คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เมื่อคำสอน “โพธิจิต” ทำให้หัวใจสั่นไหว และความเมตตาของพระอาจารย์รูปหนึ่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“หากปราศจากโพธิจิตแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นมหายาน” พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช กล่าวขึ้นในการให้คำสอนเรื่อง “โพธิจิตและความกรุณาต่อสรรพสัตว์” ที่วัชรสิทธา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ผมได้ขอความอนุเคราะห์จากมูลนิธิพันดารา ในโอกาสที่ท่านพระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช พระอาจารย์สำคัญในนิกายสาเกียปะของพุทธศาสนาวัชรยานได้เดินทางมาให้คำสอนที่เมืองไทย ให้ท่านได้มาโปรดพวกเราชาววัชรสิทธาด้วย

คำว่า “ริมโปเช” ถ้าผมจำไม่ผิดแปลว่า รัตนมณี หรือ ประเสริฐ นามนี้เป็นสมณศักดิ์ระดับสูงของพุทธศาสนาแบบทิเบต ถ้าเทียบกับไทยก็คงประมาณ “สมเด็จ” อะไรอย่างนั้น ริมโปเชเกือบทั้งหมดเป็น “ทุลกุ” หรือคุรุที่กลับชาติมาเกิดเพื่อกระทำกรณียกิจในการโปรดเวไนยให้ลุล่วง ริมโปเชมีทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส

“องค์ทะไลลามะ” ที่เราเรียกขานพระนามนั้น ชาวทิเบตรู้จักท่านในนาม “เกียลวา ริมโปเช” มากกว่าพระนามที่รู้จักกันในทางสากล

 

ท่านกุงกา ซังโป ริมโปเช เป็นพระภิกษุนักวิชาการ ผมได้พบท่านช่วงแรกในราวปี 2548-2549 ในครั้งนั้น อาจารย์ ดร.กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมทิเบต จึงได้พบท่านและเชิญท่านมายังเมืองไทย ช่วงว่างๆ ท่านก็มานั่งเล่นอยู่ที่ห้องพักอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยนั้นผมยังเรียนปริญญาโทอยู่ พอเห็นพระทิเบตก็เลยเข้าไปเพราะอยากรู้อยากเห็น อยากคุยด้วย

ปรากฏว่าท่านเพิ่งเรียนภาษาอังกฤษได้ไม่นาน สื่อสารกันแทบไม่ได้ เลยได้แต่ยิ้มกันไปกันมา จู่ๆ ท่านก็หยิบกระดาษเอสี่ใบหนึ่ง เขียนอะไรยุกๆ ยิกๆ แล้วส่งให้

มาทราบภายหลังเมื่อท่านอาจารย์กฤษดาวรรณแปลให้ว่า ท่านเขียนกลอนเกี่ยวกับมหาโยคีท่านหนึ่ง พร้อมลงชื่อว่า กุงกา ซังโป ริมโปเช ภิกษุในพุทธศาสนามอบให้ “เพื่อนใหม่”

หลังจากนั้น ผมได้รับพรจากท่านอีกหลายวาระโอกาส ครั้งใดที่ท่านมาเมืองไทย ก็จะหาโอกาสไปเรียนคำสอนและรับพรกับท่านเสมอ

 

ริมโปเช เป็นพระภิกษุร่างท้วม รูปร่างสูงใหญ่ตามแบบฉบับของชนเผ่าเร่ร่อน มีความร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ หัวเราะเสียงดัง และมีความเมตตากรุณาอย่างสัมผัสได้ ปราศจากความถือตนและเป็นกันเองกับทุกคน ทั้งๆ ที่เป็นพระภิกษุที่มีสมณศักดิ์สูงยิ่ง

ในปีนี้เมื่อทราบว่าท่านมาเมืองไทย ผมจึงไปเรียนคำสอนกับท่านที่ขทิรวัน ศูนย์ปฏิบัติธรรมของมูลนิธิพันดาราที่หัวหิน และได้ขอเชิญท่านพร้อมด้วยสมาชิกสังฆะพันดารา มาเยี่ยมเยียนพวกเราที่วัชรสิทธา

ก่อนหน้านั้น ในใจผมคิดว่า จะขอให้ท่านสอนเรื่องอะไรดี ก็คิดว่า คำสอนเรื่อง “โพธิจิต” น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมและดีงามที่สุด เพราะคำสอนนี้บรรดาคุรุอาจารย์ทั้งหลายนับถือว่า เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา

