กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : พรปีใหม่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง

“โอ้ยามเย็น

จวบยามนี้เป็นเวลาสุดอาวรณ์

ยามไร้ความสว่างห่างทินกร

ยามรักจำจะจรจากกันไป”

น้ำตาผมไหลเอ่อออกมาจากไหนก็ไม่รู้

เมื่อเสียงดนตรีเงียบลง เสียงใสๆ ของ “วี วิโอเลต” ดังขึ้น

ท่อนสุดท้ายของเพลง ส่วนหนึ่งจากหนังเรื่อง “พรจากฟ้า”

ผมไม่รู้ว่าบทภาพยนตร์เองพยายามจะสื่ออะไร

อาจจะเป็นความรักของหนุ่มสาวที่กำลังจะผลิดอก ส่งกลิ่นหอมอบอวล

ดันต้องร้างลาจากไกล ไม่รู้จะได้กลับมาเจอกันอีกไหม

หรืออาจจะบอกถึง ความ “ธรรมดา” ของการพบเจอ และการลาจาก

แต่ผมคิดถึง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ขึ้นมาจับใจ

จนน้ำตาไหลเอ่อออกมา

 

บทความนี้ เขียนขึ้นมาจาก “ความรู้สึกล้วนๆ”

อาจจะดู “ไร้เดียงสา” สำหรับผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ที่เป็นแฟนเหนียวแน่นของ “มติชนสุดสัปดาห์”

แต่ผมก็อยากจะเขียนเก็บเอาไว้ เป็นความทรงจำของตัวเอง ในปีที่สำคัญปีนี้

ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมหยุดอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ

แล้วกลับมาศึกษาชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของในหลวง เท่าที่พอจะหาอ่านได้

ในฐานะของคนอายุ 32 ที่เกิดปี 2527 คนหนึ่ง

ผมเติบโตขึ้นมากับภาพของในหลวง ในทีวี ที่เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ

ส่วนมากจะเป็นที่ทุรกันดาร และพระราชพิธี

เราก็คิดว่าพระองค์ท่านเป็น “ผู้นำ” ที่เก่งมากๆ

คิดว่า พระองค์ท่านทรงทำหน้าที่ของพระองค์ท่าน ในฐานะ “กษัตริย์” ได้อย่างดี ตามทศพิธราชธรรม

ที่เราเคยท่องกันมาใน “แบบเรียน”

หากแต่ว่า มีหลายๆ เรื่องที่พอมาศึกษาแล้ว

ทำให้รู้ว่า “ผมแทบไม่รู้จักพระองค์ท่านเลย”

 

ข้อแรก ผมเพิ่งรู้ว่า ประเทศไทยเมื่อ 70 ปีที่แล้วนั้น

แตกต่างจากทุกวันนี้มาก

ความเจริญที่พอมี เกิดขึ้นในแถบพระนคร

พื้นที่ต่างจังหวัดนั้น แทบจะไม่มีอะไรเลยจริงๆ

ประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก

พระเจ้าอยู่หัว คือความหวังเดียวของพวกเขาจริงๆ

นั่นคือสาเหตุว่า ทำไมประชาชนจึงดีใจมาก

เวลาได้เห็นพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยี่ยมเยียน

ก็เพราะที่ผ่านมา แม้จะได้ชื่อว่าอยู่เมืองไทย

แต่ไม่มีใคร นักการเมืองคนไหน สนใจพวกเขาอย่างในหลวงเลย

ทรงเป็นเหมือน “น้ำ” ที่รดลงบนดินที่แห้งแตกระแหง

ทำให้แผ่นดินกลับมี “ชีวิต” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

 

ข้อที่สอง ผมเพิ่งรู้ว่า หลายสิ่งที่ผมเห็นในวันนี้เป็นเรื่อง “ปกติ”

มันเป็น “เรื่องใหม่” ที่เราไม่เคยมีในสมัยก่อน

และเกิดจากพระราชดำริของในหลวง ไม่ว่าจะเป็น

น้ำเกลือ ที่ใช้ในโรงพยาบาล ที่ทรงบุกเบิกให้ผลิตเอง

นมพาสเจอไรซ์ ตราไทย-เดนมาร์ค และหนองโพ

นมอัดเม็ด นมผง สวนจิตรลดา

เกลือที่มีไอโอดีน จากโครงการ “เส้นทางเกลือ”

ปลาหมอเทศ ปลานิล ที่เป็นแหล่งโปรตีนของประชาชน

แพทย์อาสา ที่มีมากขึ้นหลายสิบเท่า แต่ก็ยังไม่มากพอ

ฝนหลวง ที่ใช้เกลือโปรยลงไปบนเมฆ

ไบโอดีเซล จากน้ำมันปาล์ม

ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ทางคู่ขนานปิ่นเกล้า พระราม 9 รัชดาภิเษก วงแหวน

