การประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (14)

การประชุมสงฆ์จำนวนมากที่สุดเป็นครั้งแรก

การประชุมครั้งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์นี้เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต (การประชุมใหญ่อันประกอบด้วยองค์ 4) มีขึ้นในวันเพ็ญเดือนสาม

ต่อมาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า “วันมาฆบูชา

คงต้องเท้าความสักเล็กน้อย หลังจากบวชปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้บรรลุพระอรหัตทุกรูปแล้ว ทรงบวชให้ยสกุมารและสหายอีก 55 ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์หมดทุกรูป เป็นอันว่าได้เกิดมีพระอรหันต์สาวกจำนวน 60 รูปในเวลาอันรวดเร็ว

พระพุทธองค์ทรงเห็นว่ามีจำนวนพอสมควรแล้ว จึงทรงสั่งให้แยกย้ายกันไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังแคว้นต่างๆ

พระองค์เองเสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร

ระหว่างทางได้โปรดภัททวัคคีย์ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ประทานอุปสมบทให้แล้วส่งไปเผยแผ่พระศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ

ประทานอุปสมบทให้แก่ชฏิลสามพี่น้องพร้อมบริวารหนึ่งพันและทรงแสดงธรรมให้ฟังจนได้บรรลุพระอรหัตแล้วประทับยับยั้งอยู่ที่เวฬุวันที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระสาวกที่ไปประกาศพระศาสนายังถิ่นต่างๆ ยังคงพากันมาเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ทำนองมารายงานผลการปฏิบัติงานประมาณนั้น กระจายอยู่รอบเมืองราชคฤห์

พระอัสสชิน้องสุดท้องของปัญจวัคคีย์ก็เช่นกัน ได้เดินทางมายังเมืองราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

วันหนึ่งขณะท่านเดินบิณฑบาตอยู่ อุปติสสมาณพ เห็นเข้าประทับใจในบุคลิกอันสง่างาม สงบสำรวมของท่าน จึงเกิดความเลื่อมใส ใคร่สนทนาธรรมด้วย

รอจนได้โอกาสแล้ว จึงเข้าไปไต่ถาม รู้ว่าท่านเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง

พระอัสสชิกล่าวว่า “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนาก็คือคาถา เยธัมมาฯ สรุปใจความของอริยสัจสี่

อุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรม ไปบอกโกลิตะสหายรักทราบ โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน

ทั้งสองคนจึงพากันไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า อุปติสสะ ปรากฏนามภายหลังว่า พระสารีบุตร ส่วนโกลิตะปรากฏนามว่า พระโมคคัลลานะ

คืนวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสามวัน ที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์พอดี เกิดเหตุการณ์พิเศษขึ้น 4 ประการในวันเดียวกันคือ

1. พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันที่วัดพระเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย

2. ท่านเหล่านั้นเป็นเอหิภิกขุล้วน (พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง)

3. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา

4. วันนั้นเป็นวันพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม

พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุการณ์ทั้ง 4 อย่างปรากฏในวันเดียวกัน เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” (พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ) 13 ประการดังนี้

“การไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้พร้อม

การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

ขันติคือความอดทนป็นตบะอย่างยิ่ง

พระนิพพานพระพุทธเจ้าทั้งกลายกล่าวว่าสูงสุด

ผู้ยังทำร้ายผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นบรรพชิต

ผู้ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ไม่นับว่าเป็นสมณะ

การไม่ว่าร้ายเขา การไม่เบียดเบียนเขา

การเคร่งครัดในระเบียบวินัย

การรู้จักประมาณในการบริโภค

การอยู่ในสถานสงบสงัด

และการฝึกจิตให้มีสมาธิอย่างสูง

นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

โอวาทปาติโมกข์นี้มีทั้งหมด 13 หัวข้อ สรุปได้ 4 ประเด็นคือ

1. กล่าวถึงอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือพระนิพพาน

2. กล่าวถึงหลักการทั่วไป คือ ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำดีให้พร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้ว

3. กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา คือจะต้องมีความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่เห็นแก่กิน อยู่ในสถานสงบสงัด ฝึกจิตอยู่เสมอ

4. กล่าวถึงเทคนิควิธีการเผยแผ่ศาสนาคือ ไม่ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ใช้สันติวิธีในการเผยแผ่รู้จักประสานประโยชน์

ดูตามเนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ น่าจะเป็นการปัจฉิมนิเทศแก่พระธรรมทูตรุ่นแรกและปฐมนิเทศแก่ชุดใหม่ที่จะส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนามากกว่าอย่างอื่นมากกว่าเหตุผลอื่นใดดังที่นักวิชาการบางท่านพยายามอธิบาย

คือมีนักวิชาการบางท่านตั้งคำถามเองและตอบเองเสร็จว่าทำไมพระสาวกเป็นพันๆ รูปมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายกัน และจำเพาะเจาะจงมาประชุมกันในวันเพ็ญเดือนสามด้วย ตอบว่า ท่านเหล่านั้นมาด้วยความเคยชิน

เคยชินอะไร ก็ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพราหมณ์มาก่อน พราหมณ์นั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม เขาจะมาชุมนุมทำพิธีกรรมทางศาสนาของเขาเรียกว่าวันศิวาราตรี

เมื่อท่านเหล่านั้น แม้จะมาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงวันเช่นนี้ ก็รู้สึกเหงาเพราะเคยทำอะไรมาก่อน

บังเอิญพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใกล้ๆ นี้ด้วย จึงพากันมาเฝ้าด้วยความเคยชิน พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสสำคัญจึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ว่าเข้าไปโน่น เข้ารกเข้าพงดีแท้

พระสาวก 1,250 รูป มิได้เป็นพราหมณ์มาก่อนก็มี จะเอาความเคยชินอะไรมาเล่าครับ อีกอย่างพระอรหันต์ ขนาดกิเลสที่ละได้แสนยากท่านก็ละได้หมดไม่เหลือหลอแล้ว แล้วความเคยชินธรรมดาๆ ยังจะเหลืออยู่อีกเหรอ

การพูดว่าท่านพากันมาด้วยความเหงา ยิ่งไม่ควร อย่าว่าแต่พูดเลย แม้แต่คิดก็ไม่ควร

เดี๋ยวใครไม่รู้จะเข้าใจว่า วันมาฆบูชาของชาวพุทธ เกิดขึ้นเพราะอารมณ์เหงาของพระอรหันต์