‘โกงพันล้าน = ประหาร’ วิถีไทย เสพติดอำนาจนิยม ระวัง! ดาบคืนสนอง

เป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้งของโทษ “ประหาร” ที่ถูกใช้เป็นดาบอาญาสิทธิ์ กำราบไม่ให้ทำผิดหรือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ตั้งแต่ “ข่มขืน = ประหาร” ปรากฏขึ้นทุกครั้งที่มีข่าวการล่วงละเมิดทางเพศ และ “ฆ่าคนตายต้องประหารชีวิต” หลังมีเหตุมือมีดฆ่าชิงทรัพย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลายคดีที่มีโทษประหารชีวิต ใช่ว่าปัญหาจะหมดไป และหลายประเทศพยายามยกเลิกโทษประหาร สะท้อนว่า “การประหารชีวิต” อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาได้แท้จริง

ล่าสุดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ได้ประชุมพิจารณารายงานปฏิรูป เรื่อง “การควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง โดยมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน

แบ่งออกเป็น 4 แนวทาง

เสรี

1.การปฏิรูปการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านระบบรัฐสภา เสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ เพื่อคัดเลือกกระทู้ถามที่มีความสำคัญและเป็นปัญหาที่ต้องรับการแก้ไขในระดับการบริหารราชการแผ่นดินก่อนเข้าสู่การบรรจุในระเบียบวาระ

2. การปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้ปรับกระบวนการสรรหา ซึ่งตามร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีตัวแทนจากองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาด้วย โดยต้องกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกำหนดบุคคลไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อความโปร่งใสการสรรหาได้

3. การปฏิรูปการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน เสนอให้มีการส่งเสริมให้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภาครัฐ สนับสนุนให้มีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. … และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … ที่ สปท. ได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว

4. การปฏิรูปการควบคุมและการตรวจสอบข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐ เสนอให้ใช้แนวทางเดียวกับการตรวจสอบฝ่ายการเมือง พร้อมกับเสนอให้ปรับอัตราการลงโทษผู้ที่กระทำความผิดในคดีทุจริต

คดีที่สร้างความเสียหายมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี, มูลค่าเกิน 1 ล้านบาทถึง 10 ล้านบาท ให้จำคุก 10 ปี, มูลค่าเกิน 10 ล้านบาทถึง 100 ล้านบาท จำคุก 20 ปี, มูลค่าเกิน 100 ล้านบาทถึง 1,000 ล้านบาท ให้จำคุกตลอดชีวิต และมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต

“การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาร้ายแรง กัดกร่อนประเทศมานาน ที่เสนอไม่ได้หมายความว่าจะไปลงโทษใคร เพียงแต่เสนอให้โทษแรง ให้คนเกรงกลัว ไม่กระทำความผิด เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้มีเจตนาร้ายไปฆ่าหรือให้ใครต้องเสียชีวิต แต่เป็นการป้องกันปัญหาใหญ่คอร์รัปชั่น ซึ่งคนที่จะเกินพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ก็มีอยู่ไม่กี่คน” นายเสรี กล่าว

นายวันชัย สอนศิริ (แฟ้มภาพ)

ด้าน นายวันชัย สอนศิริ สปท. มองว่า เพื่อให้การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร การตั้งกระทู้ถามมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำมาทำลายทางการเมือง ต้องมีการปฏิรูปการตั้งกระทู้ถาม โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีการกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจนให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มาตอบตามกรอบระยะเวลา หากไม่มาให้มีมาตรการลงโทษ

พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการของรัฐบาลตามกระทู้ถามว่ามีการดำเนินการคืบหน้ามากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ข้อมูลหลักฐานที่นำมาอภิปรายต้องเป็นข้อมูลผูกมัดนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี เมื่อข้อมูลส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

หากข้อเสนอของนายวันชัยผ่านจริง จะไม่ได้คุมเพียงการงบประมาณหรือทำให้รัฐเสียหายเท่าใด แต่จะคุมไปถึงบทบาทในสภาของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทั้งการควบคุมกระทู้ถามและคำตอบของกระทู้ถาม ที่จะต้องนำไปแก้ไขได้จริง

สะท้อนฐานวิธีคิดที่มองว่าการเมือง คือเรื่อง “ปาหี่” นั่นเอง

แฟ้มภาพ กระนั้นบุคคลสำคัญในรัฐบาลอย่าง นายวิษณุ เครืองาม ออกมาติงถึงข้อเสนอโทษ “ประหารชีวิต” เพราะกระแสโลกไม่ต้องการให้มีการบังคับใช้โทษนี้

อีกทั้งไทยได้รับปากกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ว่า เราจะไม่เลิกโทษประหารชีวิตในทันที แต่อะไรที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ จะพยายามแก้กฎหมายให้มีทางเลือกอื่น หรือจำคุกตลอดชีวิต อีกทั้งอะไรที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต จะกำหนดโทษจำคุกเป็นจำนวนปีไป

“ในกรณีที่เป็นกฎหมายใหม่ เราจะพยายามไม่เขียนให้มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือถ้ามีโทษประหารชีวิต เราจะระบุไว้ว่า “หรือ” เพื่อให้เป็นทางเลือก เพราะมันมีมาตรการที่เล่นงานหรือจัดการคนที่ทุจริตเกินพันล้านบาทหลายมาตรการ ทั้งนี้ การออกกฎหมายมีทางหลายทาง ไม่ใช่จะเอาโทษหนักอย่างเดียว เพราะบางทีอาจจะใช้ไม่ได้ผลก็ได้ เมื่อกฎหมายมาถึงรัฐบาลจะต้องดูอีกที” นายวิษณุ กล่าว

เท่ากับเป็นเผือกร้อนให้รัฐบาลทันที ในห้วงเวลาที่รัฐบาลต้องการจะ “ปรองดอง” กับกลุ่มการเมืองในอดีตและพรรคการเมือง ให้มาแลกเปลี่ยนความเห็น คงเป็นประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กฎระเบียบในรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ และกฎหมายลูก

แต่ข้อเสนอระเบียบที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ทั้งการปรองดอง ข้อเสนอควบคุมนักการเมืองในอนาคต ก็สะท้อนว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่นอนตามโรดแม็ป หลังนายกรัฐมนตรีออกมายืนยันแล้วว่า จะเลือกตั้ง-หาเสียงได้ในช่วงปลายปี 2560 หลังพระราชพิธีสำคัญของประเทศ และจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ช่วงต้นปี 2561 นั่นเอง

 

อดีตนักการเมืองเก่า อย่าง นายกษิต ภิรมย์ สปท. ได้โต้แย้ง รับไม่ได้กับข้อเสนอแนะที่ให้ประหารชีวิต เพราะนับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงโทษเพื่อนมนุษย์อย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต

เป็นอีกคำโต้แย้งที่น่าสนใจ เพราะในสังคมไทยที่ยืนยันว่าเป็นสังคมพุทธศาสนา แต่กลับสนับสนุนโทษ “ประหารชีวิต” เป็นยาวิเศษแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงวิธีคิดในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น หลายคนนิยมการใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหา ก็ปรากฏชัดว่าหลายปัญหาไม่ได้หมดไปทันที ต้องอาศัยเวลาและกฎหมาย กลไกอื่นๆ ร่วมด้วย

ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายหากเกิดขึ้นในอนาคตจริง ต้องบังคับใช้อย่างเสมอภาคกับทุกคน เพราะกฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่โทษรุนแรงเท่าใด แต่อยู่ที่ถูกบังคับใช้อย่างไรมากกว่า

โดยเฉพาะในยุค คสช. ที่เข้ามาเพื่อปฏิรูปเรื่องต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการต่อต้านการทุจริต แต่กองทัพยังมีคำถามที่สังคมยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นรถถัง หรือเรือดำน้ำ รวมถึงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่ยังคงเป็นเรื่องที่รอความชัดเจนต่อไป

เพราะ “โกงเกินพันล้าน ให้ประหาร” ก็ใช้กับกองทัพด้วยเช่นกัน!!