วงค์ ตาวัน | ประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ในไทย คือ ตำราเล่มใหญ่ให้ต้องศึกษากัน

วงค์ ตาวัน

ตำราป้องกันสงคราม

เรื่องราวของคอมมิวนิสต์ในบ้านเรานั้นเงียบหายไปยาวนานแล้ว หลังจากสงครามระหว่างกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ในการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลไทยได้ยุติลงไปเมื่อกว่า 30 ปีก่อน พร้อมกับการวางมือของบรรดาผู้เข้าร่วมการต่อสู้กับ พคท. เดินทางออกจากป่ากลับคืนเมืองกันจนหมดสิ้น

จนกระทั่งต่อมา พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยังยกเลิกไป เพราะถือว่าไม่มีคอมมิวนิสต์หลงเหลืออีกแล้ว

ในภาพรวมของขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลายประเทศก็ถึงจุดล่มสลาย

“มาเมื่อไม่กี่วันมานี้ เรื่องราวของคอมมิวนิสต์ในไทยได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง จากการเสียชีวิตของนายธง แจ่มศรี เลขาธิการ พคท. ผู้นำคอมมิวนิสต์ไทยคนสุดท้าย”

น่าสนใจว่า ข่าวการตายของธง แจ่มศรี และการจัดงานศพ พิธีเผาศพ ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์และออนไลน์อย่างกว้างขวาง

“แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยของขบวนการนี้!”

เพราะในยุคสมัยหนึ่ง เป็นขบวนการต่อสู้ที่มีเป้าหมายพลิกโฉมสังคมไทย ด้วยวิธีการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดุเดือดรุนแรง

จนกระทั่งมาถึงจุดจบสิ้น เมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์โลกเกิดความแตกแยก ส่งผลกระทบรุนแรงถึง พคท.ด้วย ยิ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างคนเข้าป่าที่เป็นนักศึกษาปัญญาชน กับคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม เนื่องจากทัศนะในการมองปัญหาและแนวทางการต่อสู้ที่ต่างยุคกัน

พอดิบพอดีกับที่ในกองทัพไทยมีนายทหารมันสมองที่ศึกษาเรียนรู้คอมมิวนิสต์อย่างจริงจังและเชื่อในแนวทางการเมืองนำการทหาร มากกว่าการทหารนำหน้าทุกอย่าง จึงนำมาสู่คำสั่งที่ 66/2523 เปิดทางให้คนในป่ากลับคืนเมืองมาต่อสู้ในแนวทางสันติ และไม่มีความผิดทางอาญาๆ ใดติดตัว

“คอมมิวนิสต์ไทยจึงปิดฉากลง”

ส่วนผู้นำสูงสุดคือธง แจ่มศรี เลขาธิการคนสุดท้าย ก็ได้ออกจากป่ามาใช้ชีวิตสงบในเมือง แต่ก็ยังออกแถลงการณ์ยืนยันว่า พคท.ยังอยู่ มีท่าทีต่อสถานการณ์ต่างๆ เพียงแต่ไม่ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธดังเดิมอีกแล้ว

กระทั่งวันที่ 10 กรกฎาคม จึงเสียชีวิตในวัย 98 ปี ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ

ข่าวการจากไปของเลขาธิการ พคท. จึงเสมือนการกระตุ้นให้สังคมไทยได้ย้อนนึกถึงเรื่องราวของคอมมิวนิสต์ในไทย

เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ และควรเรียนรู้อย่างเข้าใจว่าโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ละยุคแต่ละสมัยสังคมไทยก็มีคนลุกขึ้นมาเพื่อผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ

ถ้าศึกษาเรียนรู้ให้ดี จะได้ช่วยกันทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าด้วยแนวทางที่ไม่ต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ!

พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2485 โดยในยุคนั้นกระแสคอมมิวนิสต์กำลังมาแรงทั่วโลก ต่อมาทางการไทยได้ระดมกวาดล้างจับกุมเหล่าผู้นำและสมาชิกคอมมิวนิสต์ไทย มีการออกกฎหมายออกมาสืบจับอย่างเข้มข้น

จากนั้น พคท.ใช้แนวทางชนบทล้อมเมือง โดยเคลื่อนไหวสร้างมวลชนในชนบท สร้างฐานในชนบท จนกระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2508 จึงเริ่มต่อสู้ด้วยอาวุธ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไทยก็ส่งกองทัพออกปราบปรามคอมมิวนิสต์ในชนบทอย่างหนัก

“แต่ก็เข้าทำนองยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต เพราะมีการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะร่วมกับคอมมิวนิสต์แบบเหวี่ยงแห เลยยิ่งผลักคนให้เข้าป่าไปร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้กองกำลังและมวลชนคอมมิวนิสต์ขยายไปทั่วประเทศ เกิดฐานที่มั่นแทบทุกภูเขาและแทบทุกป่า”

ขณะเดียวกันสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อนักศึกษา-ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จากนั้นขบวนการนักศึกษาประชาชนก็เคลื่อนไหวมากมายในหลายเรื่อง ทำให้ฝ่ายรัฐยิ่งหวาดระแวง มองว่ามีคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง

แถมในปี 2518 ประเทศในย่านนี้ ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว เปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์กันหมด เลยยิ่งผวาหนัก เกรงกลัวในทฤษฎีที่เห็นว่าไทยจะเป็นโดมิโนตัวสุดท้าย

“จนเกิดการวางแผนขุดรากถอนโคนนักศึกษาในเมือง ด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยิ่งส่งผลให้ปัญญาชนในเมืองแห่เข้าป่าหลายพันคน เสริมให้คอมมิวนิสต์ในป่ายิ่งเติบโต”

เรื่องราวของคอมมิวนิสต์ในป่า ความเป็นมาของคอมมิวนิสต์ จึงเริ่มเปิดเผยชัดเจนขึ้น ผ่านการสื่อสารของนักศึกษาที่เข้าป่าด้วย 6 ตุลาฯ และผ่านสื่อต่างประเทศที่แห่กันเข้าไปสัมภาษณ์ถึงภายในเขตงานคอมมิวนิสต์

ลบภาพเดิมๆ ที่ทางการสร้างภาพคอมมิวนิสต์ให้เป็นที่หวาดกลัว เป็นปีศาจ เป็นผีดูดเลือด หรืออ้างว่าเป็นกองกำลังจากต่างชาติที่จ้องจะยึดไทย

“ความจริงเริ่มปรากฏ ทำให้ได้รู้กันว่าก็คือคนไทยทั้งนั้น ผู้นำ พคท.ระดับสูงก็ล้วนแต่เป็นอดีตนักศึกษามาจาก มธก.รุ่นแรกๆ ทำให้สังคมไทยได้เข้าใจว่าคอมมิวนิสต์เป็นคนไทยแน่ๆ เพียงแต่มีแนวคิดอุดมการณ์แบบหนึ่ง”

หลังปี 2519 สงครามคอมมิวนิสต์ยิ่งลุกลาม จนเปรียบกันว่า เหลืออีกแค่ร้อยกิโลเมตรกว่าๆ คอมมิวนิสต์ก็จะมาถึง กทม.แล้ว เพราะขณะนั้นเขตสีแดงมาจ่อที่บ้านไร่ อุทัยธานี รวมทั้งที่ปากท่อ ราชบุรี

จนมาสะดุดเมื่อขบวนการคอมมิวนิสต์สากลแตกแยก แบ่งเป็นค่ายจีนกับค่ายโซเวียต ภายในป่าก็เริ่มขัดแย้งระหว่างปัญญาชนรุ่น 6 ตุลาฯ กับคอมมิวนิสต์รุ่นดั้งเดิม

ประกอบกับเป็นยุคที่กองทัพไทยมีนายทหารที่รู้จริงเรื่องคอมมิวนิสต์ว่ายิ่งปราบก็ยิ่งโต จึงผลักดันคำสั่งที่ 66/2523 เป็นช่องทางให้คนในป่ามีทางออกใหม่

ในช่วงปี 2523 จึงเริ่มมีคนออกจากป่าอย่างเป็นขบวน ทำให้ป่าเริ่มแตก และราวปี 2525 จึงสงบลงอย่างแท้จริง

รวมทั้งคณะผู้นำ พคท. โดยธง แจ่มศรี ก็ต้องออกมาใช้ชีวิตสงบในเมือง

หลังจากนั้นก็แทบไม่มีใครสนใจพูดถึงคอมมิวนิสต์ และไม่มีความหวาดระแวงอะไรอีก จนนำมาสู่การยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

แต่อดีตคอมมิวนิสต์จำนวนไม่น้อยยังมีการจัดงานรำลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้ ตามเขตงานเดิมต่างๆ อยู่ในทุกๆ ปี โดยแต่งชุดสหาย หมวกดาวแดงกันอย่างเปิดเผย ด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องราวที่เป็นมา

“คงไม่ใช่เพื่อหวังจะจุดไฟการต่อสู้จับปืนโค่นล้มสังคมไทยอีก เพราะรู้ดีว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่จบไปแล้ว เพียงแต่ยังคงยกย่องเชิดชูอุดมการณ์ที่ใฝ่ฝัน”

ในพิธีศพของเลขาธิการ พคท.คนสุดท้าย ก็แต่งชุดทหารป่าไปร่วมงาน โบกธงแดงค้อนเคียว เพราะรู้ดีว่าประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์ไทยนั้น คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้และเข้าใจกันแล้ว

“คงไม่มีคนไทยล้าหลังสุดกู่รายไหนที่ยังจะมานั่งป่าวประณาม เกลียดชัง หวาดกลัวคนที่แต่งชุดคอมมิวนิสต์ไปร่วมไว้อาลัยผู้นำคนสุดท้ายอย่างแน่นอน!!”

แต่สำคัญที่สุด ขบวนการคอมมิวนิสต์ควรได้รับการรวบรวมบันทึกไว้ให้ได้เรียนรู้ศึกษากัน

เพราะเป็นเรื่องราวของคนไทยเราด้วยกันเองทั้งนั้น เพียงแต่เป็นคนที่มีความคิดความเชื่ออย่างหนึ่ง รวมไปถึงคนจำนวนไม่น้อยต้องเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะผลกระทบจากนโยบายรัฐ การสืบจับปราบปรามอย่างหวาดระแวงและเหวี่ยงแห ทำให้คอมมิวนิสต์ยิ่งเติบโต

“เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นส่วนหนึ่ง นั่นคือผวาคอมมิวนิสต์ เลยกวาดล้าง แล้วทำให้คนบริสุทธิ์ต้องตายกลางเมือง ส่วนที่เหลือเข้าป่า ไปอยู่คอมมิวนิสต์ในที่สุด”

ประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ไทยจึงเป็นตำราเล่มใหญ่ให้ต้องศึกษากัน ด้วยการยอมรับว่า สังคมต้องพัฒนาก้าวไปข้างหน้า

แต่จะทำอย่างไรให้เป็นไปอย่างนุ่มนวล ด้วยแนวทางรัฐสภา มีเลือกตั้ง สงบสันติ ไม่ต้องจับอาวุธเปิดศึกสงครามอีก!