บทวิเคราะห์ | 2 ขั้ว 4 พรรค ศึกชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” วัดใจชาวกรุงเลือกฉากการเมือง


ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่เป็นที่เรียบร้อย สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (บิ๊กตู่ 2) ที่มีพรรคร่วมรัฐบาลรวม 19 พรรค ร่วมสานต่อโรดแม็ปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 วางโครงการและนโยบายต่างๆ เอาไว้

ไทม์ไลน์ต่อไปคือ การเตรียมพร้อมการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 25-27 กรกฎาคมนี้ ซึ่ง “บิ๊กตู่” และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้ง 35 คนจะต้องเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง นั่นคือ การอภิปรายและการตรวจสอบจาก 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตามกลไกของรัฐสภา

เมื่อเสร็จสิ้นศึกอภิปรายร่างนโยบายของรัฐบาลไปแล้ว สเต็ปต่อไปทางการเมืองคือ ศึกการเลือกตั้งท้องถิ่น

ที่จะต้องรอสัญญาณจากรัฐบาลที่จะส่งผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั่งกุมบังเหียนอยู่ ให้นับหนึ่งจัดการเลือกตั้งได้เมื่อใด

คาดการณ์กันว่าศึกเลือกตั้งท้องถิ่นจะอุบัติขึ้นในห้วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ภายหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านความเห็นชอบต่อสภา และจำเป็นต้องมีกลไกจากท้องถิ่นที่จะเป็นมือไม้สำคัญของรัฐบาลไปขับเคลื่อนสร้างผลงานเป็นรูปธรรม เรียกเรตติ้งให้ ครม.บิ๊กตู่ 2 ต่อไป

ที่น่าจับตาคือ ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเปิดศึกชิงชัยกันตามฐานเสียงที่บ่งชี้ผ่านจำนวน ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.

โดยเฉพาะศึกการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในพื้นที่ กทม.ทั้ง 30 เขต พรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าป้ายได้ ส.ส.มาถึง 12 คน ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคละ 9 คน

โดยเขี่ย ส.ส.แชมป์เก่าอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถึงกับสูญพันธุ์ในสนาม กทม.

คงไม่พ้นที่ 4 พรรคดังกล่าวจะต้องเปิดศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.กันอีกครั้ง

งานนี้พรรค ปชป.จึงต้องเปิดหน้าสู้เพื่อกอบกู้คะแนนนิยมของพรรคสีฟ้าให้กลับมาครองใจชาวกรุงอีกครั้ง แม้จะต้องเฟ้นหาบุคคลระดับสเป๊กเทพ เนื้อดี พิมพ์นิยม มาสู้ศึกชิงเก้าอี้พ่อเมืองหลวงในครั้งนี้

แม้จะปล่อยชื่อ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. และอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งประกาศความรับผิดชอบลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป. หลังจากนำทัพพรรค ปชป.แพ้การเลือกตั้งอย่างหมดรูป มากอบกู้ฐานเสียงใน กทม.คืนจากพรรค พปชร.

แต่เปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้คงน้อยมาก เพราะเจ้าตัวเคยรั้งถึงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศอย่าง “นายกรัฐมนตรี” การลงมาชิงผู้ว่าฯ กทม. จึงเท่ากับเป็นการลดเกรดและศักดิ์ศรีทางการเมือง ยิ่งหากผลสรุปสุดท้ายหากพลาดพลั้งถึงแพ้ ที่ยืนทางการเมืองจะยิ่งลดน้อยลงไปอีกแน่

เพราะจะต้องเจอกับงานหินทั้งกระแสฟีเวอร์ของ “บิ๊กตู่” ที่ยังครองใจชาวกรุง

และปัญหาฐานเสียงที่ทับซ้อนกันระหว่างพรรค ปชป.กับพรรค พปชร.