และน่าจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยในเวลานี้ต้องการมากที่สุด

 

“โพธิจิต” โดยศัพท์หมายถึงจิตที่พร้อมจะเข้าถึงการตื่นรู้ หรือจิตแห่งโพธิ โดยความหมาย หมายถึงจิตอันพร้อมจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่น จิตที่มุ่งหมายให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์และเข้าถึงพระโพธิญาณทั้งหมดทั้งสิ้น

วิจักขณ์มักกล่าวถึงโพธิจิตด้วยภาษาสมัยใหม่ว่า เป็นดุจ “แผลเปิด” หรือ “รอยร้าวของกำแพง” ที่เราเลิกที่จะปิดกั้นตนเอง เปิดหัวใจให้ความอ่อนไหวต่อความทุกข์ของผู้อื่นเกิดขึ้น

ริมโปเชย้ำว่า ในทัศนะแบบมหายานแล้ว หากแม้จะปฏิบัติธรรมได้ดีเพียงใด แม้จะภาวนาอย่างเชี่ยวชาญ หากขาดโพธิจิต ก็จะไม่มีทางบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ

ครูบาอาจารย์หลายท่านมักกล่าวว่า หากขาดโพธิจิต การปฏิบัติทางศาสนาทั้งหลายก็อาจเป็นอันตรายได้ เพราะเราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับอัตตาโดยไม่รู้ตัว

ดังเช่นปรากฏการณ์ “ติดดี” ที่กระจายไปทั่วในสังคมไทยเวลานี้ “คนดี” ที่ชอบเข้าวัดวาทำบุญนั่งสมาธิ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เหี้ยมโหดไร้เมตตาต่อผู้ที่ต่างจากตนหรือคิดไม่เหมือนตน

คำสอนแห่งโพธิจิตประสานกับคำสอนแห่งศูนยตา หรือความว่าง จึงจะทำให้การบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นไปได้ (ต้องบอกว่า ชาวมหายานมีอุดมคติไม่เพียงบรรลุอรหันตผล แต่ต้องการบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อจะฉุดช่วยสรรพสัตว์ให้ได้มากที่สุด)

แต่เราจะพัฒนาโพธิจิต หรือความรักความเมตตาอันไม่มีประมาณนี้ได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตของเรายังเต็มไปด้วยคนที่รักและคนที่ชัง

 

ริมโปเชได้ยกคำสอนของพระอาจารย์อตีศะ คุรุชาวอินเดียผู้เผยแพร่พุทธศาสนาในทิเบตยุคแรกๆ ว่า เราสามารถพัฒนาโพธิจิต หรือความรักความกรุณาอย่างไม่มีประมาณได้ โดยคิดเป็นขั้นเป็นตอนว่า ในชีวิตนี้ เรารักแม่ของเรา และแม่ของเราก็รักเรามากเช่นกัน (ริมโปเชกล่าวว่า ในโลกสมัยใหม่คนอาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับพ่อแม่ ก็ขอให้นึกถึงคนที่เรารัก เช่นคนรักหรือเพื่อนก็ได้)

ต่อมา จึงคิดว่าในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ สรรพชีวิตทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิด ก็เคยเกิดเป็นแม่ของเรามาแล้วทั้งนั้น อาจในภพชาติใดภพชาติหนึ่ง ไม่มีชีวิตไหนเลยที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่ของเรา

ด้วยเหตุนี้ เราระลึกได้ถึงความรักที่แม่มีต่อเรา สรรพสัตว์เหล่านั้นก็เช่นกัน ได้เคยรักและโอบอุ้มเราเช่นเดียวกับแม่ของเราในชาตินี้ เมื่อเราเกิดความรู้สึกนี้ขึ้น เราจึงพร้อมจะตอบแทนคุณ

เมื่อปรารถนาจะตอบแทนคุณจึงตั้งจิตแผ่เมตตาให้ และตั้งปณิธานที่จะรับใช้ “พ่อแม่สัตว์โลก” ในขั้นนี้ “โพธิจิตปณิธาน” ได้กำเนิดขึ้นแล้ว จากนั้นเมื่อเราได้ลงมือกระทำเพื่อช่วยพ่อแม่สัตว์โลกให้ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ จึงได้เกิด “โพธิจิตปฏิบัติ”

ที่จริงนอกจากวิธีการของพระอาจารย์อตีศะแล้ว ยังมีอุบายเพื่อเพิ่มพูนโพธิจิตอีกมากมาย เพียงแต่ยังละไว้ไม่ได้นำมากล่าวถึงในที่นี้

