หนุ่มเมืองจันท์ บอกเล่า “ค่า” ที่แตกต่าง เงินนั้นสำคัญขนาดไหน เรื่องเล่า ปราย พันแสง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ช่วงส่งท้ายปีเก่า ผมมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต 2 เรื่อง

แต่เป็น “เรื่องเล่า” นะครับ

บางครั้งแค่เราได้ฟังเรื่องดีๆ จากคนอื่นก็มีความสุขได้

เรื่องแรก เป็นเรื่องของน้องคนหนึ่ง

เขาบอกว่า “วันนี้ผมได้ของขวัญวันคริสต์มาสที่ดีมาก”

ไม่ใช่เป็น “สิ่งของ” ครับ

แต่เป็น “ความรู้สึก” ดีๆ จากการช่วยเหลือคน

น้องคนนี้กับเพื่อนๆ เป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีลูกหนี้คนเดียวกัน

เธอยืมเงินแล้วไม่ยอมจ่าย

นานเกือบ 3 ปีแล้ว

รวมยอดหนี้ก็เป็นหลักล้านบาท

เจ้าหนี้แต่ละคนก็แทง “หนี้สูญ” กันไปแล้ว

แต่น้องคนนี้ไม่

เขายังนัด “ลูกหนี้” คนนี้คุยเป็นประจำ

ให้เธอเขียนเช็คสั่งจ่ายทุกคน

ครบกำหนดยังไม่มีเงินจ่ายก็ให้เปลี่ยนเช็คใบใหม่

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องหลัก

เพราะเป้าหมายแท้จริงของเขาคือต้องการให้เธอหลุดจากกับดักหนี้

ในมุมหนึ่ง “ลูกหนี้” คนนี้ก็น่าสงสาร ฐานะที่บ้านยากจนมาก่อน พอเริ่มทำงานมีเงินมากขึ้นก็อยากสร้างการยอมรับในสังคม

ด้วยรถ กระเป๋า และการใช้ชีวิต

กราฟชีวิตที่ควรจะก้าวขึ้นไปช้าๆ ก็สับสน

ธุรกิจส่วนตัวที่เพิ่งเริ่มต้นก็โดนโกง

เริ่มกู้เงินจากเพื่อนฝูง ผัดวันประกันพุ่ง เครดิตกับเพื่อนฝูงก็หาย

กราฟชีวิตพันกันวุ่นวายเหมือน “ใยแมงมุม”

แก้เท่าไรก็แก้ไม่หลุด

 

น้องคนนี้พยายามช่วยแก้ปัญหาให้ แนะนำให้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่

เลิกทำตัวรวยเกินฐานะ

อะไรที่ผิดพลาดไปแล้วก็แล้วไป

ต้องลดรายจ่าย หยุดฟุ่มเฟือย

จมให้ลง

ปีแรกผ่านไป ยังไม่เห็นแวว

เจอกันครั้งแรกก็ยังมาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่

กระเป๋าแบรนด์เนม

นอกจากไม่ยอม “จม” แล้ว ยัง “ลอย” ขึ้นยิ่งกว่าเดิม

แต่น้องคนนี้ก็ไม่ย่อท้อ นัดคุยอยู่เรื่อยๆ

ยอมเสียเวลาโดยไม่จำเป็น

จนวันนี้เขาบอกเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงของ “ลูกหนี้” คนนี้ให้ฟัง

เธอเปลี่ยนมาทำงานประจำแล้ว

ขายรถทิ้ง มานั่งรถเมล์ต่อรถตู้ไปทำงาน

ขากลับติดรถเพื่อนกลับ

เลิกใช้ของฟุ่มเฟือย

ทำกับข้าวกินเอง

“mind set ของเธอดีมากเลย”

มีนาคม ปีหน้า เธอจะเริ่มผ่อนหนี้แล้ว

แม้เป็นจำนวนเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่มีอยู่

แต่เป็นการเริ่มต้นสร้างเครดิตใหม่ที่น่าชื่นชม

“การมาอัพเดตชีวิตของเธอวันนี้ ถือเป็นของขวัญวันคริสต์มาสที่ดีมากเลยครับ”

เขาดีใจที่เห็นพัฒนาการของเธอ

น้องคนนี้ไม่ได้คิดเรื่อง “เงิน”

แต่เขาอยากช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์

ในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง

ฟังแล้วมีความสุข

 

อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องในเฟซบุ๊กของ “ปราย พันแสง”

“ปราย” เป็นนักเขียนที่เคยประจำการอยู่ใน “มติชนสุดสัปดาห์” มายาวนาน

ตอนที่ผมยังทำสำนักพิมพ์มติชนอยู่

หนังสือของ “ปราย” คือ หนังสือขายดี

ขอโทษครับ ขายดีมากกกก…

วันนี้เธอกลับไปอยู่บ้านที่โคราช

ใช้ชีวิตเรียบง่ายแต่ยังคงสีสันแบบเดิม

เปิดโรงเรียนแมวเหมียวสอนเรื่องการเขียนหนังสือทางออนไลน์

มีหลายคอร์สให้เลือก

เขียนปักใจ-7 DAY STATUS -เขียนความรัก

ผมชอบเรื่องการสร้างบ้านยุ้งข้าวของ “ปราย” มาก

เธอคุยว่าจ้าง “เจ้ย” ช่างไม้แถวบ้านรับสร้างบ้านในฝันให้หน่อย

แต่ไม่ว่างเสียที

จนวันหนึ่ง ภรรยาของช่างไม้เส้นเลือดในสมองตีบ

ออกจากโรงพยาบาลด้วยสภาพที่เปลี่ยนไป

พร้อมด้วยโรคร้ายมากมาย

หนึ่งในนั้นคือ “โรคไต”

ต้องฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

จนวันก่อน ช่างเจ้ยเดินมาที่บ้านบอกเธอว่าจะเริ่มสร้างบ้านให้แล้ว

มาบอกกล่าวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

ตอนเย็น “ปราย” ไปดูงานเล็มกิ่งไม้ในสวน

งานนี้เธอจ้าง “น้าแก้ว” เป็นคนจัดการ

“น้าแก้ว” เป็นคนงานฝีมือดีมาก ใครๆ ก็อยากจ้าง

เพื่อผูกมัดให้ “น้าแก้ว” ทำงานกับเธอ

“ปราย” ยอมจ่ายค่าแรงวันละ 350 บาทแพงกว่าราคาตลาด 50 บาท

แต่พอเจอหน้ากัน “น้าแก้ว” ก็บอกว่าพรุ่งนี้คงไม่ได้มาทำงานให้แล้วนะ

“ต้องไปช่วยเจ้ยสร้างบ้าน”

“อ้าว ไหนน้าแก้วบอกว่าจะช่วยตัดต้นไม้ริมน้ำให้เสร็จก่อน หรือว่าเจ้ยจ้างแพงกว่า”ปรายแกล้งว่าให้

“เจ้ยจ้างน้าแก้ววันละเท่าไร”

“เจ้ยจ่ายวันละสามร้อย” เขาตอบ

“ทิ้งงานวันละสามร้อยห้าสิบไปรับงานสามร้อยนี่นะ” ปรายร้องเสียงดัง

ครับ ตอนที่ผมอ่านถึงตอนนี้

ผมก็ยังงง

“น้าแก้ว” ใช้หลักคิดแบบไหน

ทิ้งงานที่ได้เงิน “มากกว่า” ไปรับงานที่ได้เงิน “น้อยกว่า”

แต่คำตอบของ “น้าแก้ว” ทำให้ผมอึ้ง

“ได้วันละสามร้อยก็ต้องไปช่วยเจ้ยก่อน เดี๋ยวเจ้ยไม่มีเงินพาเมียไปหาหมอ”

คารวะเลยครับ

มันไม่ใช่เรื่อง “จำนวนเงิน”

แต่เป็นเรื่อง “น้ำใจ”

ถ้าเขาไม่ไปช่วยเจ้ย

เจ้ยจะไม่ได้ค่าจ้างทำบ้าน

ไม่มีเงินไปฟอกไต

เป็นวิธีคิดที่ไม่มี “มูลค่า” ของ “เงิน” มาเกี่ยวข้องเลย

ผมฟังเรื่องของ “ปราย” และของน้องคนนั้นแล้วรู้สึกขึ้นมาอย่างหนึ่ง

“เงิน” อาจเป็นสิ่งที่มี “ราคา”

มี “มูลค่า”

แต่ “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่มี “คุณค่า”

และ “ความสุข” ในชีวิตไม่ได้เกิดจากสิ่งที่มี “มูลค่า”

แต่มาจาก “คุณค่า” ของสิ่งนั้น