คนมองหนัง | “ลี ชาตะเมธีกุล” อีกหนึ่งคนไทย ที่ได้เป็น “กรรมการออสการ์”

คนมองหนัง

“ลีชาตะเมธีกุล” นักลำดับภาพและผู้เชี่ยวชาญด้านงานโพสต์โปรดักชั่นคนสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าไปเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา

ส่งผลให้เขามีสถานะเป็นกรรมการผู้มีสิทธิ์โหวตคัดเลือก/ตัดสินผลงานที่จะได้รับรางวัลออสการ์ในทันที

หนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกันผู้นี้ เริ่มต้นศึกษาด้านภาพยนตร์ที่นิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้ (เอ็นวายยู) ทว่า เขากลับไม่ชอบวิถีทางของสถาบันดังกล่าว ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนการสอนไปที่การผลิตหนังแนว “เล่าเรื่อง” มากนัก

ต่อมา ลีจึงย้ายไปเป็นนักเรียนหนังที่แฮมป์เชียร์ คอลเลจ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตภาพยนตร์แนว “ทดลอง”

ลีเริ่มปรากฏบทบาท-ตัวตนในแวดวงภาพยนตร์ไทย เมื่อเขาทำหนังสั้นเรื่อง “เมืองมายา..กรุงธิดา” ถ่ายทอดเรื่องราวของหนุ่มลูกครึ่งที่ถือกำเนิดในยุคสงครามเย็น จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สายรัตน์ เปสตันยี ในเทศกาลภาพยนตร์สั้น (โดยมูลนิธิหนังไทย) ประจำปี 2543

หลังจากนั้น เขาก็รับงานตัดต่อหรือลำดับภาพยนตร์อย่างเต็มตัว ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายขึ้นไปควบคุมดูแลกระบวนการโพสต์โปรดักชั่นในภาพรวม

ลีถือเป็นมือตัดต่อหนังผู้ยืดหยุ่น หากพิจารณารายชื่อภาพยนตร์ไทยหลากหลายแนวที่เขาเคยลำดับภาพให้ ซึ่งมีทั้งหนังเมนสตรีมและหนังอินดี้/อาร์ตเฮาส์ อาทิ

สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด!, แสงศตวรรษ, ลุงบุญมีระลึกชาติ และ รักที่ขอนแก่น (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

วันเดอร์ฟูลทาวน์ เมืองเหงาซ่อนรัก (อาทิตย์ อัสสรัตน์), คืนไร้เงา (พิมพกา โตวิระ), เจ้านกกระจอก และ ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์)

Ten Years Thailand (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ จุฬญาณนนท์ ศิริผล)

สยิว (คงเดช จาตุรันต์รัศมี และ เกียรติ ศงสนันทน์), เฉิ่ม และ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (คงเดช จาตุรันต์รัศมี)

โรงแรมต่างดาว (ปราบดา หยุ่น), มะลิลา (อนุชา บุญยวรรธนะ), นคร-สวรรค์ (พวงสร้อย อักษรสว่าง), กระเบนราหู (พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง)

ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (บรรจง ปิสัญธนะกูล และ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ), รักแห่งสยาม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) และ นาคี 2 (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง)

ตลอดจนโปรเจ็กต์ต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในเมืองไทย เช่น ป๊อปอาย มายเฟรนด์ (เคิร์สเตน ธาน) และ The Cave (ทอม วอลเลอร์) หนังว่าด้วยกรณีการช่วยเหลือชีวิตทีมหมูป่าฯ ในถ้ำหลวง ที่กำลังจะเข้าฉาย