เขื่อน ฝายต่างๆ ที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้

เป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ในสมัยก่อน

ในฐานะคนที่พยายามผลักดันเรื่อง “นวัตกรรม” ในองค์กรอยู่ทุกวัน

ผมเชื่อว่า เป็นเรื่องไม่ง่าย

มี “วิสัยทัศน์” ว่าเยี่ยมยอดแล้ว

การ “ทำให้เกิดจริง” นั้นยากยิ่งกว่า

ยิ่งเป็นในยุคที่ “ผู้คน” ยังคุ้นชินกับการทำอะไรเดิมๆ

แรงเสียดทานจากการทำงานแบบ “ราชการ” ที่รับประกันความช้า

ทรง “เข้าถึงประชาชน” พยายามจะเข้าใจปัญหาที่หน้างาน (Empathize) มิใช่รายงานจากคนใกล้ตัว

ทรง “พระปรีชา” ในการทดลอง สร้างต้นแบบ (Prototype) ในวังสวนจิตรลดา ก่อนที่จะขยายผล

เป็นวิธีการสร้าง “นวัตกรรม” ระดับโลกในสมัยนี้ ที่มีองค์กรให้ความสนใจกันมาก

เสียเงินส่งผู้บริหารไปเรียนกันเป็นแสนๆ ล้านๆ ที่เมืองนอก

แต่พระองค์ท่าน ตกผลึกได้ด้วยตัวเองมาหลายสิบปีแล้ว

ถ้าในหลวงไม่คิดให้ ผมก็ไม่แน่ใจว่านักการเมืองคนไหนจะ “เก่ง” และ “ดี” พอ

ประเทศเราทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร ผมเองก็ไม่อยากจะนึก

อาจจะเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน ที่เรา “ชำเลือง” ด้วยหางตาอยู่ก็เป็นได้

“ในหลวงรัชกาลที่ 9” ทรงเป็น “นวัตกร” อย่างแท้จริง

 

ข้อสุดท้าย ที่กระทบใจผมที่สุด

คือ “พระองค์ท่านไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้”

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเกิดและศึกษาที่เมืองนอกมาโดยตลอด

ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับแม่ พี่สาว และพี่ชาย

วันหนึ่ง พี่ชายถูกเชิญกลับมาให้เป็นกษัตริย์

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง

แล้วพี่ชายต้องจากไป

พระองค์ท่านตอนนั้นพระชนมายุเพียง 19 พรรษา

ต้องขึ้นเป็น “กษัตริย์” แทนพี่ชาย

เป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร จะกลัวมั้ย

ถ้าอยู่ที่นี่ต่อ “ครอบครัว” จะเป็นอย่างไร

กับ “ประเทศ” ที่แทบจะไม่เคยอาศัยอยู่เลย

“ประชาชน” ที่แทบจะไม่เคยรู้จักเห็นหน้า

เราจะ “ตัดสินใจ” อย่างไร เมื่อได้รับหน้าที่นั้น

การจากไปอย่างเงียบๆ ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

แต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เลือกที่จะ “อยู่”

อยู่เพื่อ “ประชาชน” ที่พระองค์ท่านแทบไม่รู้จัก

อยู่เพื่อ “ประเทศ” ที่พระองค์ท่านแทบไม่เคยอาศัย

อยู่เพื่อนำทัพ “ต่อสู้” กับสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ที่คุกคามประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็น คอมมิวนิสต์ นักการเมืองชั่ว ทหารเลว

ถ้าจะมีอีกสักแง่มุม ที่ผมเองเพิ่งได้รู้จัก สำหรับในหลวงพระองค์นี้

สิ่งนั้นคงจะเรียกว่า “ความกล้าหาญ”

ผมเพิ่งจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า

พระบารมีของในหลวงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน จากสถานะ “กษัตริย์”

แต่เกิดจากหยาดเหงื่อ แรงกาย แรงใจ

การทรงงานอย่างหนัก เพื่อประชาชน ตลอด 70 ปี จริงๆ

ทรงเอาชนะใจพสกนิกรทั้งประเทศ ด้วยการ “ทำ” หน้าที่ของพระองค์ให้ดี

ต่อจากนี้ ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว ให้เราได้ชื่นชมพระบารมี

แต่สิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ยังคงชัดเจน

นั่นคือ “การใช้ชีวิตของตนเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น”

ผมก็คิดว่า จากนี้ จะใช้สติปัญญาเท่าที่มีอยู่ เพื่อคนอื่นให้ได้มากที่สุด

จะแบ่งปันความรู้ สอนหนังสือให้น้องๆ ที่มหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่

จะเขียนสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับผู้อื่น เท่าที่จะเจียดเวลาได้

จะตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติ อย่างสุดความสามารถ

ในฐานะ “คนไทย” ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ที่พระองค์ท่านทรงดูแลมาตลอด 32 ปี

 

พรปีใหม่ พรจากฟ้า ของพระราชา

จะตราตรึงอยู่ใน “หัวใจ” พวกเราคนไทยตลอดไป