คำ ผกา | โปรดระมัดระวังเรื่องท้องถิ่นนิยม

คำ ผกา

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องภาษาถิ่นกับชุดท้องถิ่นในสภาขึ้นมา อันทำให้ฉันคิดว่า แค่เราไม่มีสภามา 5 ปีนี่ถึงกับจะทำให้ทำตัวเข้าสภากันไม่ถูกเลยหรือ

เอาเรื่องภาษาถิ่นก่อน

เรื่องมันเริ่มจาก ส.ส.ศรีนวล บุญลือ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในสภา และ ส.ส.ศรีนวลพูดภาษาไทย เธอไม่ได้พูดภาษาเหนือ และเช่นเดียวกับคนจำนวนมากในประเทศนี้ที่เรามักมี “สำเนียง” เช่น คนกรุงเทพฯ ก็พูดภาษาไทยสำเนียงกรุงเทพฯ คนสุพรรณก็พูดภาษาไทยสำเนียงสุพรรณ คนภาคใต้ก็พูด “ทองแดง”

ภาษาไทยที่ไม่ติด “สำเนียง” เลย น่าจะเป็นภาษาไทยเวอร์ชั่นผู้ประกาศข่าวของกรมประชาสัมพันธ์เท่านั้น

“สำเนียง” ภาษาไทยของ ส.ส.ศรีนวล อาจจะทำให้คนโลกแคบอย่าง ส.ส.พรรคครูไทยเข้าใจว่า ส.ส.ศรีนวลพูดภาษาเหนืออยู่ จึงยกมือแสดงความเห็นว่า ในสภาควรพูดภาษาไทย

ซึ่งฉันคิดว่า กรณีนี้ ส.ส.ศรีนวลแค่ชี้แจงว่า ดิฉันพูดภาษาไทยอยู่แต่อาจเป็นสำเนียงที่บางคนไม่คุ้นเคย แต่มั่นใจว่าคนในสภาฟังรู้เรื่อง หรือถามไปที่ประธาณสภาเลยว่าฟังรู้เรื่องหรือเปล่า

การที่ ส.ส.กุลธิดาจากพรรคอนาคตใหม่ลากเรื่องนี้ไปที่พื้นที่แห่งการพูดภาษาถิ่นจึงเป็นการ distract ประเด็นการอภิปรายของ ส.ส.ศรีนวลไปโดยใช่เหตุ

นั่นคือแทนที่จะได้อภิปรายกันเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางที่คาราคาซังมานาน

กลายเป็นดราม่า เรื่องภาษาถิ่น อันเป็นอีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่อาจอภิปรายถกเถียงกันได้อีกหลายมิติ

โดยส่วนตัว ฉันเห็นว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนอินเดีย ที่มีภาษาถิ่นเป็นร้อยภาษา

และเราต้องเข้าใจด้วยว่า national formation หรือการสร้างชาติของแต่ละ “ชาติ” โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐชาติสมัยใหม่สร้างขึ้นมาบนฐานของการเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม

ส่วน “รัฐชาติ” ไทยสมัยใหม่ก่อรูปมาพร้อมกับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญที่กำหนดความสัมพันธ์ สิทธิ และหน้าที่ ระหว่างรัฐกับประชาชน มีพลเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐ

สุดท้ายเป้าหมายสำคัญที่สุดแห่งการบรรลุถึงความเป็นชาติที่สมบูรณ์คือปลดแอกประเทศไทยออกจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เราทำไว้กับอังกฤษและฝรั่งเศส

และสุดท้ายจริงๆ คือการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็น “ไทย” – ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วนี่เอง

ทุกรัฐชาติที่ได้เข้าองค์ประกอบนี้คือเป็นไทจากเจ้าอาณานิคม หรือในกรณีของไทยคือเป็นไทจากสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

นั่นคือมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง มีรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครอง มีรัฐบาล มีสภา

สิ่งที่ต้องมีคือ การกำหนด “ภาษาราชการ”

ไม่เพียงแต่กำหนดภาษาราชการ บางชาติ อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม นั้นถึงกับต้องทำการ Romanized ภาษาเขียนกันเลยทีเดียว

นั่นคือเปลี่ยนจากภาษาเขียนอันหลากหลายให้เขียนด้วยอักษาโรมันแทน

เหตุผลก็เพื่อให้คนหลายภาษา สำเนียง หลายอักขรวิธี สามารถสื่อสารกันได้ด้วยการกำหนด “ภาษาแห่งชาติ” ขึ้นมาเป็นภาษา “กลาง”

ไม่เพียงแต่ให้สื่อสารกันได้แต่เป็นการกำหนดหมุดหมายว่า จบยุคของ “ชาติ” แบบเก่าแล้วนะ

นี่คือ “ชาติ” แบบใหม่ ภายใต้การปกครองแบบใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ว่าด้วยพลเมืองแบบใหม่ ที่ไม่ใช่ตรงโน้นเป็นราษฎรแคว้นนี้ ขึ้นกับเจ้าเมืองนั้น ตรงนี้เป็นคนในบังคับอังกฤษ จุดนั้นเป็นคนในบังคับฝรั่งเศส เวลาขึ้นศาลต้องไปขึ้นศาลฝรั่งเศส

ประเทศไทยก็เช่นกัน ในยุคนั้นจึงกำหนดวันชาติ กำหนดวันรัฐธรรมนูญ และ “รัฐสภา” ก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เป็น Modernity

อันนี้คือ เป็นความสมัยใหม่ อันหมายถึง รัฐชาติสมัยใหม่ พลเมืองของรัฐสมัยใหม่ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิพลเมือง การเลือกตั้ง และการที่คนไทยในทุกภูมิภาคมีภาษา “กลาง” หรือภาษาราชการใช้ในการสื่อสาร อันกำหนดให้เป็นภาษาที่เราเรียกกันว่า “ภาษาไทย”

ถามว่ามันกดทับภาษาถิ่นไหม?

ตัวฉันเองซึ่งเป็นเชียงใหม่ พูดคำเมือง ก็ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ถ้าให้เรียนภาษา “ล้านนา” ที่เป็นภาษาเขียนตอนนี้จะเรียนไหม?

คำถามที่ต้องถามต่อคือ เรียนแล้วจะเอาไปใช้อ่านและเขียนกับใคร?

ถ้าเราไม่ใช่นักวิชาการด้านล้านนาคดี เราก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปเรียนอักษรธรรม ตัวเมือง เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับชีวิตแล้ว

ถามต่อไปว่า ตั้งแต่เขาสถาปนาภาษาไทยเป็นภาษาราชการ เราถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาเหนือ ภาษาลาว ภาษาใต้ไหม?

คำตอบคือ “ไม่” เรายังพูดภาษาถิ่นได้ ไม่ผิดกฎหมาย ในโรงเรียนก็พูด ถ้าจะห้ามพูดก็ห้ามเพราะกลัวเราจะพูดแต่ภาษาถิ่นจนพูดภาษาไทยไม่คล่อง ก็เหมือนพ่อแม่คนกรุงเทพฯ ที่เอาลูกไปเรียนอินเตอร์ แล้วพยายามจะพูดกับลูกเป็นภาษาอังกฤษเยอะๆ เพราะอยากให้ลูกเป็นไบลิงกวล

พ่อแม่ฉันก็อยากให้ฉันเป็นเด็กไบลิงกวลเหมือนกันคือพูดได้คล่องทั้งคำเมืองและภาษาไทย

ส่วนคนเมืองที่ “สลิด” พูดไทยกับคนเมืองด้วยกันนั้น บอกเลยว่า จะถูกล้อหนักมากว่า สลิดอยากเป็นคนไทย – ทั้งหมดนี้แทบไม่มีเรื่องปมด้อยหรือการกดทับอะไรเลย

การกดทับที่แท้ทรู ที่มีต่อท้องถิ่นและภูมิภาคในประเทศไทยไม่ได้เกิดจากการกดทับเรื่องภาษา แต่เกิดจากการไม่ยอมกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเองมากกว่า

ทุกวันนี้ถ้ากระจายอำนาจจริง ท้องถิ่นได้บริหารจัดการตัวเองจริงๆ บริหารภาษีของตัวgองจริงๆ ไม่ต้องกลัวเรื่องการกดทับทางอัตลักษณ์อะไรเลย

