วิรัตน์ แสงทองคำ : 22 ปีหลังวิกฤตการณ์ กับธนาคารไทย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ระบบธนาคารไทยคงเผชิญความผันแปรต่อเนื่อง แม้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นไปแล้วกว่า 2 ทศวรรษ

“วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ.2540 ได้ชี้ให้เห็นถึงความสําคัญของระบบสถาบันการเงินต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน และการปรับความสมดุลในระบบการเงินโดยการพัฒนาตลาดทุนควบคู่กันไปกับการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเล็งเห็นความสําคัญของการกําหนดแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่แน่ชัด และได้เริ่มจัดทําแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตั้งแต่ต้นปี 2545” ข้อความข้างต้น ตอกย้ำความสำคัญ และผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (อ้างจากเอกสาร “แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” ของธนาคารแห่งประเทศไทย)

อีกมิติหนึ่งสะท้อนถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญมีความจำเป็นต้องมาจากการริเริ่มของหน่วยงานกำกับดูแล เนื่องด้วยธนาคารและสถาบันการเงินเป็นกิจการอยู่ภายในระบบซึ่งควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งจากระบบเศรษฐกิจ (ประเทศ) และจากกฎเกณฑ์ระดับโลก

“The return of banking profitability in 2001 signaled a turnaround of the crisis and an opportunity to focus on developing a financial system” (จุดเริ่มต้นเริ่มต้นผลกระอบการธนาคารทั้งระบบเริ่มกำไรในปี 2544 ถือเป็นโอกาสให้ความสำคัญพัฒนาระบบสถาบันการเงิน)” เนื้อหาบางตอน สารผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดำรงตำแหน่ง 31 พฤษภาคม 2544 – 6 ตุลาคม 2549) ในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย ภาคภาษาอังกฤษ (Thailand”s Financial Sector Master Plan Handbook 24 สิงหาคม 2549) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นสำคัญ

แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเริ่มต้น ตั้งแต่ปี 2545 ดำเนินอย่างต่อเนื่อง จากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2 (2553-2557) จนเข้าสู่ระยะที่ 3 (2559-2563) แล้ว

“จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ประเทศไทยได้พัฒนาตลาดการเงินต่างๆ ให้มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ… เพื่อเพิ่มแหล่งเงินทุนและทางเลือกในการลงทุนของภาคเอกชน อีกทั้งยังป้องกันผลกระทบจากการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์มากเกินไป บทบาทที่เพิ่มขึ้นของตลาดทุนยังเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย โดยการขยายบริการเพื่อรองรับพัฒนาการของตลาด… เพิ่มฐานรายได้ของธนาคารพาณิชย์ประเภทค่าธรรมเนียม นอกเหนือจากรายได้หลักด้านดอกเบี้ย กล่าวได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของขนาด (Economy of Scale) และใช้ประโยชน์จากการต่อยอดธุรกิจ (Economy of Scope) ได้ดีขึ้น” (บางส่วนจากบทคัดย่อ ธาริษา วัฒนเกส “การเปิดเสรีและเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย” เอกสารวิจัยส่วนบุคคลตามหลักสูตร การป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง รุ่นที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2548-2549)

สะท้อนแนวคิดสำคัญ ตามแผนการพัฒนาระบบสถาบันการเงินธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (8 พฤศจิกายน 2549 – 30 กันยายน 2553) คนถัดมาต่อจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ถือเป็นผู้มีบทบาทในแผนการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าการ (2545-2549) เมื่อแผนดำเนินการอย่างจริงจัง

 

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ธนาคารไทยเผชิญปัญหาครั้งร้ายแรงอย่างไม่ทันตั้งตัวถือ เป็นปรากฏการณ์พลิกผันครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