 

ริมโปเชเล่าว่า คุณแม่ของท่านเป็น “โพธิจิตที่มีชีวิต” ตั้งแต่จำความได้ คุณแม่จะนำอาหารที่ดีที่สุดให้คนอื่นทาน ส่วนตัวเองกินเพียงอะไรธรรมดาๆ มีอะไรที่ดีจะนึกถึงคนอื่นก่อนตนเองเสมอ

ตั้งแต่เริ่มธรรมบรรยาย ผมนั่งร้องไห้ไปตลอดจนจบ ไม่เพียงเพราะความลึกซึ้งของคำสอน ซึ่งหลายคนที่สนใจเรื่องนี้คงได้เคยอ่านจากหนังสือทั้งหลายมาแล้ว แต่การได้ฟังธรรมจากผู้ที่ปฏิบัติมายาวนานมันช่างทรงพลัง และการปรากฏอยู่ของริมโปเชในห้องนั้นช่างอบอุ่นงดงาม เป็นการปรากฏของ “กายวาจาใจ” แห่งคุรุอย่างพรั้งพร้อมต่อเราผู้มีโชค

วิจักขณ์ถามคำถามหนึ่งว่า ริมโปเชเป็นชาวทิเบต การที่ทิเบตถูกจีนรุกราน ทำร้ายและกดขี่อย่างรุนแรงด้วยประการต่างๆ ท่านยังรักษาโพธิจิตโดยไม่โกรธเกลียดชาวจีนได้อย่างไร และหากโพธิจิตอ่อนลง ท่านปลุกเร้าขึ้นมาได้อย่างไร

ริมโปเชตอบว่า ท่านคงไม่อาจตอบแทนคนทิเบตคนอื่นๆ สำหรับท่านที่เป็นผู้ปฏิบัติ ท่านได้คิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เป็นเพราะเป็นผลกรรมของสิ่งที่เราทำในอดีต เราได้เคยกระทำต่อเขาอย่างไม่ดีมาก่อน เราจึงได้รับผลเช่นนี้ เราจึงไม่ควรโกรธเกลียดเขา ควรที่ต้องเมตตาต่อเขา และรับเอาความยากลำบากและความทุกข์ไว้ทั้งหมด เพราะยิ่งมีความยากลำบากการปฏิบัติก็ยิ่งก้าวหน้า

ศัตรูเป็นเพียงคำเรียกของสิ่งที่จิตสร้างขึ้น เพราะโดยเนื้อแท้ สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นเพียงความว่าง

ส่วนการปลุกเร้าโพธิจิตนั้น ท่านเปรียบว่า ดุจไฟกับฟืน คนที่ทำไม่ดีกับเราเหมือนฟืน ไม่มีใครควรด่าว่าฟืน เพราะฟืนทำให้ไฟติด โพธิจิตก็เหมือนกับไฟ ยิ่งฟืนมาก ไฟก็ยิ่งแรงขึ้น

และท่านกล่าวง่ายๆ ว่า เมื่อเราได้มอบพ่ายแพ้ให้ตนเองอย่างเต็มใจ และมอบชัยชนะแก่ผู้อื่นแล้ว เมื่อนั้นโพธิจิตก็เข้มแข็ง

 

ท่านเล่าในตอนจบธรรมบรรยายว่า คุรุของท่านคือ อาตรัก ริมโปเช ได้เล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า มีคุณยายท่านหนึ่งอาศัยใกล้ๆ วัด คุณยายท่านนี้ไม่ได้ปฏิบัติอะไรซับซ้อนมากมาย ทำแค่เพียงเจริญโพธิจิตเพียงอย่างเดียวมาตลอดชีวิต เมื่อใกล้สิ้นใจ คุณยายได้ดำรงสติและสิ้นชีวิตในท่าสีหไสยาสน์ ดุจเดียวกับพุทธปรินิพพาน เป็นที่อัศจรรย์ของผู้คน แม้พระภิกษุก็น้อยนักที่จะเป็นเช่นนี้ จึงควรเจริญโพธิจิตอยู่เสมอ

ผมขอจบบทความนี้อย่างเต็มตื้นในหัวใจด้วยบทสวดที่ริมโปเชสวดในท้ายธรรมบรรยายว่า

พระโพธิจิตอันประเสริฐ ขอให้บังเกิดในจิตของผู้ปราศจากโพธิจิต

ผู้มีโพธิจิตแล้ว ขออย่าได้เสื่อมสลายไป

แต่เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป