มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์เพื่อไทย กระจายกำลัง…สร้างมิตรร่วมรบ

มุกดา สุวรรณชาติ

21 ปี จากไทยรักไทย ถูก…ยุบ…ทุบ…ชุบ…
จนกลายเป็นเพื่อไทย

การเลือกตั้งปี 2544 ทำให้พรรคไทยรักไทย ซึ่งตั้งขึ้นมาได้ 2 ปี คล้ายดอกบัวพ้นน้ำสีชมพูเข้ม ชูดอกขึ้นมากลางบึงแบบกะทันหัน สร้างผลงานเป็นที่ชื่นชม ผู้คนก็มองว่าดอกบัวนี้สวยงาม นำมาเป็นอาหารได้ ทำเป็นยาได้

มาถึงการเลือกตั้งปี 2548 ดอกบัวสีชมพูเข้มโผล่ขึ้นมาอีกมากมาย คราวนี้พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.ถึง 377 คน คิดเป็น 75% ของทั้งสภาผู้แทนฯ 500 คนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินครึ่งสภาผู้แทนฯ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

คราวนี้ถือว่าได้มากเกินไปแล้วเพราะจำนวนเขต 400 เขต ไทยรักไทยชนะไปถึง 310 ประชาธิปัตย์ได้ 70 เขต ชาติไทยได้ 18 เขต มหาชน 2 เขต นอกนั้นไม่มีพรรคใดได้เลย

คนบางกลุ่มเริ่มมองว่าดอกบัวนี้อาจมีอันตรายต่อพวกเขา จึงมีคนพยายามป่าวร้องว่า …เอาไปดมก็ป่วย เอาไปกินก็ตาย บัวนี้ต้องถูกทำลาย …ดอกบัวสีชมพูเข้มก็ถูกมองว่าเป็นสีเลือด หลังชัยชนะได้เพียงปีกว่าก็ถูกรัฐประหาร ตัวนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ

ไทยรักไทยถูกยุบพรรค 2 ครั้ง รัฐประหาร 2 ครั้ง ถูกไฟเผา ถูกค้อนทุบ ชุบน้ำ จนกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย

สภาพของพรรคเหมือนอยู่ในสงครามยืดเยื้อ ที่ดำเนินการต่อสู้ทางการศึกหลายครั้ง

และแนวทางการต่อสู้ยังคงยึดมั่นในระบบรัฐสภาเป็นหลัก เลือกสมรภูมิการเลือกตั้ง ที่คิดว่าไม่มีใครชนะ

แต่คู่ต่อสู้เป็นกลุ่มอำนาจเก่าผลัดเปลี่ยนเวียนกันเข้ามาสู้

และไม่ได้ใช้แต่แนวทางรัฐสภาเท่านั้น พวกเขาใช้ทั้งการยึดอำนาจด้วยอาวุธ มีตุลาการภิวัฒน์ มีองค์กรอิสระ ใช้ม็อบเข้ามากดดัน

แต่การจะเอาชนะพรรคทักษิณได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครั้งสุดท้ายการล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงต้องใช้ทั้งม็อบ กปปส. ตุลาการภิวัฒน์และการรัฐประหาร ทั้ง 3 อย่าง จึงทำได้สำเร็จในปี 2557

แต่ถึงกระนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งหลังจากดึงเวลาไป 5 ปี ในเดือนมีนาคม 2562 พรรคเพื่อไทยก็ยังได้ ส.ส. มากเป็นที่ 1 แต่คะแนนรวมเป็นรองพรรคพลังประชารัฐเล็กน้อยได้แค่ 7.9 ล้านน้อยกว่าพลังประชารัฐ 5 แสนคะแนน

เพราะเพื่อไทยส่ง ส.ส.ลงแค่ 250 เขต ชนะ 137 เขต (ไม่ได้ส่งครบทั้งประเทศ 350 เขต)

พรรคทักษิณที่หลังจากเลือกตั้งเคยได้เป็นรัฐบาลตลอด แต่ครั้งนี้เป็นฝ่ายค้าน

มีคนวิจารณ์ไปหลายแบบ บ้างก็ว่าถึงเวลาถอยแล้ว เลิกแล้ว บ้างก็ว่าต้องปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ทางเดินในอนาคตของพรรคเพื่อไทยเป็นที่จับตามองของผู้สนใจการเมืองซึ่งมักจะนำไปผูกกับการตัดสินใจของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การวิเคราะห์แนวทางเดินพรรคเพื่อไทย ต้องดูมวลชนซึ่งเป็นฐานเสียงและติดตามพรรคมานานเป็นหลัก จะต้องวิเคราะห์ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันซึ่งคู่แข่งการเมือง แนวร่วมทางการเมือง เพราะสถานการณ์แวดล้อมอื่นๆ ได้เปลี่ยนไปมาก

 

การสนับสนุนของมวลชน
เปลี่ยนไปแค่ไหน

ดูจากคะแนนเสียง ในชื่อไทยรักไทย เลือกตั้งครั้งแรก 2544 ตาม รธน.ฉบับ 2540 ได้ 11.6 ล้านคะแนน ชนะ 200 เขต จาก 400 เขต ได้ ส.ส. 248 คน

ดูคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง 2548 ได้ 14 ล้าน ชนะ 310 เขต จาก 400 เขต ได้ ส.ส. 377 คน มากถึง 3 ใน 4 ของสภาผู้แทนฯ แต่จะพบว่าคะแนนเสียงที่ได้เกินครึ่งขึ้นมาเพียงเล็กน้อย คิดเป็น 56.4 เปอร์เซ็นต์

การเลือกตั้งในชื่อพลังประชาชน เพราะหลังรัฐประหาร 2549 ถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ์กรรมการ 111 คน มีการเลือกตั้งปลายปี 2550 ตาม รธน. 2550 ที่ คมช.สั่งร่างใหม่ ก็ยังได้คะแนน 12.3 ล้าน ชนะ 199 เขต จาก 400 เขต ได้ ส.ส. 233 คน

การเลือกตั้งในชื่อเพื่อไทย เพราะปลายปี 2551 มีตุลาการภิวัฒน์ ยุบพรรคพลังประชาชน ตัดสิทธิ์กรรมการอีก 37 คน หลังการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ก็มีการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ 15.7 ล้านคะแนน ชนะเขต 204 เขต จาก 375 เขต ได้ ส.ส. 265 คน เกินครึ่งสภา

หลังตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร 2557 และปกครองโดย คสช.อีก 5 ปี เปลี่ยน รธน.ใหม่ เป็นฉบับ 2560 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ เป็นบัตรใบเดียว มีเลือกตั้งมีนาคม 2562 เพื่อไทยได้ 7.9 ล้าน ชนะเขต 137 เขต จากที่ส่ง 250 เขต (มีเขตเลือกตั้ง 350 เขต) ได้ ส.ส.รวม 137 (ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้เลย ตามระบบเลือกตั้งใหม่)

แสดงว่าการสนับสนุนของมวลชนดีมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงการเลือกครั้งล่าสุด ถือว่ามีเสียงหนุนหายไปจริงๆ

 

คะแนนของเพื่อไทยหายไปเท่าไร
ไปไหน? ทำไม?

ถ้ามองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาล่าสุดจะพบว่า คะแนนของเพื่อไทยจากปี 2554 ซึ่งได้ 15.7 ล้าน สูงที่สุด มาปี 2562 เหลือเพียง 7.9 ล้าน น้อยที่สุด การหายไปของคะแนน 7.8 ล้าน พอมีเหตุผลมาอธิบาย

1. เพราะเพื่อไทยปรับยุทธวิธีตามกฎหมาย ที่เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งใหม่ เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่กำหนดให้พรรคที่ชนะ ส.ส.เขตเยอะจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย ดังนั้น จึงมีคนออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่ เพื่อไทยส่งสมัครเพียง 250 เขต มิได้ 350 เขตเต็มทั้งประเทศ เพื่อไม่ชนกับพรรคแนวร่วม

100 เขตที่ไม่ได้ส่งนั้นแม้จะเป็นเขตที่อ่อน แต่ก็น่าจะสามารถเก็บคะแนนได้โดยรวมประมาณ 2.8 ล้านคะแนน (ประมาณโดยใช้ตัวเลขที่ไทยรักษาชาติคาดการณ์ก่อนถูกยุบพรรค)

เมื่อพรรคไทยรักษาชาติยุบพรรคและเพื่อไทยก็ไม่ได้ลงสู้ใน 100 เขตที่เหลือจึงเกิดช่องว่าง ฐานคะแนนเสียงเดิมก็ไหลไปยังพรรคแนวร่วมที่มีอุดมการณ์ก้าวหน้า

