อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ชนชั้นนำ-พลเมืองในสังคมพม่าหลังการปฏิรูปการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ชนชั้นนำในประเทศเมียนมา (3)

การแตกตัวของกลุ่มอำนาจเดิมหลังช่วงเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง ปี 2010 ส่งผลดีต่อชนชั้นนำ

นอกจากสามารถเป็นหลักประกันทางอำนาจการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ทั้งศักยภาพของกองทัพและข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญแล้ว

ในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำเหล่านี้ล้วนได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ และทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจกลับยิ่งกระจุกตัวมากยิ่งขึ้น

โดยกลุ่มนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจเดิม ได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุดในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

ผู้นำใหม่ในพื้นที่ประชาสังคม (Civil Society) 

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเดิมเติบโต ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเรียกว่า การฟื้นตื่นของภาคประชาสังคม (resurrection of civil society) โดยดูจากการประท้วงในกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มและสมาคมต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับผลประโยชน์และอัตลักษณ์เพื่อขยายพื้นที่ ได้แก่ การถูกยึดที่ดินทำกิน การประท้วงเพื่อขอเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการ การประท้วงที่เกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางศาสนา

หลังปี 2010 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมนิยมเมียนมาที่เคยเป็นมาเปลี่ยนไป โดยกองทัพไม่ได้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองทั้งหมดอีกต่อไป แต่ได้เปิดพื้นที่ให้กลุ่มการเมืองต่างๆ เข้ามาต่อรองในกระบวนการนโยบายผ่านสถาบันทางการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สร้างขึ้น เปิดพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การขยายบทบาทของตัวแสดงอื่นๆ เช่น นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม นักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นักธุรกิจทุกระดับ

ตลอดจนภาคประชาสังคม

 

ข้อสังเกตบางประการ

หาใช่เรื่องช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปการเมือง (Political Reform) สั้นหรือยาวไม่

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีการปฏิรูปการเมืองในหลายด้านพร้อมๆ กัน หลังยุคซูฮาร์โตสิ้นสุดลงเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้จะล้มลุกคลุกคลาน การเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปีในตำแหน่งประธานาธิบดี การปฏิรูปกองทัพ (military reform) โดยแยกหน้าที่กองทัพออกจากการเมืองและมีเพียงหน้าที่ป้องกันประเทศและรักษาอธิปไตย โดยมีตำรวจทำหน้าที่รักษาความสงบภายใน

การกระจายอำนาจทั้งการเลือกตั้งและการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นก่อผลให้ สาธารณรัฐอินโดนีเซียมีประธานาธิบดีที่เป็นพลเรือนมา 2 สมัยซึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด คนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวทั้งคนมุสลิมและผู้นับถือศาสนาอื่นๆ มีโอกาสเสมอภาคทางการเมือง พร้อมกันนั้น cyber politics ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจการเมืองขั้นพื้นฐานของอินโดนีเซีย

สหพันธรัฐมาเลเซีย ดูเหมือนชัยชนะของ ดร.มหาธีร์ที่โค่นล้มพรรครัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก อย่างไม่คาดฝัน มีพลังเพียงไม่กี่เดือน โครงสร้างที่ทรงพลานุภาพของระบบพวกพ้อง (cronyism) ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับสหพันธรัฐแผ่อานุภาพโดยการรักษาไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติ ชาติพันธุ์และศาสนาในทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป cyber politics ทำหน้าที่ของตนต่อไป

เมียนมา หลังปี 2010 เกิดการปฏิรูปการเมืองจากแรงกดดันภายในอันมาจากความล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมวิถีพม่า (Burmese way to Socialism)

พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งแต่ทว่ากองทัพยังมีบทบาทในรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน รัฐบาลประกอบด้วยนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ่อนประสบการณ์การบริหาร การเมืองของชาติพันธุ์ (ethnic politics) ยังเป็นโครงสร้างหลักทางการเมือง ภาคประชาสังคมเติบโตมากขึ้นในเชิงปริมาณ

แต่ถนัดแค่การประท้วง ระบบพวกพ้องก่อตัวขึ้น แต่ที่เมียนมาเรียกว่า partner

——————————————————————————————————————————
(3) เป็นการศึกษาของอาจารย์ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในชุดโครงการเดียวกันที่ได้รับสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม