E-DUANG : สภาลากตั้ง กับ สภาเลือกตั้ง วุฒิสภา กับ สภาผู้แทนราษฎร

การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา”นโยบายรัฐบาล”ในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม ถือได้ว่าเป็นการพบกันอย่างเป็นจริงครั้งแรกระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน

ความหมายก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถหลีก เลี่ยงได้

เพราะในฐานะนายกรัฐมนตรีมีความจำเป็นต้องเป็นผู้แถลง นโยบายด้วยตนเองว่า รัฐบาลจะทำอะไร มีรายละเอียดน่าสนใจอย่างไร

ขณะเดียวกัน เมื่อแถลงแล้วก็มีความจำเป็นที่ฝ่ายค้านจักต้องอภิปราย ท้วงติงและตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้

เป้าหมายใหญ่ย่อมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในบรรยากาศ อันชื่นมื่นเป็นอย่างยิ่ง

เรียกได้ว่าเป็นการพูดฝ่ายเดียว คึกคักฝ่ายเดียว

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็เหมือนกับเป็นสภาตรายาง คอยประทับตรารองรับ ดำเนินไปอย่างชนิดที่เรียกว่าเห็นชอบด้วย อย่างหมอบราบคาบแก้ว

เพราะว่าทุกคนล้วนผ่านการแต่งตั้งมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น

รูปแบบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ณ วันนี้ ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาจากการแต่งตั้ง 250 ส.ว.อันเห็นได้จากสภาพการณ์ขานชื่อเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน

แต่เมื่อมาถึงวันที่ 25 กรกฎาคม สภาพจะไม่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะอย่างน้อยก็มี ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในสถานะฝ่ายค้านเป็นตัวถ่วงดุล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ได้ยินแต่เสียง”เยส”อย่างเดียวหากแต่มี”โน”อยู่ด้วยอย่างทระนงองอาจ

 

การประชุมรัฐสภาระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างสำคัญในทางการเมือง

เป็นการเปรียบเทียบกับสภาเมื่อ 5 ปีก่อน

เป็นการเตือนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตระหนักในความแตกต่างระหว่างสภา”ลากตั้ง” กับสภา”เลือกตั้ง”อย่างมีนัยสำคัญ

และประชาชนที่เฝ้าติดตามก็ได้”บทเรียน”อย่างเข้มข้น