จรัญ พงษ์จีน : เปิดม่าน ครม.ประยุทธ์ 2 “เปรี้ยงปร้าง” หรือ “พังพินาศ”?

จรัญ พงษ์จีน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อเวลา 17.45 น. วันที่ 16 กรกฎาคม

วันที่ “คณะรัฐมนตรีชุดใหม่” เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ถือเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า รัฐบาลชุดเก่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ “คสช.” สิ้นสุดการทำหน้าที่และบทบาทหมดลงอย่างเป็นทางการ

“ประยุทธ์ 1” อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 วันที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พร้อมผู้นำเหล่าทัพเข้ายึดอำนาจ โค่นรัฐบาลพลเรือนของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มาจากการเลือกตั้ง

เท่ากับว่า “ประชาธิปไตย” ที่ประกอบด้วย “ประชา” หมายถึงประชาชน หมู่คน “อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่ “การปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน”

“จอดำ” มืดตึ๊ดตื๋อ เพราะตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของท็อปบู๊ตเสียนานวัน “ราหูอมจันทร์” รวมเสร็จสรรพ 5 ปีกับ 2 เดือน แถมคายออกมาครึ่งเดียว เพราะนอกจากจะมี “สมาชิกสภาผู้แทนฯ” ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว “หนึ่งในสาม” มาในรูปแบบของการสรรหา ซึ่งน่าจะเรียกว่า “ลากตั้ง” มากกว่า เพราะวิธีการไม่ค่อยเวิร์กสักเท่าไหร่

“ครม.ตู่ภาค 2” จะมีเสียงสะท้อน ต่อว่าต่อขาน หนักขนาดไหน ไปได้กี่น้ำ เป็นเรื่องที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ติดตามดูชมกันต่อไป มีทั้งหมด 36 ที่นั่งเต็มอัตราศึก มีพรรคการเมืองสนับสนุน 19 พรรค มากที่สุดในโลก เสียงปริ่มน้ำ เกินครึ่งหนึ่งของ “สภาผู้แทนราษฎร” อยู่ไม่เกิน 7-8 เสียง

เรียกได้ว่า “พรรคร่วม” กะพริบตาแทบไม่ได้เลย เหลียวหลังนิดเดียว “จอด”

เสียงสนับสนุนรัฐบาลหน้าตักน้อยน่าเสียวไส้แทนเป็นทุนอยู่แล้ว ไหนยังมี “ศึกใน” ร้าวลึกขนาดหนักอีก โดยเฉพาะใน “พรรคพลังประชารัฐ”

ตอนนี้แม้จะจูบปาก “พักยก” แต่เชื่อหัวเณรเรืองได้ล่วงหน้าว่า แค่ประเดี๋ยวเดียว เงื่อนไขเก่าเคลียร์กันไป ปัจจัยใหม่ยังรออยู่อีกเพียบ

ต้นเหตุที่รอวันระเบิดใน “พปชร.” อีกเรื่อง เห็นว่าเลื่อนโปรแกรมไปเป็นปลายเดือนกรกฎาคม คือ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” ที่กุศลสร้างให้ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้อง “ลาออก” จาก ส.ส. เพื่อเลื่อน “ปาร์ตี้ลิสต์” ลำดับถัดไปขึ้นมาทำหน้าที่

 

“เพื่อนพรรคร่วม” ได้แก่ “ประชาธิปัตย์” เปิดประเด็นนำร่อง ฉายเป็นหนังตัวอย่างแล้ว ในไม่กี่วันข้างหน้า “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

จะยื่นลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เปิดทางให้ลำดับที่ 22-23 ได้แก่ “พิสิฐ ลี้อาธรรม” กับ “อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” ขึ้นมาเป็น ส.ส.ทดแทน

ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรายอื่นๆ ของ “ประชาธิปัตย์” มาจาก ส.ส.เขตเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรค ไม่จำเป็นต้องลาออก เพราะต้องเลือกตั้งซ่อมใหม่ สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ และมีความเสี่ยงไม่รู้ว่าคนของพรรคจะได้รับเลือกกลับมาหรือไม่

จะเหลือเพียงรายของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคคนเดียว ที่ไม่ต้องลาออก กันพื้นที่ไว้เพื่อทำหน้าที่ประสานงานในสภากับพรรคร่วมอื่นๆ

เช่นเดียวกับ “พรรคภูมิใจไทย” มีข่าวคลุกวงในแจ้งว่า บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะยื่นลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อกันกราวรูด

นำทีมโดย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ทรงศักดิ์ ทองศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ห้อยติ่ง “หนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคไว้เพียงหนึ่งเดียว เหมือนประชาธิปัตย์

ทีนี้ต้องตามไปดู “พรรคพลังประชารัฐ” กันมั่ง

เดิมที “พปชร.” จะชี้ขาด “บัญชีรายชื่อ” ต้องลาออกหรือไม่ในวันที่ 11 กรกฎาคม แต่กลัว “พรรคแตก” ต้องเลื่อนไปวัดดวงกันใหม่เป็นปลายเดือน

รัฐมนตรีของพรรคที่มาจาก “ปาร์ตี้ลิสต์” มี 4 คนด้วยกัน คือ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” กับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” แห่งกลุ่ม กปปส.เก่า และ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” กับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” สองพี่ใหญ่แห่งกลุ่มสามมิตร

หาก 4 ส.ส.บัญชีรายชื่อไขก๊อก 4 คนที่จะได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้แทนฯ จะประกอบด้วย ลำดับที่ 20 “พรชัย ตระกูลวรานนท์” ตามด้วย “ยุทธนา โพธสุธน-ต่อศักดิ์ อัศวเหม” และคนสุดท้ายได้แก่ “ชวน ชูจันทร์” อดีตหัวหน้าพรรค พปชร.คนแรก

ขณะที่ “บิ๊กเนม” ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกรดเอรายอื่นๆ มีบางส่วนเป็น ส.ส.เขตเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรค

โดยเฉพาะ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แกนนำของ “กลุ่มสี่กุมารทอง”

ดังที่บอกว่า พปชร.มีความ “ลักลั่น” ไม่เหมือนกับ “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” ที่หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส.ทั้งเขตเลือกตั้ง หรือบัญชีรายชื่อ

เลยเกิดสภาพ “ขาลอย” ไร้บทบาทในการประสานตอนมีภารกิจเกี่ยวกับรัฐสภา

มีความเป็นรูปธรรมตอนฟอร์มรัฐบาล หรือตอนลงมติเลือกประธานรัฐสภา กลุ่มสามมิตรของ “สมศักดิ์-สุริยะ” และกลุ่ม กปปส.เก่า ทั้ง “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” พิษสงสูงกว่าหลายเท่า

แต่กรณีที่ว่านี้ หาก พปชร.ลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้ ส.ส.ที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค ต้องลาออกจาก “บัญชีรายชื่อ” เช่นเดียวกับ “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย”

สามารถโหลดเตี้ยให้แกนนำทั้งสามกลุ่ม “สามมิตร-สี่กุมารทอง-กปปส.เก่า” ยืนระนาบเดียวกัน เสมอกันที่จุดสตาร์ต

เชื่อว่า “สี่กุมารทอง” อยากให้เงื่อนไขที่ว่านี้เกิด ขณะที่ “กลุ่มสามมิตร” และ “กปปส.เก่า” คงไม่เอ็นจอยสักเท่าไหร่

ยกนี้ห้ามตากะพริบเช่นเดียวกัน