อาจกล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยเกิดขึ้นและเติบโตอย่างจริงจังในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารนครธน เกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่เติบโตในยุคสงครามเวียดนาม) ตลอดช่วง 4 ทศวรรษแรกเป็นไป โดยเฉพาะท่ามกลางความพยายามอย่างยิ่งยวด กับนิยาม “ธนาคารไทย” ได้อย่างน่าทึ่ง แม้ว่ายุคสงครามเวียดนาม ภายใต้อิทธิพลสหรัฐ ในกระแสธุรกิจตะวันตกและญี่ปุ่นพาเหรดกันเข้ามาอย่างพายุบุแคม ในยุคนั้นธนาคารไทยส่วนใหญ่ถือหุ้นใหญ่โดยตระกูลธุรกิจทรงอิทธิพล เป็นแกนกลางธุรกิจมีบทบาทเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจ

ภาพการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ-ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย หลังปี 2540 : เหตุการณ์สำคัญ) มีนัยยะมากทีเดียว

มิติแรก-โครงสร้างระบบธนาคารไทยมีความหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทครั้งใหญ่ครั้งแรก ตั้งแต่ยุคอาณานิคมของธนาคารระดับโลก ธนาคารระดับภูมิภาค ซึ่งมีเครือข่ายและขนาดใหญ่กว่าธนาคารไทยอย่างมาก

มิติที่สอง-เปิดฉากการเกิดขึ้นของธนาคารใหม่ๆ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่หลังสงครามโลกที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาทางการคุมกำเนิดธนาคารใหม่

อีกมิติ-การปรับโครงสร้างธนาคารไทยคงดำเนินไปอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าการทยอยเข้ามาของธนาคารระดับโลก จนกลายเป็นกรณีปกติในระบบธนาคารไทย ภายใต้กระบวนการซื้อกิจการ การควบรวม การเปลี่ยนชื่อธนาคาร

แม้กระทั่งธนาคารไทยด้วยกันเอง

 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนการปรับตัวของระบบธนาคารอย่างกระฉับกระเฉงคงเป็นไป และสะท้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มีความผันแปรมากขึ้น

ดัชนีนั้นสะท้อนผ่านแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ต้นปี 2559 จุดเริ่มต้นแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 “วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 คือ ระบบสถาบันการเงินไทยแข่งขันได้ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายขึ้นด้วยราคาที่เป็นธรรมและสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาค…” (ถ้อยแถลงข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย 22 มีนาคม 2559)

มีความเจาะจงอย่างน่าสนใจ กล่าวถึงเรื่อง “ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ (Digitization & Efficiency)”

และ “สนับสนุนการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค (Regionalization) เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินไทยในการสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาครองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และการขยายตัวของธุรกิจไทยไปยังกลุ่มภูมิภาคดังกล่าว โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น การเจรจาเปิดเสรีภาคการธนาคารในกลุ่มอาเซียน (Qualified ASEAN Banks : QABs)…”

ว่าไปแล้วภาพการปรับตัวธนาคารที่สำคัญ อาจไม่ได้มองเห็นโดยตรงจากการปรับโครงสร้างอย่างที่กล่าวมา มีบางมิติเป็นกระแสลมอันรุนแรงทีเดียว (ดังเรื่องเคยนำเสนอมาหลายครั้ง โดยเฉพาะมองผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย) หากมองภาพใหญ่กว่านั้น ควรไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างกรณีที่ว่า “พัฒนาการทางเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ระบบการเงินของประเทศในหลายมิติ…” จุดประเด็นในถ้อยแถลง (เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2561) ของวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน โดยเน้นว่า “ปี 2561 …เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการทางการเงิน การปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องจึงมุ่งเน้นไปที่ (1) การส่งเสริมบริการทางการเงินด้านดิจิตอล และ (2) การสนับสนุนบริการทางการเงินสำหรับ SMEs.”