ฉันเชื่อว่า ทุกโรงเรียนทุกเทศบาลจะกลายเป็นโรงเรียนอินเตอร์ที่สอนเด็กให้พูดได้มากกว่า 3 ภาษาด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ เด็กตามแนวชายแดนก็พูดทั้งภาษาพม่า ไทยใหญ่ ภาษาไทย ภาษาจีน อังกฤษ และคำเมืองกันอยู่แล้ว

ใครไปกาดหลวงแล้วคุยกับคนเก่าคนแก่ที่ค้าขายอยู่ในตลาดจะเห็นว่า “คนเมือง” ในตลาด พูดทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ และคำเมือง อย่างนวลเนียน กลมกลืน เป็นภาษาในชีวิตประจำวัน

อนึ่ง ฉันคิดว่าในสภาไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้ภาษาถิ่น

แต่เนื่องจากภาษาไทยคือ ภาษาราชการ และเป็นภาษา “กลาง” (ที่ไม่ได้แปลว่าภาคกลาง) ที่ทุกคนฟังเข้าใจตรงกันหมด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ทุกคนก็เห็นตรงกันว่าใช้ภาษาไทยดีที่สุด สมประโยชน์ต่อกันที่สุด เพราะเมื่ออภิปรายทั้งทีเราก็อยากให้คนทั้งประเทศฟัง อยากให้คนทั้งประเทศเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารออกไป

เว้นแต่ว่าสักวันหนึ่งที่เราจะมี ส.ส.ชาติพันธุ์ สัญชาติไทยที่พูดภาษาไทยไม่ได้จริงๆ

ฉันเชื่อว่าสภาไทยอนุญาตให้เขาอภิปรายด้วยภาษาถิ่นอย่างแน่นอน พร้อมจัดหาล่าม

ทว่า ณ ขณะนี้ที่ ส.ส.ทุกคนพูดภาษาไทยได้ เราไม่ควรไปโวยวายเรื่องภาษาถิ่นอะไรให้อลหม่าน – ชาติและภาษาราชการ เป็นของคู่กัน และตราบที่เขายังไม่จับคนพูดภาษาถิ่นไปเข้าคุก

ฉันคิดว่าเรายังไม่มีปัญหาเรื่องการกดทับ กดขี่เรื่องภาษาถิ่นอะไรใดๆ

ประเด็นชุดพื้นเมือง ชุดท้องถิ่นยิ่งอลเวงกว่านั้นอีก หลังจากมีดราม่าชุดกาสะลอง ก็มีนักคิด นักเขียน นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคนเลยออกมาโวยวายว่า “เนี่ย คือการกดทับ กดขี่เสรีภาพ ประเทศไทยต้องมีพื้นที่สำหรับเสื้อผ้าพื้นเมือง ชุดผ้าไทย คนท้องถิ่นมากกว่านี้”

บางคนลากไปเลอะเทอะถึงขั้นแสดงรูปผู้นำปาปัวนิวกินี ใส่ชุดประจำชาติไปประชุมยูเอ็น

โอ๊ยยย เลอะเทอะ – นี่ฉันนึกภาพนายกฯ ประยุทธ์ นุ่งผ้าเดี่ยวผืนเดียวไปประชุ,สุดยอดผู้นำนู่น นั่น นี่เลยนะ

คือถ้าจะใส่ ก็ไม่มีใครห้ามหรอก คำถามคือ แล้วจะใส่ชุดนั้นไปทำไมล่ะ แล้วตอนนี้ ฉันถามจริงว่า ไม่มีใครห้ามเลยนะ อยากใส่อะไรก็ใส่ ทีนี้แน่ใจนะว่า รับได้ ถ้าจะมี ส.ส.หญิงไทยใส่ชุด “พื้นเมือง” จริงๆ คือ นุ่งตาซิ่นแล้วไม่ใส่เสื้อ พร้อมระเบิดหูใส่ตุ้มหูอันใหญ่แบบสาวล้านนาโบราณไปยูเอ็นน่ะ

กลับมาที่ “รัฐชาติ” สมัยใหม่นะ

หนึ่งในแผนการสร้างชาติไทยให้เกรียงไกร (ชาติอื่นๆ ก็ทำเช่นกัน) คือการนำ “ร่างกาย” ของพลเมืองเข้าสู่ความศิวิไลซ์ ความศิวิไลซ์ในที่นี้คือ พลเมืองที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน จะไม่ถูกแบ่งชั้นด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอีกต่อไป