นอกจากนี้ ลียังมีสถานะเป็นนักตัดต่อภาพยนตร์ฝีมือดีลำดับต้นๆ ของทวีปเอเชีย เมื่อเขาเคยได้รับรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจาก “เอเชียน ฟิล์ม อวอร์ดส์” ถึงสามหน จากหนังไทยเรื่องแสงศตวรรษ, หนังมาเลเซียเรื่อง Karaoke (คริส ชานฟุยชอง) และหนังสิงคโปร์เรื่อง Apprentice (บูจุนเฟิง – เรื่องนี้ลีมีเครดิตการตัดต่อร่วมกับนาตาลี โซห์)

ปัจจุบัน ลีมีอีกหนึ่งสถานภาพเป็น “โพสต์โปรดักชั่น ซูเปอร์ไวเซอร์” ซึ่งรับหน้าที่ดูแลกระบวนการหลังการถ่ายทำของหนังไทย, หนังอาเซียน, หนังตะวันออกกลาง และหนังยุโรป

โดยมีบริษัท “ไวท์ไลท์สตูดิโอ” ซึ่งเขาและเพื่อนๆ ในวงการ ร่วมหุ้นกันก่อตั้งขึ้น เป็นฐานที่มั่นสำคัญ

หนังเรื่องแรกที่ลีดูแลกระบวนการหลังการถ่ายทำ คือ คำพิพากษาของมหาสมุทร (เป็นเอก รัตนเรือง) เขายังรับผิดชอบงานด้านนี้ในหนังยุคหลังของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้แก่ ลุงบุญมีระลึกชาติ และ รักที่ขอนแก่น

แต่หนังที่โด่งดังสุดๆ ซึ่งลีรับดูแลงานโพสต์โปรดักชั่นให้ เห็นจะเป็นภาพยนตร์ดีกรีชิงรางวัลออสการ์เรื่อง Call Me by Your Name (ลูกา กัวดาญีโน)

ทั้งนี้ ลี ชาตะเมธีกุล เคยมีผลงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวอยู่หนึ่งเรื่อง คือ “ภวังค์รัก” (Concrete Clouds) ซึ่งกล่าวถึงชีวิตเคว้งคว้างของหนุ่มสาวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

โดยหนังได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ และสตาร์พิคส์ ไทยฟิล์ม อวอร์ดส์ ประจำปี 2557

อย่างไรก็ดี ลีเคยกล่าวเอาไว้ขณะเข้าร่วมกิจกรรมมาสเตอร์คลาส “ชั้นครู 5 การตัดต่อภาพยนตร์สไตล์ลี ชาตะเมธีกุล” ที่จัดโดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อปี 2555 ว่า

“จริงๆ พอกำกับหนังเองแล้วต้องมานั่งตัดหนังตัวเอง มันก็ได้คำตอบอันหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือว่า มีความสุขกับการตัดต่อมาก เรารักการตัดต่อหนัง คือมันเป็นอะไรก็ได้ การที่เอาภาพสองภาพมาต่อกัน แล้วความรู้สึกที่มันได้จากตรงนั้น กับการต้องแก้ปัญหา มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกมีความสุขกับมัน

“ผู้กำกับฯ บางคนจะมีความสุขในการออกกอง ในการถ่ายภาพ ในการลองถ่ายภาพ แล้วช่วงตัดต่อมันเป็นช่วงที่ทรมาน

“แต่สำหรับเรามันกลับกัน ช่วงถ่ายทำนี่ทรมานมาก พอช่วงตัดต่อนี่มันจะไม่มีคน 30 คนมารอเราแล้ว เราอยู่คนเดียวในห้อง มันเริ่มมีความสบาย ความสนุกกับงานมันก็จะตามมา”

ลี ชาตะเมธีกุล คือคนเชื้อสายไทยลำดับที่สี่ ซึ่งได้รับเชิญเป็นกรรมการตัดสินรางวัลออสการ์ ถัดจากอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับภาพยนตร์), สุทธิรัตน์ ลาลาภ (ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย) และ สยมภู มุกดีพร้อม (ผู้กำกับภาพ) ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของ “ไวท์ไลท์สตูดิโอ” เช่นเดียวกัน