ภาพกว้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบธนาคารไทยใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นธุรกิจซึ่งเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมากที่สุด ในสังคมธุรกิจไทยยุคใหม่ อาจตีความว่า สิ่งที่เคยเป็นรากฐานอันมั่นคงในยุคหนึ่ง กำลังเข้าช่วงการเปลี่ยนแปลงผันแปรอย่างไม่คาดคิด ในอีกยุค

 

ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย หลังปี 2540
เหตุการณ์สำคัญ
ปี 2541

ธนาคารไทยทนุ (ก่อตั้ง 2492) ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ DBSBank (Singapore) เปลี่ยนชื่อเป็นดีบีเอสไทยทนุ

ธนาคารเอเชีย (ก่อตั้งปี 2483) ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ ANB Amro Bank (Netherland)

ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (ก่อตั้งปี 2487) ถูกสั่งปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

ธนาคารแหลมทอง (ก่อตั้งปี 2491) ถูกสั่งปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ตั้งธนาคารใหม่ ธนาคารรัตนสิน

ธนาคารมหานคร (ก่อตั้งปี 2477 ในนามธนาคารตันเปงชุน มีปัญหาเปลี่ยนแปลงการบริหาร เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนาในปี 2503 มีปัญหาอีกครั้ง ทางการและสมาคมธนาคารไทยเข้ากอบกู้กิจการเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารมหานครในปี 2520) ถูกสั่งปิดกิจการ โดยโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารกรุงไทย

ธนาคารสหธนาคาร (ก่อตั้งปี 2492) ถูกสั่งปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ไปรวมกับกิจการเงินทุนหลายแห่งตั้งธนาคารใหม่– ธนาคารไทยธนาคาร

ปี 2542

ธนาคารรัตนสิน ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ UOB (Singapore) เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูโอบีรัตนสิน

ธนาคารนครธน (ก่อตั้งปี 2476 ชื่อเดิมธนาคารหวั่งหลีจั่น และธนาคารหวั่งหลี ตามลำดับ) ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ Standard Chartered Bank แห่งอังกฤษ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ต่อมาปี 2548 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ปี 2545

ธนาคารศรีนคร (ก่อตั้งปี 2493) ถูกสั่งปิดปิดกิจการแล้วโอนสินทรัพย์ไปรวมกับธนาคารนครหลวงไทย

ปี 2547

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม และธนาคารทหารไทย โดยใช้ชื่อธนาคารทหารไทย

ทางการอนุญาตให้ก่อตั้งธนาคารใหม่ครั้งใหญ่ ได้แก่ ธนาคารสินเอเชีย ธนาคารธนชาต (ปี 2552 ขายหุ้นประมาณ 49% ให้ Scotiabank แห่ง Canada) ธนาคารเกียรตินาคิน (ปี 2555 รวมกิจการกับกลุ่มทุนภัทร เรียกว่า กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร) ธนาคารทิสโก้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย (ปี 2554 ปรับฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เปลี่ยนชื่อธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์)

ปี 2548

ธนาคารยูโอบีรัตนสิน ควบรวมกิจการกับธนาคารเอเชีย เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารยูโอบี

ปี 2550

ทางการอนุญาตให้ก่อตั้งธนาคารใหม่ — ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย

ธนาคารทหารไทย ตกลงให้ ING Bank N.V.(Netherland) เข้าถือหุ้นประมาณ 25%

ปี 2552

ธนาคารไทยธนาคาร ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ CIMB (Malaysia) เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

ปี 2553

ธนาคารสินเอเชีย ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ Industrial and Commercial Bank of China แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

ปี 2554

ธนาคารนครหลวงไทย ขายกิจการ เข้าไปควบรวมกิจการเป็นธนาคารธนชาต

ปี 2556

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (ก่อตั้งปี 2488) ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ (BTMU) แห่งญี่ปุ่น

ปี 2559

ธนาคารทิสโก้ ซื้อธุรกิจลูกค้ารายย่อย ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ปี 2562

ธนาคารธนชาต กับธนาคารทหารไทย อยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการ
—————————————————————————————————
หมายเหตุ – ขีดเส้นใต้ หมายถึงชื่อธนาคารซึ่งดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน