14 ม.ค. วันเด็กแห่งชาติ ฟังเสียงสะท้อนเด็กไทย ถึงลุงตู่…

กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติจัดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2498 และปี 2560 ถือเป็นครั้งที่ 62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กปีนี้ว่า “เด็กไทย ใส่ใจศึกษา พาชาติมั่นคง” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม และทุกๆ ปี รัฐบาล หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน จะจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เข้าร่วมอย่างสนุกสนาน

และถือเป็นอีกหนึ่งวันที่ผู้ใหญ่จะได้ฟังเสียงสะท้อนของเด็กไทย ทำให้ได้รู้ปัญหาที่บางทีผู้ใหญ่เองยังนึกไม่ถึง!!!

ที่ผ่านมาข้อเสนอที่เด็กและเยาวชนไทยเรียกร้องให้แก้ไข มีหลากหลายทั้งเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเรื่องสำคัญที่มักจะถูกร้องขอให้แก้ไขเป็นประจำทุกปี

หนีไม่พ้นคุณภาพการศึกษาไทย ที่นับวันจะถอยหลังลงคลอง…

 

น.ส.พีรญา ภูศรีคชไกร หรือน้องว่าน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ประธานสภานักเรียน ประจำปี 2559 บอกว่า วันเด็กปีนี้อยากให้รัฐบาลเร่งปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการรู้รักสามัคคี จนเกิดการซึมซับและใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อโตขึ้นจะได้เป็นคนดี มีคุณภาพ สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ต่อไป

ทั้งนี้ ส่วนของตนเอง น้อมนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันเช่นกัน โดยยึดหลักความพอเพียง เสียสละ สามัคคี และรู้จักการให้อภัยไม่โกรธ ทำให้เราใจเย็นมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติสุข

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของสภานักเรียนเมื่อปี 2559 ได้รับการแก้ไขเป็นอย่างดี ซึ่งตนขอขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาของเยาวชน โดยเรื่องที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนคือ การปรับระบบการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับการแก้ไข และเท่าที่ดูน่าจะเป็นระบบที่ช่วยลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ และทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจำนวนมาก

ทั้งนี้ แม้จะเปลี่ยนแปลงไม่ทันในสมัยที่ตนสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็ดีใจที่รุ่นน้องได้รับประโยชน์ อยากให้ทางรัฐบาลดูแลเด็กและเยาวชนในเรื่องนี้ต่อไป

รวมถึงอยากให้ช่วยดูแลปัญหาความรุนแรงทางสังคมที่พบในปัจจุบัน คือ ครอบครัวแตกแยก การหย่าร้าง การควบคุมอารมณ์ของแต่ละคน การทะเลาะวิวาทของนักเรียนในต่างโรงเรียน ความแตกต่างของฐานะและการศึกษา

การคุกคามทางเพศ รวมทั้งการเลียนแบบสื่อต่างๆ ที่เผยแพร่ในสังคม

โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเกิดจากการที่นักเรียนอยากรู้อยากลอง และเกิดความพลาดพลั้งไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ส่งผลให้นักเรียนขาดเรียน เกิดการเรียนไม่ทัน และทำให้ผลการเรียนตกต่ำและอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงตามมา อีกทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอาชญากรรม

ทำให้เกิดความสูญเสียตามมาอย่างมากมาย

 

ทางด้าน นายณัฐพล ทุมทอง หรือน้องแม็ค นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนศรียาภัย จ.ชุมพร สะท้อนปัญหาด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า ตนอยากขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งปฏิรูปการศึกษา ปรับการเรียนการสอน เพราะส่วนตัวมองว่า ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนหนัก เพื่อเตรียมตัวไปสอบแข่งขัน จนไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT การสอบวิชาสามัญ 9 วิชา

ยังไม่นับรวมการสอบประเมินความรู้ที่โรงเรียนจัดสอบ

ทำให้บางคนต้องวิ่งไปเรียนกวดวิชา เพื่อให้มีความรู้เพียงพอต่อการสอบแข่งขัน โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดที่เรียนเนื้อหาแน่นไม่เท่าเด็กในกรุงเทพฯ ก็ต้องวิ่งเข้าโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้มีเทคนิคสอบแข่งกับคนอื่นได้ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา

“หากเป็นไปได้ผมอยากให้ ศธ. และรัฐบาลลดการสอบต่างๆ ให้น้อยลง โดยเฉพาะการสอบ GAT/PAT ที่มีความยากเกินกว่าเนื้อหาที่เรียนในห้องเรียน ทำให้เด็กต้องวิ่งไปกวดวิชา บางคนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยก็จะเสียเปรียบคนที่ครอบครัวมีฐานะ ส่วนระบบการเข้าเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ จะช่วยแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ดีหรือไม่นั้น ผมคงตอบไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจ แต่ก็อยากให้ปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาผมเองยอมรับว่าค่อนข้างกังวล เพราะ ศธ. เป็นกระทรวงที่เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย อาจจะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่เกิดความต่อเนื่อง อยากฝากให้นายกฯ ดูแลคุณภาพชีวิตของเด็กไทยให้มีสิทธิที่เท่าเทียมทั้งด้านความเป็นอยู่และการศึกษา” น้องแม็คกล่าว

นอกจากนั้น ยังอยากให้รัฐบาลและ ศธ. ส่งเสริมให้ครูนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสอนให้เด็กได้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่แบบท่องจำแต่ไม่ได้เข้าใจหลักแกนแท้ของแนวพระราชดำริ โดยอาจใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง อาทิ เชื่อมโยงการเรียนการสอนให้เข้ากับหลักปรัชญา หรือโครงการพระราชดำริของพระองค์ ซี่งมีมากกว่า 4,000 โครงการ

ตนเชื่อว่า หากเด็กและเยาวชนไทยเข้าใจแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน จะสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างดี ซึ่งผมเองก็พยายามศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจเช่นกัน…

แม้เป็นเสียงเล็กๆ แต่ก็ถือว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งผู้ใหญ่ก็ควรรับฟัง เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า…