ประยุทธ์ รับสนอง แก้รธน.ชั่วคราว ปม “พระราชอำนาจ” โรดแม็ป “ขยับ” เลือกตั้ง” เขยื้อน”?

ปล่อยให้เป็นความคลุมเครืออยู่ไม่นาน และแล้วก็ปรากฏความเคลื่อนไหวที่ออกมาจากมติที่ประชุมร่วม “ครม.-คสช.” ครั้งแรกของศักราชใหม่ปี 2560

เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 จากทำเนียบรัฐบาลเพื่อเสนอให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ดำเนินการต่อ ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายพรเพชร ก็รับไม้ต่อนำเรื่องด่วนดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อบรรจุระเบียบวาระทันที

ซึ่งภายหลังจากการประชุม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. ออกมาระบุว่า ที่ประชุมวิป สนช. มีมติให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม สนช. ในวันศุกร์ที่ 13 มกราคมนี้ โดยจะใช้คณะกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาสามวาระรวด เนื่องจากเป็นเรื่องด่วน ที่ สนช. จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะร่วมประชุมเพื่อชี้แจงด้วยตนเอง

“ขั้นตอนของ สนช. จำเป็นที่จะใช้ความรวดเร็วเพื่อนำไปสู่การประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านประชามติ อันจะส่งผลต่อการดำเนินการตามโรดแม็ปที่รัฐบาลได้วางไว้” โฆษกวิป สนช. ระบุ

 

โดยประเด็นที่เสนอให้มีการแก้ไขทั้งหมด 4 มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช…”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป”

ลงชื่อ ผู้รับสนองพระราชโองการ นายกรัฐมนตรี

 

สําหรับ “ที่มา” และ “เหตุผล” ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม องคมนตรีได้มาพบ เนื่องจากทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง ได้ทำเรื่องมายังรัฐบาลว่า มีประเด็นที่ต้องหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญ หมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งทางฝ่ายองคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว และมีพระราชกระแสลงมาว่ามี 3-4 รายการ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติได้

ซึ่งรัฐบาลก็รับสนองพระบรมราชโองการโดยไม่ต้องไปทำประชามติ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน เป็นไปการถวายพระราชอำนาจพระองค์ท่านเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ผ่านขั้นตอนจากที่ประชุม สนช. ในวันที่ 13 มกราคมนี้แล้ว ทันทีที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เรื่องนี้ก็จะเป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น

โดยเฉพาะกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายใน 90 วัน ก็ให้นายกฯ เป็นผู้ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้วนั้น กลับคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตดังกล่าว

 

ส่วนใครจะเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ตามหลักการจะให้นายกฯ เป็นผู้แก้ตามที่ได้รับการแจ้งมา ซึ่งนายกฯ มีดำริจะตั้ง “คณะกรรมการพิเศษ” ซึ่งเป็นบุคคลจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้นมาดำเนินการ

โดยรายชื่อของคณะกรรมการพิเศษทั้ง 10 คน ประกอบด้วย 1.นายวิษณู เครืองาม รองนายกฯ 2.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 3.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธาน กรธ. 4.นายอัชพร จารุจินดา กรธ. 5.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

6.นายบวรศักด์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 7.นายอำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 8.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา 9.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุด และ 10.นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

และตามกระบวนการทั้งหมดจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หลังได้รับพระราชทานกลับคืนมา และทันทีที่แก้ไขเสร็จแล้วก็จะเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม

นั่นคือ เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่นายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ครั้งใหม่ นั่นเอง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มาตราที่จะแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ คือ มาตรา 5, 17 และ 182 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ชี้แจงว่า ในหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องดูว่าทั้งสามมาตราที่พูดถึงจะเกี่ยวพันกับมาตราใดอีกบ้าง หากมีก็ต้องตามไปแก้ด้วย

ทั้งหมดนี้ จึงถือเป็นความชัดเจนทั้งขั้นตอน วิธีการ รวมไปถึงระยะเวลาในการดำเนินการด้วย

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจสูงสุด ยังยืนยันด้วยว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามขั้นตอนของโรดแม็ป ไม่เคยเลื่อน ทุกอย่างตามเวลา 240 วัน 150 วัน 90 วัน สุดแต่ว่าขั้นตอนไหนจะไปอยู่ตรงไหน ทุกอย่างเริ่มสตาร์ตเมื่อมีรัฐธรรมนูญถาวรบังคับใช้

และหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระบรมศพ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พล.อ.ประยุทธ์ สัญญาว่า จะให้การเมืองเดินได้ ประชุมพรรคได้ เพื่อให้เข้าสู่โหมดเลือกตั้งในปลายปี 2560 และจะได้รัฐบาลใหม่แน่ๆ ต้นปี 2561

ไม่มีเคลื่อน ไม่มีเลื่อนอย่างแน่นอน