เกษียร เตชะพีระ | จินตนาการปลายอุโมงค์

เกษียร เตชะพีระ

จินตนาการปลายอุโมงค์ (1)

(เรียบเรียงจากการนำเสนอของผู้เขียนในงานเสวนาเรื่อง “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ในโอกาสครบรอบ 70 ปีการสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะรัฐศาสตร์ มธ. วันที่ 15 มิถุนายน ศกนี้)

ผมขอแบ่งเนื้อหานำเสนอเป็น 4 ประเด็นได้แก่ :

1. วิธีการมองปัจจุบัน-อดีต-อนาคต

2. ความเป็นไปได้และปัญหาในปัจจุบัน

3. บทเรียนจากอดีต

4. จินตนาการในอนาคต

1)วิธีการมองปัจจุบัน-อดีต-อนาคต

สิ่งที่เราเรียกว่า “ปัจจุบัน” นั้น อาจไม่ได้แน่นอนแน่นิ่งเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่เราคุ้นชินที่จะคิด

ในบทความที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อ 38 ปีก่อนเรื่อง “Walter Benjamin – Revolutionary Writer” (I), New Left Review, I/128 (July-August 1981), 50-75. (https://newleftreview.org/issues/I128/articles/susan-buck-morss-walter-benjamin-revolutionary-writer-i) Susan Buck-Morss ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านทฤษฎีและปรัชญาการเมือง คณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้ชี้ว่าเวลามองปัจจุบัน Walter Benjamin นักปรัชญาและนักวิจารณ์วัฒนธรรมชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้ปลิดชีพตัวเองขณะหลบหนีการไล่ล่าของพวกนาซี (ค.ศ.1892-1940) เห็นปัจจุบันแยกเป็น 2 อย่าง ได้แก่ :

1. The present-as-given หรือปัจจุบันเชิงประจักษ์อย่างที่ประสบพบเห็นอยู่

2. The present-as-revolutionary-possibility หรือแนวโน้มความเป็นไปได้ของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงที่ซ่อนแฝงอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นได้ก็แต่โดยเอามันไปเปรียบตัดทาบกับจินตภาพจากอดีต เพื่อดึงเอาเชื้อมูลแห่งความใฝ่ฝันทะยานอยากถึงยูโทเปียหรือสังคมอุดมคติ มาให้การศึกษาปลุกจิตสำนึกมวลชนให้ตื่นจากปัจจุบันอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ – อันเป็นมรดกตกทอดจากอดีตที่ผู้กดขี่มอบหมายให้ – เพื่อมอมเมากล่อมประสาทให้มวลชนสงบสยบยอม

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เวลามองปัจจุบัน มันไม่ได้มีเฉพาะ “สิ่งที่เราเห็น” (the present-as-given) เท่านั้น หากยังมี “สิ่งที่เราไม่เห็น” (แนวโน้มความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงที่ซ่อนแฝงอยู่ในปัจจุบัน) กับ “สิ่งที่เราอยากเห็น” (ความใฝ่ฝันทะยานอยากถึงสภาพอุดมคติที่เรามีอยู่จริงในความคิดจิตใจ) ด้วย

และสองสิ่งหลังนี้แหละที่เราพึงใส่ใจ เพราะมันสำคัญทางการเมืองในฐานะ the present-as-revolutionary-possibility

โดยเกี่ยวเนื่องกัน

ผมอยากชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์อันยอกย้อนระหว่างอดีตกับอนาคต

ราวสักยี่สิบปีก่อน ผมเคยอ่านบทความหนึ่งในนิตยสาร London Review of Books เกี่ยวกับอดีตและประวัติศาสตร์ (ขออภัยที่จำข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับบทความนี้ไม่ได้แล้ว) ซึ่งอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยว่า คนเราปัจจุบัน – ที่เดินจากอดีตเบื้องหลังสู่อนาคตข้างหน้านั้น – ก็เหมือนกำลังขับรถอยู่

ชั่วแต่ว่ากระจกหน้ารถเราดำมืดทึบหมด เรามองไม่เห็นทางข้างหน้าในอนาคตเลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง เราไม่รู้ว่าควรเหยียบเบรก จอด เร่งเครื่อง เลี้ยวไปทางไหน ถอยหลัง หรือกลับรถ ฯลฯ

ที่เราทำได้ก็แค่มองกระจกหลัง สำรวจดูทางที่แล่นผ่านมาในอดีตซึ่งเราพอรู้อยู่บ้าง แล้วนึกคิดสรุปเอาว่าทางข้างหน้าก็คงเหมือนๆ กับทางในอดีตที่ผ่านมานั่นแหละ แล้วหมุนพวงมาลัยบังคับรถไปตามบทเรียนประสบการณ์ความจัดเจนที่แล้วมาของเราเท่านั้นเอง…