เช่น พรรคอนาคตใหม่ซึ่งลงเต็มเกือบ 350 เขต และกำลังมีกระแสความนิยมสูง ดังนั้น คะแนน 2.8 ล้านจึงไหลเข้าไปสู่พรรคอนาคตใหม่ มากกว่าไหลไปพรรคอื่น เช่น เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ ฯลฯ ไม่มีใครรู้ชัดว่าคะแนนจากช่องว่างของการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ไหลไปที่ใคร จำนวนเท่าใด

2. มีคะแนนที่หายไปในเขตที่พรรคเพื่อไทยส่งเลือกตั้ง 250 เขต จริง น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคะแนน ซึ่งทั้งหมดของจำนวนคะแนนนี้อนาคตใหม่น่าจะแบ่งไปได้มากที่สุดถึง 2 ล้าน เนื่องจากเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน เมื่อดูจากคะแนน กทม. หรือเมืองใหญ่

แม้เชื่อว่าการย้ายข้างทางอุดมการณ์ของคนที่มาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีน้อยมาก แต่จะมีส่วนหนึ่งที่เคยเลือก เพราะเคยได้ประโยชน์จากสวัสดิการจากการแจก การให้ ก็ติดตามหัวคะแนนและผู้สมัครที่ย้ายพรรคไปลงพลังประชารัฐและภูมิใจไทย คะแนนตรงนี้น่าจะหายไปไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านคะแนน (ภูมิใจไทยก็เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้าน)

ส่วนที่เหลือก็กระจายไปยังพรรคที่ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวร่วมฝ่ายค้าน เช่น เสรีรวมไทย เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ

ถ้าพรรคเพื่อไทยจะใช้แนวทางกระจายกำลังรบเป็นแนวกว้าง ก็ไม่ต้องเสียดายฐานคะแนนเดิม เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ยังเป็นแนวร่วมในสงครามยืดเยื้อ

 

ตัวเลขคะแนนการเลือกตั้ง 2562
บอกทิศทางในอนาคต

1.การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญและวิธีการเลือกตั้ง มีผลต่อพรรคใหญ่เดิม เมื่อทำควบกับการลดเขตลงจาก 400 เขตเหลือ 375 และลดอีก เหลือ 350 ทั้งมีการเพิ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้นจาก 125 เป็น 150 เพื่อให้สอดคล้องกับการที่จะให้พรรคที่แพ้จากเขตได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น

บีบให้พรรคทักษิณที่ชนะเลือกตั้งในปี 2554 และ 2562 ไม่สามารถทำคะแนนได้เกิน 50% อีกแล้ว ถ้าอยากได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องกระจายกำลัง นี่เป็น รธน.ที่บังคับให้จัดสรรปันส่วนคะแนน และต้องตั้งรัฐบาลผสมอย่างแท้จริง และจะทำให้กลุ่ม ก๊วน แก๊ง สามารถต่อรองในการบริหารบ้านเมืองได้ วงจรที่เราด่ามานาน ได้หวนกลับมาอีกครั้ง

ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 แทบเป็นไปไม่ได้ ผู้ที่เสียประโยชน์จะต้านสุดแรง

2. ถ้าดูสภาพแวดล้อมทางการเมืองจากนี้ไป โอกาสที่พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้คะแนนถึง 1 ใน 3 คือ 33% ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็น 2 ขั้วเหมือน 10 ปีที่แล้ว

การเลือกตั้งในปี 2562 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และสิ่งแวดล้อมทางการเมืองใหม่ลักษณะ 2 ขั้วการเมืองได้เปลี่ยนไปเรียกว่าศึกสามก๊ก

คือพลังประชารัฐได้คะแนนสูงสุดแต่ก็ได้เพียง 23.7% เพื่อไทยรองลงมาได้ 22.2% อนาคตใหม่ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นกลุ่มที่ 4 ก็ตามมาด้วยคะแนน 17.6% ในขณะที่ประชาธิปัตย์หล่นหายไปเหลือเพียง 11.1% เท่านั้น ใกล้เคียงกับภูมิใจไทยซึ่งทำคะแนนสูงขึ้น ครั้งนี้ได้ถึง 10.5% พรรคเล็กอย่างพรรคชาติไทยพัฒนาได้เพียง 2.2% นอกนั้นก็จะได้ไม่ถึง 1%