กล่าวคือ ในสังคม pre modern จะมีกฎว่า เสื้อผ้าแบบไหน เครื่องประดับแบบไหน สำหรับคนชนชั้นไหน เชี่ยนหมาก ทอง นาก เงิน ใครใช้อะไรได้ ใช้อะไรไม่ได้ ดังนั้น ดูแค่เสื้อผ้าอาภรณ์ก็บ่งบอกถืง “กำพืด” วรรณะ คนไทยยังมีสำนวน เรื่องอย่างใช้ของเทียมเจ้าเทียมนาย เหาจะขึ้นหัว

ในรัฐชาติสมัยใหม่ จะไม่มีเรื่องแบบนี้ และเพื่อตัดปัญหาว่าใครนุ่งซิ่นดิ้นเงินได้ ใครนุ่งซิ่นดิ้นทองได้ หรือเสื้อผ้าแบบนั้นคนนู้นห้ามใส่ – จึงคล้ายกับเรื่องภาษา จึงกำหนดเสื้อผ้าอย่าง “สากล” ขึ้นมา

อันในยุโรปช่วงสร้างชาติได้กำหนดไว้ก่อนเราแล้ว เรียกว่า เสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษ และสุภาพสตรีชุดสูท และเดรสสากล นั้นที่มาของมันคือ เป็นเสื้อผ้ามาตรฐานสำหรับชนชั้นกลาง พ่อค้าวาณิช และเกษตรกร หรือที่เรียกกันรวมๆ ว่า สุภาพชน

กลุ่มปัญญาชนไทยที่มาร่วม “สร้างชาติ” ก็เอาคอนเซ็ปต์นี้มา ว่า สามัญชนคนไทยไม่ใช่ไพร่และทาสอีกต่อไปแล้ว เป็นสุภาพชนกันทั้งสิ้นทั้งปวง จอมพล ป.จึงฝันอยากเห็นคนไทยทิ้งกางเกงเล กางเกงแพร มาใส่เสื้อผ้ามีแขน มีปก สวมกางเกง สวมรองเท้า สวมหมวก ถึงขั้นทำคู่มือการแต่งกายมาเป็นแนวทางให้

ทั้งนี้ทั้งนั้นคือ ไม่อยากให้มีแต่ “ชนชั้นนำ” เท่านั้นที่ได้แต่งตัวโก้เก๋อยู่กลุ่มเดียว

ในฝันของพิบูล ก็คงฝันอยากเห็นนายธนาครกับชาวนาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแบบ “ชนชั้นกลาง” เป็นสุภาพชนเสมอเหมือนกัน

แต่ไปถูกตีความว่าเป็นฟาสซิสต์ เผด็จการ ทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่น

ดังนั้น สภาประชาธิปไตย ในยุคที่ถือกำเนิดมาจึงเป็นพื้นที่ของความเป็น “สมัยใหม่” หมายถึง ประเทศยุคใหม่ที่พลเมืองมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน เป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี เป็นสุภาพชน เหมือนกัน และเป็นส่วนหนึ่งของ “สากลโลก” ที่ศิวิไลซ์ เราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนของชนพื้นเมืองที่กินหัวคนแล้ว เราเป็นหนึ่งในอารยชน ที่มีสภา มีการเลือกตั้ง สวมเสื้อผ้า เหมือนกับคนในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น – สง่างาม ปักหมุดแผนที่ประแทศไทยบนแผนที่โลกในฐานะที่เป็นประเทศของโลกสมัยใหม่ที่ respectable

ดังนั้น เสื้อผ้าสากล จึงไม่ใช่เรื่องตามก้นฝรั่งอย่างไม่มีที่มาที่ไป

(คนรุ่นตาของฉันที่ร่างกายถูกปรับให้เป็นสากลจากยุคจอมพล ป. เสื้อผ้าของผู้ชายชนบทยุคนั้นคือ เสื้อเชิ้ตมีปก แขนสั้น ใส่กับกางเกงสแล็กส์ขายาว ปล่อยชาย และสวมหมวก – สำหรับฉัน นี่คือเสื้อผ้าที่ถูกปรับให้เข้าที่แล้ว ใส่สบาย ไม่ร้อนและเท่)

