เศรษฐกิจ / ไฟส่อง 15 รัฐมนตรีดรีมทีม ศก.บิ๊กตู่ 2 แบ่งเค้กดูแลคนจน-อุ้มเกษตรกร เดิมพันฐานเสียง 40 ล้านคะแนน

เศรษฐกิจ

 

ไฟส่อง 15 รัฐมนตรีดรีมทีม ศก.บิ๊กตู่ 2

แบ่งเค้กดูแลคนจน-อุ้มเกษตรกร

เดิมพันฐานเสียง 40 ล้านคะแนน

 

ถึงวันนี้รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” น่าจะเข้ากระทรวงกันจนครบแล้ว และเริ่มเห็นเค้าว่าจะลุยงานด้านเศรษฐกิจกันอย่างไรบ้างแล้ว เป็นธรรมชาติ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ หลายฝ่ายก็ตั้งความหวังที่จะเห็นนโยบายเศรษฐกิจล็อตใหม่ ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นและเป็นความหวังคลี่คลายปัญหา ครั้งนี้ก็เช่นกัน หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาช่วยทำให้ไทยเดินฝ่ามรสุมสงครามการค้า ที่กำลังระอุ

สงครามการค้าตอบโต้ไปมาทั้งจากสหรัฐกับจีน สหรัฐกับอียู ลุกลามไปเรื่อยๆ การส่งออกไทยหนีไม่รอดหดตัวแน่นอน เอกชนต่างถอยตัวเลขคาดการณ์ตั้งแต่มองไว้บวก 4-5% ถอยมาจนมองว่าโอกาสติดลบ 1% คงเหลือแต่กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าการส่งออกบวก 3%

ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาครัฐมองว่าปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตในระดับใกล้ 3.5% ขณะที่เอกชนมองต่ำกว่าและเห็นว่าดีสุดคงโตได้แค่ 3.3% บางสำนักมองว่าโตแค่ 3% เท่านั้นแล้ว!!

จึงเป็นความท้าทายว่านโยบายและโครงการต่างๆ ของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะมีทีเด็ดแค่ไหน?

 

เริ่มที่นโยบายแรกๆ ที่จะออกมาคงหนีไม่พ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องนี้ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ออกตัวแรงตั้งแต่ออกงานครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยประกาศหลังเปิดเปิดงาน mai FORUM 2019 : มหกรรมรวมพลังคน mai ที่มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าฟังเกือบ 200 ราย

“ถ้าดูตามความจำเป็น รัฐบาลชุดใหม่ต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยจะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังผันผวน เป็นมาตรการสร้างความเข้มแข็งทำให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะดูแลตนเองไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภายนอกประเทศ เพราะขณะนี้การส่งออกของไทยลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ต้องใช้เศรษฐกิจในประเทศขับเคลื่อน”

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้ข้าราชการกระทรวงการคลังเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ทันที โดยมาตรการเน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ดูแลคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการดูแลเอสเอ็มอี มีงบประมาณเตรียมไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ในส่วนสวัสดิการคนจน ขณะนี้แจกสวัสดิการพื้นฐาน ประกอบด้วย วงเงินซื้อของร้านธงฟ้าเดือนละ 200-300 บาท ค่ารถเมล์เดือนละ 500 บาท รถไฟเดือนละ 500 บาท รถ บขส.และรถไฟฟ้ารวมกันเดือนละ 500 บาท ส่วนลดในการซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน ทั้งหมดใช้เงินเดือนละ 3-4 พันล้านบาท หรือประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท

หลายฝ่ายเชื่อว่ามีเฮต่อ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่จะปรับสวัสดิการพื้นฐานให้มากขึ้น โดยเฉพาะวงเงินซื้อของรายเดือนกับร้านธงฟ้าให้มากกว่า 500 บาทต่อเดือน โดยมาตรการใหม่จะใช้หลังการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ในปีนี้ และประกาศใช้มาตรการใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และมีโอกาสซ้ำรอยมอบของขวัญให้ประชาชน ด้วยการแจกเงินให้คนจนเพิ่มเติม เหมือนเคยทำมาแล้วในรัฐบาล คสช.

เช่น แจกเงินช่วงปีใหม่ แจกเงินค่าหาหมอให้กับคนชรา แจกค่าน้ำ ค่าไฟ แจกเบี้ยคนพิการ ให้เงินผู้ปกครองซื้อชุดนักเรียน เพิ่มเงินสำหรับซื้อของร้านธงฟ้า รวมถึงแจกเงินซื้อของร้านธงฟ้าเพิ่มเพื่อจูงใจให้มาเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ

เงินที่แจกเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว นอกจากจะซื้อใจคนถือบัตรสวัสดิการทั้ง 14.5 ล้านรายให้มีความรู้สึกดีๆ กับรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

ทางวิชาการอธิบายไว้ว่า คนมีรายได้น้อย เมื่อได้รับเงิน จะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายทันที

ส่วนจะได้ผลดีอย่างที่หวังไว้ทุกครั้งที่จะใช้งบประมาณ ว่านี่คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้คึกคัก และแรงส่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมไปพร้อมกันนั้น จะได้มากน้อยแค่ไหน หรือเกิดอาการดื้อยา!!

