“ปัญหา” เมื่อรู้ก็แก้ได้ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ที่นุ่มนวลกว่าอำนาจบาตรใหญ่

ที่ผ่านมามีอยู่ข้อสรุปหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นมีใครปฏิเสธ

“ประเทศไทยเรามีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องคนเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนต้วและพวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม”

การเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นแก่นแกนทางความคิด ทำให้คนในสังคมมีพฤติกรรมที่เสื่อมทรามลง เกิดสภาวการณ์ในทางลบต่อความดีงามของสังคมขึ้นในหลากหลายมิติ เกิดการแข่งขันช่วงชิงโดยไม่ค่อยเลือกวิธีการ ทำให้เกิดพฤติกรรมทำร้าย ทำลายเพื่อนร่วมสังคม

ปรากฏการณ์ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น” กลายเป็นพฤติกรรมปกติของคนทั่วไป

มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ในทุกวิถีทาง เริ่มจากการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ออกกฎหมายเอาเป็นเอาตายกับคนที่ขาดสำนึกมากขึ้น

กระทั่งกระแสที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อนักการเมือง ก็ดูเหมือนจะอาศัยการทำให้ภาพของนักการเมืองออกไปในเฉดสีของความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้

ความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ ส่วนใหญ่ถูกประเมินว่าเริ่มต้นจากการขาดจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม หลักคิดของกระบวณการแก้ปัญหา จะต้องเริ่มต้น “รู้ว่าปัญหาคืออะไรก่อน”

ประชาชนไทยส่วนใหญ่คิดว่าอะไรคือปัญหาเชิงจริยธรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

อาจจะเป็นเพราะต้องการเห็นอะไรบางอย่าง “ศูนย์คุณธรรม” ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน จึงได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจเรื่อง “สถานการณ์คุณธรรมของสังคมไทย” เป็น “นิด้าโพล” ชิ้นพิเศษขึ้นมา

ถามกันหลายเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม ในนี้ขอหยิบคำตอบคำถาม “คิดว่าอะไรคือสถานการณ์ปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม” ขึ้นมา เพื่อให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นอะไรเป็นปัญหา ตามความคิดว่า “คิดว่าปัญหาคืออะไรก็จะแก้ที่เรื่องนั้น”

ผลสำรวจชิ้นนี้แบ่งคำตอบเป็นรายภาค ทั้ง 4 ภาคของไทย

หากแบ่งปัญหาเป็นเรื่องๆ แล้วดูว่าที่ประชาชนร้อยละเท่าไรที่เห็นว่าเป็นปัญหา จะพบว่า

 

“การขาดระเบียบวินัย” คนภาคกลางร้อยละ 50.00 ภาคเหนือร้อยละ 38.60 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 70.56 ภาคใต้ร้อยละ 62.22 เห็นว่าเป็นปัญหา

“ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต” ภาคกลางร้อยละ 44.00 ภาคเหนือร้อยละ 32.80 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 50.58 ภาคใต้ร้อยละ 61.02 เห็นว่าเป็นปัญหา

“การขาดความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” ภาคกลางร้อยละ 38.20 ภาคเหนือร้อยละ 26.20 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 47.97 ภาคใต้ร้อยละ 48.78 เห็นว่าเป็นปัญหา

ถ้ามองผ่านความคิดดังกล่าว ย่อมสะท้อนว่าประชาชนทั่วประเทศสัมผัสได้ถึงต้นตอของ “การแข่งขันช่วงชิงโดยไม่เลือกวิธีการแล้ว”

ความขาดระเบียบวินัย ความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ความไม่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนความเลวร้ายที่เกิดจากความเห็นแก่ตัว

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การแก้ปัญหามีจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มองเห็นปัญหา การเติมความเข้าใจในเรื่องต้นเหตุของปัญหา ความดีงามของสังคมที่ไม่มีปัญหานี้ และวิธีการที่จะขจัดปัญหาให้หมดไป ย่อมทำได้ง่ายขึ้น

เพียงแต่ปัญหาที่สะสมมานานย่อมต้องการความใส่ใจ จึงต้องอาศัยความสามารถของผู้บริหารจัดการประเทศที่จะประคับประคองการแก้ปัญหาที่เริ่มต้นได้ไม่ยากนั้นให้ตลอดรอดฝั่งสู่ความสำเร็จ

การบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนนั้นจะต้องอาศัยศิลปะในการผสมผสาน

การใช้กฎหมายและความเข้มข้นของอำนาจ

อาจจะสำเร็จในคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกสร้างให้เคยชินที่จะมีชีวิตอยู่กับการรองรับอำนาจ

แต่สำหรับคนทั่วไปที่มีจิตสำนึกแบบเสรีชน คงต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ที่นุ่มนวลกว่าอำนาจบาตรใหญ่