การตั้งคำถามเรื่องสูท และเน็กไท กลับไปใส่ผ้าม่วงต่างหากที่เป็น Conservative คนที่ถามเรื่องนี้มากที่สุดคือ ส.ศิวรักษ์ – ตลกดี ที่ ส.ศิวรักษ์ก็สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ด้วย – พวก conservative ที่อยากจะกลับไปใส่ผ้าม่วงเหล่านี้ มีนัยของการกลับไป “ชาตินิยม” ที่ปฏิเสธ “ตะวันตก” แล้วบอกว่าอะไรที่เป็นไทยๆ นั้นดีกว่า รวมไปถึงประชาธิปไตยแบบฝรั่งจ๋านั่นก็อาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทยก็เป็นไปได้

กระแสหวนกลับมาหาความเป็นไทยด้วยการปฏิเสธสูทแบบสากลก็ทำให้เรามีเสื้อราชปะแตนผ้าไหมไทยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้ริเริ่มให้เป็นแพตเทิร์น แทนที่สูทสากล มีนัยของการเดินตามก้น “ฝรั่ง”

อีกนัยหนึ่ง โครงการสร้างชาติของพิบูลสงครามที่ต้องการ civilized ร่างกายของพลเมืองไทยให้เป็นสุภาพชนโดยทั่วถึงกันก็เป็นอันล่มสลาย จากนั้นคนไทยก็มีภาพจำว่า สูทเป็นของอีลีต, ชาวนา ชาวบ้านใส่หม้อห้อม ผ้าถุง

ส่วนชุดไทยนั้นถ้าไม่ใช่ชุดรำแก้บน ก็เป็นชุดที่เช่ามาใส่ไปงานแต่งงาน หรืองานที่วัด ไปงานที่เป็นทางการ เป็นชุดฟ้อนรำ

เรียกได้ว่าเป็นชุด “พิเศษ” ที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวัน

ตลกกว่านั้นอีกก็เมื่อรัฐไทยอยากส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นก็มีอันกำหนด บังคับให้ข้าราชการต้องใส่ชุดพื้นเมืองทุกวันพุธบ้าง วันศุกร์บ้าง ก็ทำให้ต้องมีการ “ประดิษฐ์” ชุดท้องถิ่นกันขึ้นมาใหม่ต่างๆ นานา ผู้หญิงไทยที่อยากได้ชื่อว่า “รักชาติ” ด้วย “เก๋ไก๋” ด้วยก็พยายามสร้างสไตล์การแต่งตัวแบบผสมเอาผ้านุ่ง ผ้าถุงมามิกว์มาแมตซ์กับเสื้อผ้าสมัยใหม่แล้วพยายามจะบอกว่า ชุดไทยก็เก๋นะ ผ้าไทยไม่เชยนะ ใส่แล้วฝรั่งชมนะ บลา บลา บลา

ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถ้าจะสู้เรื่องไม่ใส่เน็กไทเข้าสภา ต้องแม่นยำในการบอกว่า สภาไม่ใช่สถานที่ของอีลีต ดังนั้น เราจะแต่งตัวของ casual ขึ้น สบายขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว นิยามของคำว่า สุภาพชน เปลี่ยนไปแล้ว

ส่วนเรื่องการแต่งชุดท้องถิ่นนั้น ไม่ valid ในทุกมิติเพราะ “ท้องถิ่น” เป็นจินตกรรมของรัฐชาติที่รวมศูนย์

แทนการเปิดประเด็นเรื่องชุด เสื้อผ้า ท้องถิ่นไปทำเรื่องการกระจายอำนาจเถอะ เพราะนั่นคือการทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งอย่างแท้จริง

ถ้าไม่เลิกเห็นคนนอกกรุงเทพฯ เป็น “คนพื้นเมือง” และ “คนท้องถิ่น” ชาตินี้ก็กระจายอำนาจไม่ได้ เพราะคิดแต่ว่าการเข้ามาทำการเมืองคือการโปรดสัตว์ผู้ทุกข์ยาก

เส้นแบ่งระหว่างการคงความหลากหลายของความเป็น “พื้นเมือง” เอาไว้ในนามของพหุวัฒนธรรม กับการอยากให้ท้องถิ่นและคนท้องถิ่นเป็น “นางโชว์” ของรัฐส่วนกลาง มันบางมากๆ โปรดใช้แนวคิดนี้ด้วยความระมัดระวัง