 

อีกนโยบายที่ไม่น่าจะน้อยกว่ากัน ทั้งความแรงของนโยบายและงบประมาณที่จะนำมาใช้ คือแก้ปัญหาภาคเกษตร ที่เริ่มส่งสัญญาณและรอคอยว่ารัฐบาลใหม่รัฐมนตรีใหม่ จะมาแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างไร โดยเฉพาะภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลทุกสมัยให้ความสำคัญกับเกษตรกร เพราะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีจำนวนกว่า 30 ล้านคน

มาตรการดูแลสินค้าเกษตร คงเดาไม่ยาก แน่แล้วต้องใช้คำ “ประกันรายได้” ที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะมาใช้อีกรอบ และตอกย้ำอีกเมื่อพรรคประชาธิปัตย์คุมทั้งกระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องราคาและการทำตลาดสินค้าเกษตร คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลเกษตรกรและการปลูกพืช

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศไปแล้วว่า มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดันคือ นโยบายประกันรายได้ และหนึ่งในเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลคือ ต้องบรรจุนโยบายเรื่อง การประกันรายได้เกษตรกร ในเรื่องของข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เข้าไปเป็นนโยบายรัฐบาล

ทางแกนนำพรรคประชาธิปัตย์สั่งการไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมการค้าภายในให้เตรียมพร้อมการประกันราคาสินค้าเกษตรไว้แล้ว คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ามาตรการประกันรายได้เกษตรกรจะเข้ามาทดแทนมาตรการชดเชยรายได้เกษตรกรของรัฐบาล คสช.อย่างแน่นอน?

 

ฟากลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) อีกเรื่องที่ไม่ควรกะพริบตา น่าจะเรื่องผลักดันต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาล คสช.วางรากฐานการลงทุนไว้เป็นอย่างดี ทั้งการริเริ่มโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การผลักดันรถไฟฟ้าสีต่างๆ โครงการขยายทางหลวง โครงการมอเตอร์เวย์สายใหม่ ท่าเทียบเรือน้ำลึก ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในปี 2558-2565 ช่วงปี 2562 มีโครงการเร่งด่วน 41 โครงการ รอเสนอ ครม. 21 โครงการ มูลค่ากว่า 1.39 ล้านล้านบาท และอีก 17 โครงการอยู่ในขั้นตอนประมูล มีมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท

มีโครงการขนาดใหญ่รอ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จากพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องผลักดันและตัดสินใจ เช่น รถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง คือ ไทย-จีน เฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พิษณุโลก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ โครงการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์อีกหลายเส้นทาง เช่น สายนครปฐม-ชะอำ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ขณะนี้รอเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน

กำลังรอผลการศึกษารูปแบบของการร่วมลงทุนจากภาครัฐ (พีพีพี)

 

ส่วนโครงการลงทุนในอีอีซี แม้ล่าสุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 อนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังรอลงนามระหว่างรัฐและเอกชนในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยยังมีอีกหลายโครงการต้องเร่งผลักดันเพื่อให้อีอีซีเกิดให้เร็วที่สุด

การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ถือเป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจในระยะยาว ที่ผ่านมาไทยขาดการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มานานนับ 10 ปี จึงทำให้จีดีพีขณะนี้โตได้ 3-4% ถือว่าเก่งแล้ว

ถ้าโครงการอีอีซีและเมกะโปรเจ็กต์เดินได้ตามแผนที่วางไว้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาวโตได้เกิน 4% ถือเป็นระดับศักยภาพที่จะเติบโตได้ของเศรษฐกิจไทย

ด้วยถูกมองว่าเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ และไม่มีคำพยากรณ์ใดที่ระบุว่าอายุรัฐบาลใหม่จะรุ่งโรจน์ได้ยาวนานแค่ไหน!!

ดังนั้น แผนงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ คงมาแบบชกสั้นๆ จึงหนีไม่พ้นแจกเงินคนจน พยุงราคาสินค้าเกษตร เพราะคนใน 2 กลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 40 ล้านคน เป็นฐานเสียงสำคัญของรัฐบาลเลือกตั้ง

 

ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ลูกผสมจากหลายพรรค โดยใน 8 กระทรวงด้านเศรษฐกิจ แต่มีรัฐมนตรีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย รวม 15 คน จาก 4 พรรคการเมือง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา อาจยากที่จะเห็นเศรษฐกิจดรีมทีม

ยังไม่ทันทำงาน มีข่าวแย่งห้องทำงานระหว่างรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีรัฐมนตรีมากที่สุดถึง 4 คนจาก 4 พรรค เรียกว่าท็อปฟอร์มทั้งจำนวนและคนที่ถูกเลือกให้มาดำรงตำแหน่ง

     ถ้ามาตรการด้านเศรษฐกิจไม่เจ๋งจริง เศรษฐกิจไทยในปี 2562 อาจแย่กว่าที่เป็นอยู่!