โดยรูปแบบนี้สถานการณ์การเมืองในครั้งหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง จากสามก๊กในปี 2562 จะกลายเป็น 4-5 ก๊ก ซึ่งมาคิดดูคะแนน จะไม่มีใครครอบครองเสียงแบบเด็ดขาด การต่อสู้ช่วงชิงในครั้งหน้าจะมีการตัดคะแนนกันเอง

การเลือกยุทธวิธีของเพื่อไทย ที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า (ถ้า รธน.2560 และกฎหมายเลือกตั้งไม่ได้แก้ไข) พรรคเพื่อไทยคงต้องใช้วิธีลดขนาดพรรคลง หนุนพรรคแนวเดียวกันอย่างน้อย 2 พรรค มาแบ่งภาระการศึก ซึ่งคงไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ที่จะต้องทั้งร่วมกันค้าน และสู้กันตอนหาเสียง

 

เรื่องที่คนสนใจ…ทักษิณถอยหรือไม่

เมื่อยุทธศาสตร์และยุทธวิธีถูกปรับ ทักษิณก็สามารถปรับบทบาทตัวเองได้

ปัญหานี้ทีมงานวิเคราะห์เจาะทั้งข้อมูลและวิเคราะห์ถึงสภาพความเป็นไปได้จริงว่า หลังทำศึกมาหลายครั้งในสงครามยืดเยื้อ ทักษิณและครอบครัวเองก็พบว่าแม้ได้รับชัยชนะในศึกเลือกตั้งทุกครั้ง แต่ก็จะถูกอำนาจที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และอำนาจที่ประชาชนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาจัดการ ทำให้เป็นคดีความ และจะต้องแพ้ทุกคดี

ในขณะที่อีกฝ่ายสามารถหลุดรอดไปได้ ตั้งแต่ไม่สั่งฟ้อง กันไว้เป็นพยาน ฟ้องไม่ทัน คดีหมดอายุความ ฯลฯ

แต่มีความจำเป็นต้องดำรงพรรคการเมืองไว้เหมือนการศึกที่ประจันหน้ากัน เมื่อต้องการถอยไม่สามารถหันหลังกลับและยกกำลังพลจำนวนมากเดินกลับไปได้ง่ายๆ และจะต้องมียุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการถอยว่าจะจัดทำอย่างไร ไปทางทิศใด

การถอยที่ดีที่สุดและปลอดภัย ยังต้องมีกองกำลังที่เข้มแข็งคอยระวังหลังอยู่เสมอและพร้อมที่จะย้อนกลับมาต่อสู้ได้

ถ้าเห็นโอกาสอาจย้อนกลับมาทำศึกครั้งใหม่ในโอกาสหน้าเพราะการศึกสงครามยืดเยื้อมิได้มีเพียงครั้งเดียว

ดังนั้น ในสภาพที่ทั้งตัวเองและคนรอบข้างได้รับความเจ็บปวดจากการต่อสู้ติดต่อกันมาอย่างยาวนานและความเดือดร้อนขยายไปยังคนอื่นๆ ช่วงเวลานี้เหมาะที่สุดที่จะใช้การรบแบบถนอมตัว กระจายกำลัง ประหยัดเสบียง อาวุธ การตั้งกำลังยันไว้หาแนวร่วมมาช่วย นี่จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ แม้ ส.ส.น้อยลงก็ไม่เป็นไร เพราะประเมินแล้วว่า รัฐธรรมนูญแบบนี้ยังไงก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล เป็นก็ทำงานลำบาก การปรับองค์กรของพรรคก็ต้องทำเท่าที่มีบุคลากรที่วางใจได้ พอมีฝีมือ รู้สถานการณ์

การปรับองค์กรให้คอยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จึงจะต้องเปิดทางกว้างให้คนเข้าออกสะดวกหมายความว่าใครอยากเข้ามาก็ยังรับ ใครอยากออกไปทำงานเป็นแนวร่วม เป็นพรรคแนวร่วมหรือไปลงสมัครท้องถิ่น

ก็ต้องยินดี ไม่ต้องติดคำว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทยอีกแล้ว ต่อให้ไปตั้งพรรคใหม่ก็ไม่มีปัญหา ขอให้เป็นแนวร่วมกันแบบแนวร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค ก็ใช้ได้

แต่…ยุทธศาสตร์กระจายกำลัง…สร้างแนวร่วม ผู้บริหาร และ ส.ส. ต้องใจกว้างพอ การต่อสู้จึงจะไม่โดดเดี่ยว