คุณครูจึงต้องพัฒนาตนเอง โรงเรียนมีการพัฒนาครูโดยจะจัด 3 วันและเชิญวิทยากรเข้ามาสอน ฝากให้ผู้บริหารมองแผนเรื่องการพัฒนาครู นำ PLC มาสอดแทรกในการพัฒนาโรงเรียน”

“จิตวิญญาณครู คือบทบาทหน้าที่ ต้องทำให้ครูได้แบ่งปันแลกเปลี่ยน วางแผนร่วมกัน ร่วมแสดงความเห็น ครูจะนั่งเฉยไม่ได้ซึ่งก็คือกระบวนการ PLC ขณะที่ผู้บริหารต้องลดบทบาทสั่งการ”

เธอย้ำทิ้งท้าย

 

ถึงคิวของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิท่านต่อไป ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ครูของครู สะท้อนว่า ทั้ง 2 โรงเรียนมีความแตกต่าง แต่ได้รับการประเมินผลอยู่ในระดับดี การตีความเรื่องคุณภาพโรงเรียนคือ นักเรียนดีประสบผลสำเร็จในการเรียน เป็นการปูพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

“คุณภาพโรงเรียนจะมุ่งเป้าไปที่นักเรียน แต่ความเป็นจริงต้องทำงานร่วม 3 ส่วน คือ คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน คุณภาพการเรียนรู้ของครู คุณภาพการเรียนรู้ของผู้ปกครองและคณะกรรมการของโรงเรียน กระบวนการที่โรงเรียนจะพัฒนาตนเอง ต้องตระหนักต่อการเรียนรู้ทั้ง 3 ส่วน เพราะมีส่วนเรียนรู้กับสถานการณ์ในโรงเรียน การเรียนของชั้นเรียนควรจะเป็นการเรียนรู้ในชีวิตจริงซึ่งอาจจะต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน”

ผู้เรียนเรียนอะไร คือ เรียนรู้ภายใต้ 21 Century Skill / ASK / คิด ผู้เรียนต้องเรียนอย่างไร 1.10% ทฤษฎี 2.70% ปฏิบัติ 3.20% ร่วมกับคนอื่นมีจิตสาธารณะ

โรงเรียนพัฒนาต่อเนื่องต้องทำอะไร อย่างไร 1.70% เรียนจากการทำงาน พัฒนาการเรียนรู้จากการทำงานของผู้บริหารและครู 2.20% ของการเรียนรู้ คือการเรียนรู้ข้ามโรงเรียน 3.10% จากคูปองครู หลักสำคัญของการเรียนรู้ ต้องทำให้โรงเรียนไม่โดดเดี่ยว มีระบบหนุนเสริม เพื่อทดแทนระบบสั่งการ ดังนั้น sQip Model เป็น Model ที่ใช้ได้เป็นอย่างดีรวมถึงเพาะพันธุ์ปัญญาที่เน้นสอนเรื่องวิธีคิด

การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นการพัฒนาคุณภาพพลเมือง ผู้เรียนสมองต้องเปิดเพื่อการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนเข้าถึงนักเรียนที่อาจจะขาดแคลนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา หนังสือเรื่อง Poor Student Rich Teacher บอกเทคนิคในการลดความบั่นทอนในสมองเด็ก และสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กที่เน้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

ถ้าโรงเรียนจะพัฒนาคุณภาพตนเองอย่างต่อเนื่องต้อง

1. เน้นตั้งเป้าหมายชัดเจน ปฏิบัติ สะท้อนคิด มีการเก็บข้อมูล ทำให้เป็นวงจรการเรียนรู้

2. เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ

3. ครูเปลี่ยนจากการทำงานเดี่ยว สู่การทำงานเป็นทีม

4. โรงเรียนไม่แยกตัวจากชุมชน

5. วิญญาณครู ศักดิ์ศรีครู กลับคืนมา

6. เป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่นักเรียน ครูทำเพื่อนักเรียนแล้วมีความสุข

7. มีระบบหนุนเสริม

“เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ คือผลลัพธ์การเรียนโดยกำหนดตามบริบทของโรงเรียน จิตวิญญาณครู เห็นจากการกระทำ ทำเพื่อศิษย์ ทำให้ศักดิ์ศรีครูเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดผลดีต่อลูกศิษย์ ผลก่อสะท้อนมาที่ชีวิตความเป็นครู”

ครูกล่าวจบ

 

ผู้ฟังตั้งประเด็นถาม “กลยุทธ์ในการสร้างจิตวิญญาณครูให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำอย่างไร”

“จิตวิญญาณครูสร้างยากในระยะเวลาสั้นเพราะมีต้นทุนที่หลากหลาย แต่สิ่งสำคัญคือ โอกาสในการได้เข้าไปสัมผัสทำให้เกิดจิตวิญญาณ เช่น การเรียนรู้ในฐานจิตปัญญาที่ต้องเปลี่ยนที่หัวใจ ซึ่งครูต้องใจเย็น

“ต้องเชื่อศักยภาพของนักเรียน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ ปัญหา ต้นทุน เราต้องมองสิ่งเหล่านี้ และคลี่ปัญหาให้ชัด เพื่อยกระดับจิตใจของครูให้มีความเมตตา สู้ ไม่ท้อแท้ ทำบางเรื่องเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักเรียนเห็น”

ครูให้แง่คิด เวทีเสวนาจบลงด้วยบรรยากาศอบอุ่น เป็นกันเองและมีกำลังใจ ก่อนแยกย้ายกันไปเตรียมตัวสำหรับการประชุมสรุปผลวันรุ่งขึ้น