จิตต์สุภา ฉิน : ข้อมูล ยิ่งเปิด ก็ยิ่งโปร่ง (ใส)

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

คนที่รักความสะอาดมากๆ เวลาเดินทางไปต่างสถานที่แล้วต้องเข้าพักในโรงแรมก็น่าจะเกิดอาการกระสับกระส่ายขึ้นมานิดๆ เพราะไม่รู้ว่าจะไว้ใจได้แค่ไหนว่าแม่บ้านได้ทำความสะอาดห้องเอาไว้หมดจดแค่ไหน

เคยมีการเผยข้อมูลออกมาหลายต่อหลายครั้งว่าอะไรในห้องพักโรงแรมที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคมากที่สุด

ซึ่งแชมป์ทุกสมัยก็น่าจะเป็นรีโมตทีวีที่ไม่รู้ผ่านมือคนมาแล้วกี่ร้อยกี่พันคน

แถมไม่ใช่ของที่แม่บ้านจะให้ความสนใจในการเช็ดถูทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคเสียด้วย ด้วยความที่มันก็ไม่ได้ดูสกปรกอะไรนี่แหละ

เช่นเดียวกับสวิตช์ไฟที่เก็บสะสมเชื้อโรคเอาไว้ไม่แพ้กัน

ตามมาติดๆ ด้วยผ้าคลุมเตียงที่ก็ดูไม่ได้มีฟังก์ชั่นใช้สอยอะไรให้ต้องทำความสะอาดมากก็เลยมีแนวโน้มที่แม่บ้านจะมองข้ามแล้วก็นำกลับมาใช้ซ้ำใหม่อยู่เรื่อยๆ หรือผ้านวมที่ไม่ได้ซักได้ง่ายและรวดเร็วขนาดนั้น

แก้วน้ำเป็นอีกหนึ่งอย่างที่มีแนวโน้มจะเต็มไปด้วยเชื้อโรคเพราะแค่การเช็ดล้างไม่ได้ช่วยอะไร ยังจำได้ไหมคะว่าครั้งหนึ่งเคยมีคลิปหลุดออกมาว่าแขกที่เข้าพักแอบติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ในห้องก็เลยได้เห็นกับตาตัวเองว่าแม่บ้านใช้ผ้าผืนเดียวกับที่จุ่มลงไปโถส้วมแล้วมาเช็ดถูแก้วน้ำที่อ่างล้างหน้า

ดูคลิปไปก็ขนลุกขนพองไป และที่น่ากลัวก็คือ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับโรงแรมหรูที่ราคาแพงระยิบด้วย

 

ความไม่มั่นใจในความสะอาดของสิ่งของต่างๆ ในห้องพักโรงแรมนี่แหละที่ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะปรับพฤติกรรมบางอย่างของตัวเอง อย่างฉันก็จะไม่จับรีโมตทีวีในห้องพักโรงแรมเลยถ้าไม่จำเป็น บางคนก็จะพกผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หรือผ้าเช็ดตัวของตัวเองไปด้วยเสมอ

แต่เราอาจจะวางใจไปได้บ้าง ถ้าหากว่ามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมการรักษาความสะอาดของห้องพักในโรงแรม

บริการซักรีดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน คิดค้นระบบไฮเทคที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ด้วยการติดตั้งไมโครชิพเอาไว้ตามผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว และผ้าห่ม

อ่านข่าวแว้บแรกก็อาจจะมีงงๆ กันบ้างว่าจะติดตั้งไมโครชิพเอาไว้ที่ผ้าปูที่นอนทำไม และอาจจะทำให้หวั่นๆ ได้ว่าเราจะถูกล้วงข้อมูลความเป็นส่วนตัวไปหรือเปล่า

แต่จุดประสงค์ของการฝังไมโครชิพลงไปกับสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ก็คือการที่แขกที่เข้าพักในโรงแรมจะได้สามารถหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาสแกน QR Code ที่อยู่ในชิพแล้วดูว่าของแต่ละชิ้นได้รับการซักทำความสะอาดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

ชิพที่บริษัทใช้เป็นชิพกันน้ำที่ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ถึง 180 องศา และผ่านการซักได้ถึง 200 ครั้ง บริษัทแห่งนี้รับหน้าที่ซักรีดให้กับโรงแรมหลายๆ แห่งในเมือง

ดังนั้นก็จะใช้เทคโนโลยีนี้กับโรงแรมทุกแห่งที่เป็นลูกค้า

 