การขับรถที่ไม่เห็นทางข้างหน้าในอนาคต ได้แต่มองกระจกหลังดูทางที่ผ่านมาในอดีต แล้วบังคับรถแล่นไปถ่ายเดียว คือชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของคนเราที่มีประวัติศาสตร์ – จะถือว่าได้รับพรสวรรค์/หรือถูกสาปแช่งก็แล้วแต่มุมมอง – ให้เป็นสิ่งมีชีวิตทางประวัติศาสตร์ (historical being) ดังที่คาร์ล มาร์กซ์ บิดาแห่งลัทธิมาร์กซิสต์ (ค.ศ.1818-1883) เคยกล่าวไว้ว่า :

“คนเราสร้างประวัติศาสตร์ของตัวขึ้นเอง ทว่าพวกเขาหาใช่สร้างมันได้ตามใจชอบไม่ พวกเขาไม่ได้สร้างมันภายใต้สภาพการณ์ที่พวกเขาเลือกเอง หากแต่ภายใต้สภาพการณ์ที่ดำรงอยู่แล้วซึ่งมอบหมายและตกทอดมาจากอดีต ประเพณีของคนรุ่นก่อนๆ ผู้วายชนม์ไปแล้วทั้งปวงหน่วงทับสมองของผู้ยังมีชีวิตอยู่ราวกับฝันร้าย” (ผู้เขียนแปลจาก The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte, 1851-52 https://www.marxists.org/archive/marx/works/download/pdf/18th-Brumaire.pdf)

ก็แลภาพรวมของอดีตที่ผมอยากชี้ชวนให้เหลียวมาข้างหลังเพื่อเล็งแลไปยังปลายอุโมงค์ข้างหน้า – ที่เอาเข้าจริงเรามองไม่เห็นนั้น – ได้แก่แผนภูมิการเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shifts) 3 ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่นับแต่ราวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

กระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจแต่ละครั้งแต่ละรอบ เริ่มต้นจาก :

– การเปลี่ยนแปลงเติบโตทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ในประเทศสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายเปิดประเทศรับกระแสเศรษฐกิจการค้าการลงทุนโลกร่วมสมัย

– ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในความหมายเกิดกลุ่มคน/ชนชั้นใหม่ หรือกลุ่มคน/ชนชั้นที่ดำรงอยู่มาก่อนขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกาะเกี่ยวเชื่อมสัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจข้างต้น จนพวกเขารุ่งเรืองมั่งคั่งขึ้นทางเศรษฐกิจและไต่เต้ายกระดับฐานะสูงขึ้นทางสังคม

– กระทั่งถึงจุดที่กลุ่มคน/ชนชั้นใหม่เหล่านี้พบว่าระเบียบการเมืองการปกครองเดิมที่ผูกขาดครอบงำโดยกลุ่มคน/ชนชั้นปกครองเก่าไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขาได้เข้าร่วมส่วนแบ่งปันอำนาจทางการเมืองอีกต่อไป ณ จุดนั้นก็จะเริ่มเกิดการท้าประชันแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างดุเดือดยืดเยื้อหลายยกหลายรอบระหว่างกลุ่มคน/ชนชั้นใหม่กับกลุ่มคน/ชนชั้นปกครองเก่า ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนระบอบการเมืองการปกครองไปจากเดิม โดยไม่แน่ว่าระบอบใหม่ที่เกิดมาจะต้องเป็นไปตามความมุ่งมาดปรารถนาของกลุ่มคน/ชนชั้นใหม่ล้วนๆ ถ่ายเดียว หากมักออกมาในลักษณะก้ำกึ่งประนีประนอมรอมชอมระดับใดระดับหนึ่งตามดุลกำลังอำนาจที่เป็นจริงระหว่างสองฝ่ายที่เปลี่ยนไป

อนึ่ง หลักหมายเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบแรก จากเจ้านายขุนนางไปสู่ -> ชนชั้นนำในระบบราชการ ได้แก่การปฏิวัติ พ.ศ.2475

หลักหมายของการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบสอง จากชนชั้นนำในระบบราชการไปสู่ -> คนชั้นกลางชาวเมือง ได้แก่การลุกฮือ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 และการลุกฮือพฤษภาประชาธรรม พ.ศ.2535

ส่วนหลักหมายของการเปลี่ยนย้ายอำนาจรอบสาม จากคนชั้นกลางชาวเมืองไปสู่ -> คนชั้นกลางระดับล่างในชนบทและเศรษฐกิจนอกระบบ ได้แก่ กระบวนการขัดแย้งต่อสู้ทางการเมืองสืบเนื่องจากระบอบทักษิณกับฝ่ายต่อต้านที่ดุเดือดยืดเยื้อกว่าทศวรรษมาจนถึงปัจจุบัน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)