นอกจากนี้ อาจจะเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัว กับกระแสข่าวที่ว่าพรรค พปชร.กำลังต่อสายทาบทาม “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กับภาพจำของฮีโร่ในการเป็นผู้นำบัญชาการเหตุการณ์ช่วย 13 เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าที่เข้าไปติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ครั้งเป็นพ่อเมืองเชียงราย เมื่อปี 2561 ที่กระแสสังคม รวมทั้งชาว กทม.บางส่วนออกเสียงเชียร์ให้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหาให้กับชาวกรุง

แม้ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” จะออกมายืนยันว่ายังไม่ได้คิดและตัดสินใจที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะยังมีอายุราชการอีกหลายปี แต่เมื่อไปเปิดดูข้อกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง โดย (3) ระบุว่า มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

เพราะ “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ จ.พะเยา จะไม่เข้าคุณสมบัติการลงรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ได้ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่กรุงเทพฯ ครบ 1 ปี

สุดท้ายก็อยู่ที่แกนนำพรรค พปชร.ว่าจะเฟ้นชื่ออื่นมาชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แทน “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์” หรือไม่ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีดีกรีและสเป๊กไม่น้อยไปกว่า “ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์”

ยิ่งเจอกับคู่แข่งที่ชื่อชั้นไม่ธรรมดาอย่างอดีตรัฐมนตรี “ทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ที่มีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะลงชิงชัยผู้ว่าฯ กทม.อย่างแน่นอน

แม้ยังไม่มีเสียงคอนเฟิร์มจาก “ชัชชาติ” ว่าจะตัดสินใจลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามของพรรค พท. เพราะยังมีสัญญาณและปัจจัยบางอย่าง รวมทั้งสปอนเซอร์ที่พร้อมสนับสนุนให้ “ชัชชาติ” ลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรค พท. จะยิ่งทำให้ภาพของ “ชัชชาติ” ดูเด่นชัด เรียกเรตติ้งจากชาว กทม.ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มีภาพการถูกครอบงำโดยผู้มีบารมีตัวจริงของพรรค พท.

กอปรกับทั้งพรรค พท.และพรรค อนค. ก็ล้วนเจอปัญหาใหญ่เรื่องฐานเสียงทับซ้อนกัน เหมือนกับพรรค พปชร.และพรรค ปชป. หากพรรค อนค.มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ส่งคนลงชิงผู้ว่าฯ กทม.แข่ง อาจต้องเจอกับปัญหา “ตัดคะแนนกันเอง” ย่อมจะไปเข้าทางคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรค พปชร. และพรรค ปชป.

งานนี้ทำเอาร้อนถึงนายใหญ่แห่งแดนไกล ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรค พท. ต้องลงมาเคลียร์กับ “ชัชชาติ” ด้วยตัวเอง เพื่อให้เจ้าตัวยอมลงชิงผู้ว่าฯ กทม.ในนามของพรรค พท.

เพราะจากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนกลายเป็นสถิติไปแล้วว่า ชาวกรุงมักจะเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากพรรคตรงข้ามกับพรรคที่เป็นรัฐบาล เพื่อมาทำหน้าที่คานอำนาจจากรัฐบาล

แต่สภาพการเมืองในปัจจุบัน พรรค พท.ก็ไม่ได้เป็นพรรคหลักที่ครองใจชาวกรุง ด้วยภาพจำทางการเมืองไม่ค่อยดีนักกับพรรค พท.

อีกทั้งยังมีพรรค อนค.ที่ครองใจคนรุ่นใหม่จะตัดคะแนนเสียงของพรรค พท.ให้ลดลงไปอีกด้วยแล้ว โอกาสที่จะเข้าป้ายคว้าเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ย่อมเจองานหิน

และหากท้ายที่สุดทั้ง 2 ขั้ว 4 พรรค คือขั้วของพรรค พปชร.และพรรค ปชป. กับขั้วของพรรค พท.และพรรค อนค. เคลียร์กันไม่จบ ส่งคนชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.กันทุกพรรค

นอกจากชื่อชั้นตัวบุคคลจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญให้คนเลือกแล้ว ยังต้องดูทิศทางการเมืองของคนกรุงเทพฯ ในเวลานั้นด้วยว่า จะเลือกผู้ว่าฯ กทม.ตามประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต

หรือจะเปิดประวัติศาสตร์การเมือง กทม.ใหม่ ด้วยการเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากพรรคที่เป็นรัฐบาล