พอเป็นข่าวออกมา คนจีนก็ดีอกดีใจกันใหญ่ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์มากๆ และมองว่ามันจะสามารถช่วยกอบกู้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของโรงแรมจีนที่มักจะตกเป็นข่าวหรืออยู่ในคลิปเปิดโปงความไร้อนามัยที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น

ในขณะเดียวกันก็มีบางคนที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าระบบนี้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าหากว่า QR Code เกิดเสียหาย หรือข้อมูลในชิพถูกดัดแปลงล่ะ ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ มีประโยชน์อะไรที่จะรู้ว่าผ้าปูเตียงถูกซักมากี่ครั้งแล้วหรือซักครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ถ้าหากว่าข้อมูลไม่ได้บอกว่าแล้วเปลี่ยนผ้าปูที่นอนหรือยังตั้งแต่แขกคนก่อนหน้าเช็กเอาต์ออกไป

ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน

 

เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้ข้อมูลที่ครั้งหนึ่งผู้ใช้อย่างเราไม่เคยได้ล่วงรู้กลายเป็นข้อมูลเปิดที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่กับอุตสาหกรรมอาหาร ผู้บริโภคอย่างเราก็มักจะอยากรู้ว่าที่มาที่ไปของมันคืออะไร มะเขือเทศลูกนี้ปลูกที่ไหน ใครปลูก ปลูกตั้งแต่เมื่อไหร่ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง ออแกนิกส์จริงหรือไม่

หรือกาแฟหอมกรุ่นที่เพิ่งจะเสิร์ฟให้เรา ที่มาของเมล็ดกาแฟมาจากการค้าขายอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า ผู้ปลูกขายได้เงินเท่าไหร่ คุณภาพเป็นอย่างไร ฯลฯ

ไปจนถึงข้อมูลสุขภาพ ที่แต่ก่อนเราก็คงไม่สามารถมานั่งเก็บเองได้ว่าอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยของเราอยู่ที่เท่าไหร่ เดินไปแล้วกี่ก้าว เมื่อคืนนอนหลับลึกได้กี่ชั่วโมง คลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นปกติดีอยู่หรือเปล่า ข้อมูลทั้งหมดนี้เราสามารถเก็บได้ด้วยอุปกรณ์สวมใส่ได้ที่ราคาไม่แพง

หรือข้อมูลสุขภาพของเราเองแท้ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายๆ เพราะถูกเก็บไว้โดยโรงพยาบาล จะขอแต่ละครั้งก็มีกระบวนการขั้นตอนยุ่งยาก แต่เนื่องจากเทคโนโลยีทันสมัยขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ก็ทำให้โรงพยาบาลสมัยนี้ต้องเปิดช่องทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นประวัติการเข้ารับการรักษา ยาทั้งหมดที่เคยได้ และคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ผ่านมา

ยิ่งใครเปิดทางให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้เยอะ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการมากขึ้น

 

ย้อนกลับมาที่การสแกนเพื่อตรวจดูว่าผ้าปูที่นอนซักแล้วหรือยัง อย่างน้อยๆ ก็เป็นการให้ความอุ่นใจว่าเราในฐานะผู้บริโภคสามารถช่วยตรวจสอบกระบวนการทำความสะอาดได้ เมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องรู้ว่าคนที่อยู่ปลายทางสามารถย้อนดูข้อมูลเมื่อไหร่ก็ได้ ก็จะทำให้ระมัดระวังมากขึ้น สุดท้ายข้อมูลที่เปิดกว้างก็นำมาซึ่งความโปร่งใส

ส่วนช่องโหว่อื่นๆ ที่ยังต้องเติมให้เต็ม อย่างการที่มีคนแสดงความเป็นห่วงว่ามีข้อมูลการซักแล้วแต่ไม่ได้มีข้อมูลให้ว่าเปลี่ยนเป็นผ้าผืนใหม่ให้แล้วหรือยัง ก็เชื่อว่าโรงแรมแต่ละแห่งจะต้องนำโจทย์เรื่องนี้กลับไปคิดต่อ เพราะใครทำได้ก่อน คนนั้นก็ได้เปรียบ จะดียิ่งกว่านั้นถ้าหากว่าทำให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลการฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย

นึกถึงอนาคตที่สามารถทิ้งตัวลงบนที่นอนนิ่มๆ ของโรงแรม หรือหยิบผ้าขนหนูมาสัมผัสร่างกายโดยที่ไม่ต้องหวั่นเกรงเรื่องความสะอาด

แค่คิดก็โล่งใจแล้ว