มุมมองเศรษฐกิจ อุทกภัยใต้ดับฝันโกยราคายาง “ขาขึ้น” โลจิสติกส์ตัดขาด

สถานการณ์ฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงและขยายวงกว้างมากที่สุดในรอบ 10 ปี

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน 1,105,731 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง และระดับน้ำได้เริ่มลดลง ทรงตัวในบางพื้นที่แล้ว

นั่นเป็นเพียงการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น เนื่องจากสถานการณ์ไม่นิ่งยังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และต้องเกาะติดสภาพดินฟ้าอากาศอย่างใกล้ชิดไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย

 

ทั้งนี้ น้ำท่วมใหญ่ปักษ์ใต้เกิดขึ้นเป็นระลอกที่สองแล้วในช่วงก้าวข้ามปี ธันวาคม 2559-มกราคม 2560 เพราะไม่ทันที่จะได้ฟื้นฟูก็มาประสบเหตุน้ำท่วมซ้ำหนักอีก

แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือมหาอุทกภัยของภาคใต้ เพราะฝนเทกระหน่ำอย่างหนักต่อเนื่องเกือบ 10 วันตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

หลายฝ่ายยอมรับว่าประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ไม่คิดว่าจะรุนแรงปานนี้ เพราะหลายพื้นที่พอเข้าสู่ช่วงฤดูฝนก็เจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี

หลายคนจึงไม่ทันได้เตรียมรับมือวิกฤตในรอบนี้

แต่ปีนี้สถานการณ์สาหัสสากรรจ์ เพราะขนาดของมวลน้ำก้อนใหญ่ที่ถาโถมจู่โจมเข้ามาอย่างรวดเร็วรุนแรงทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน และน้ำท่วมกินพื้นที่ขยายวงกว้างทั้งในเขตตัวเมืองซึ่งเป็นย่านการค้าพาณิชย์

กลุ่มเอสเอ็มอีนับหมื่นรายเจ๊งระนาว รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชถูกน้ำท่วมและเสียหายหนักทั้งจังหวัดรวม 23 อำเภอ

 

นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบไปถึงระบบโลจิสติกส์และการขนส่งทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางบก และทางอากาศ โดยเฉพาะถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ใช้สัญจรสู่ภาคใต้ถูกน้ำท่วมหลายจุด และคลื่นน้ำป่าได้ซัดคอสะพานขาด 3 จุด ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้การสัญจรขึ้น-ล่องใต้เป็นอัมพาตเมื่อวันที่ 10-11 มกราคมที่ผ่านมา

ส่วนการเดินทางโดยรถไฟก็ไม่สามารถให้บริการได้เช่นกัน โดยเฉพาะที่ชุมทางสถานีทุ่งสงและย่านการค้าในชุมชนมีน้ำท่วมสูง แม้แต่สนามบินนครศรีธรรมราชก็ถูกน้ำท่วมหนักอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนต้องปิดบริการหลายวันเช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางและความช่วยเหลือที่จะส่งผ่านไปให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้

ที่สำคัญน้ำป่าไหลหลากยังสร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคใต้เป็นพื้นที่ปลุกยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ และเลี้ยงกุ้งเพื่อส่งออก

โดยเฉพาะ “ยางพารา” ถือว่าเป็นพืชหลักสร้างรายได้และเป็นกำลังซื้อหลักให้แก่ภาคใต้มีความบอบช้ำมากที่สุด เพราะสวนยางถูกน้ำท่วมและชาวสวนไม่สามารถกรีดยางในช่วงที่จะทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้ ขณะที่ราคายางขาขึ้นปรับตัวมาอยู่ที่ 72-80 บาท/กิโลกรัมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็นต้นมา

 

ชาวสวนยางเมืองพัทลุงบอกว่า หากนับช่วง 100 วันที่มีฝนตกต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2560 สามารถกรีดยางได้เพียง 6 วัน หรือมีรายได้ประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น และในอีก 2 เดือนข้างหน้ายางจะผลัดใบก็ต้องหยุดกรีดยางอีก รวมแล้วกรีดยางได้ 80-100 วัน/ปี สูญเสียรายได้ไปมหาศาล

ขณะที่พ่อค้าในวงการยางพาราประเมินความเสียหายในเบื้องต้นว่า ในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วมภาคใต้ ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ผลผลิตยางพาราหายไปจากตลาดประมาณ 1.2 ล้านตัน จากพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 10.3 ล้านไร่ หากคำณวนจากราคา 73 บาท/ก.ก. สูญเสียรายได้ไปมูลค่าเกือบ 90 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากต้นยางจมน้ำเสียหายอีกจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังมีย่านการค้าสำคัญ เช่น อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถูกน้ำท่วมหนักเต็มพื้นที่ทั้ง 13 ตำบล มีมวลน้ำมหาศาลไหลบ่าจากอำเภอพะโต๊ะทะลักเข้าบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองหลังสวนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อำเภอหลังสวนมีผู้ประสบภัยกว่า 10,000 ครัวเรือน 35,000 คน พืชผลทางการเกษตรจมน้ำกว่า 6,000 ไร่ ซึ่งตอนนี้กำลังลุ้นกันว่า ทุเรียนหลังสวนจะฝ่าน้ำท่วมได้หรือไม่เพราะเป็นผลไม้ส่งออกราคาดีมาก ทั้งนี้ ในภาพรวมภาคเกษตรกรรมของจังหวัดชุมพรจะได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลกระทบเบื้องต้นมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 1 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับความเสียหายราว 4 แสนราย แบ่งเป็นพืชสวนและอื่นๆ 723,595 ไร่ ยางพารา 531,876 ไร่ หรือร้อยละ 4.6 ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ ข้าว 253,581 ไร่ และพืชไร่ 21,934 ไร่

และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายทั้งปลา/กุ้ง/ปู/หอยทะเล 28,690 ไร่ ซึ่งยังต้องรอการสำรวจข้อมูลอีกครั้ง

 

จากนี้ไปภารกิจเร่งด่วนหลังน้ำลดก็คือการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็ว เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือรายได้หลักของภาคใต้มาจาก 2 ขาหลักคือ การเกษตร และท่องเที่ยว โดยมีรายได้รวมปีละประมาณ 6 แสนล้านบาท

แต่ขณะนี้ภาคเกษตรเสียหายหนักมาก อีกทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี ร้านค้าต่างๆ ก็เจอวิกฤตไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ ในฝั่งของภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐฟื้นฟูโดยเร็วภายใน 6-8 เดือนด้วยมาตรการหรือแพ็กเกจชุดใหญ่ รวมไปถึงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนำไปฟื้นฟูกิจการ

เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเศรษฐกิจในภาคใต้จะซึมยาว เสียโอกาสในการฟื้นตัวไปอย่างน่าเสียดาย