สุรชาติ บำรุงสุข | เปิดข้อมูลอำนาจกำลังรบไทย : สำรวจสถานะเชิงมหภาค

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ภารกิจของคณะนายทหาร [ไทย] ขยายขอบเขตเกินกว่าการป้องกันประเทศ และหน้าที่ทางทหารของนายทหารหลายๆ นายก็ถูกบดบังด้วยเรื่องของผลประโยชน์อย่างอื่นจนหมด”

US National Intelligence Survey, 1974

บทความนี้จะเป็นการทดลองนำเสนอภาพระดับมหภาคของกองทัพไทยในมิติของขีดความสามารถทางทหาร

ดังจะเห็นได้ว่าหากเปรียบเทียบขีดความสามารถทางทหารของกองทัพไทยในบริบทระหว่างประเทศแล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่ากองทัพไทยในปี 2559 ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่ 20 ของโลก ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่สถานะที่อยู่ในระดับต่ำเลย (การจัดลำดับของ The Global Firepower, 2016)

ดังนั้น หากพิจารณาขีดความสามารถทางทหารของไทยในมุมมองเปรียบเทียบแล้ว เราอาจแยกพิจารณาในรายละเอียดได้ ดังนี้

กำลังพลและยุทโธปกรณ์

กองทัพไทยมีกำลังพลทั้งหมด 360,850 นาย แยกเป็นกองทัพบก 245,000 นาย กองทัพเรือ 69,850 นาย และกองทัพอากาศ 46,000 นาย ด้วยขนาดเช่นนี้ กองทัพไทยมีความใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การจัดลำดับกองทัพในภูมิภาคเป็นดังนี้ 1) กองทัพเวียดนาม (482,000) 2) กองทัพเมียนมา (406,000) 3) กองทัพอินโดนีเซีย (395,500) 4) กองทัพไทย (360,850) 5) กองทัพฟิลิปปินส์ (125,000)

– กองทัพบก

กองทัพบกไทยมีกำลังพลรวม 245,000 นาย แยกเป็นทหารหลัก 130,000 และทหารเกณฑ์ 115,000 นาย และเป็นกองทัพบกในลำดับที่ 4 ของภูมิภาคเช่นกัน

ยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพบกไทยได้แก่ รถถังหลัก 303 คัน รถถังเบา 194 คัน รถรบทหารราบ 223 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,140 คัน ปืนใหญ่ 2,547 กระบอก

การจัดลำดับกำลังพลทางบกในภูมิภาคเป็นดังนี้

1) กองทัพบกเวียดนาม (412,000)

2) กองทัพบกเมียนมา (375,000)

3) กองทัพบกอินโดนีเซีย (300,400)

4) กองทัพบกไทย (245,000)

5) กองทัพบกฟิลิปปินส์ (86,000)

อำนาจกำลังรบทางบกเปรียบเทียบ หากถือเอาจำนวนรถถังหลักเป็นตัวชี้วัด จะมีลำดับดังนี้

1) กองทัพบกเวียดนามมีรถถังหลัก (1,270) รถถังเบา (620) รถรบทหารราบ (300) รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (1,380) และปืนใหญ่ (3,040) มากที่สุด และเป็นกองทัพบกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

2) กองทัพบกไทยจะมียุทโธปกรณ์มากเป็นลำดับที่ 2 ในภูมิภาค คือ รถถังหลัก (303) รถถังเบา (194) รถรบทหารราบ (223) รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (1,140)

3) กองทัพบกเมียนมา มีจำนวนรถถังหลัก (185) รถถังเบา (105) และปืนใหญ่ (419)

4) กองทัพบกสิงคโปร์มีรถถังหลัก (96) รถถังเบา (372) รถรบทหารราบ (572) รถหุ้มเกราะลำเลียงพล (1,530) และปืนใหญ่ (798) [กองทัพบกสิงคโปร์มีกำลังพลมากเป็นลำดับ 8 จำนวน 50,000 นาย แต่มียุทโธปกรณ์หลักเป็นจำนวนมาก]

5) ส่วนกองทัพบกอินโดนีเซีย มีรถถังหลัก (49) รถถังเบา (350) และปืนใหญ่ (1,100)

– กองทัพเรือ

กองทัพเรือไทยมีกำลังพลรวม 69,850 นาย แยกเป็นทหารหลัก 44,000 และทหารเกณฑ์ 25,850 นาย ในจำนวนนี้รวมนาวิกโยธิน 1,200 นาย และกำลังอากาศนาวี 1,200 นาย กองทัพเรือไทยมีจำนวนกำลังพลใหญ่เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค

ยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพเรือไทยได้แก่ เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือฟรีเกต 9 ลำ และเรือคอร์เวต 7 ลำ

การจัดลำดับของจำนวนกำลังพลในภูมิภาคเป็นดังนี้ 1) กองทัพเรือไทย (69,850) 2) กองทัพเรืออินโดนีเซีย (65,000) 3) กองทัพเรือเวียดนาม (40,000) 4) กองทัพเรือฟิลิปปินส์ (24,000) 5) กองทัพเรือเมียนมา (16,000)

– กำลังนาวิกโยธินไทย 23,000 นาย

ยุทโธปกรณ์หลักได้แก่ รถรบทหารราบ 14 คัน รถสะเทินน้ำสะเทินบกจู่โจม 33 คัน และปืนใหญ่ 48 กระบอก

– กำลังอากาศนาวีไทย 1,200 นาย

ยุทโธปกรณ์หลักได้แก่ เครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 3 ลำ

อำนาจกำลังรบทางเรือเปรียบเทียบ

1) กองทัพเรืออินโดนีเซียจะมีขนาดกำลังพลใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากไทย แต่กลับมีจำนวนเรือรบมากกว่าไทย ได้แก่ เรือฟรีเกต 12 ลำ เรือคอร์เวต 20 ลำ เรือดำน้ำ 2 ลำ และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล 23 ลำ

2) กำลังนาวิกโยธินอินโดนีเซียมี 20,000 นาย ซึ่งน้อยกว่าไทย แต่มียุทโธปกรณ์มากกว่า เช่น นย. อินโดนีเซียมีรถถังเบา 65 คัน รถรบทหารราบ 112 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 100 คัน และปืนใหญ่ 67 กระบอก

3) กองทัพเรือเวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 3 มีเรือดำน้ำ 7 ลำ เรือฟรีเกต 2 ลำ และเรือคอร์เวต 6 ลำ

4) กองทัพเรือฟิลิปปินส์ใหญ่เป็นอันดับ 4 แต่มีเรือฟรีเกตเพียง 1 ลำ

5) กองทัพเรือเมียนมาใหญ่เป็นอันดับ 5 มีเรือฟรีเกต 5 ลำ และเรือคอร์เวต 2 ลำ

6) กองทัพเรือมาเลเซียใหญ่เป็นอันดับ 6 มีเรือดำน้ำ 2 ลำ เรือฟรีเกต 10 ลำ และเรือคอร์เวต 4 ลำ

7) กองทัพเรือสิงคโปร์ใหญ่เป็นอันดับ 7 มีเรือดำน้ำ 4 ลำ เรือฟรีเกต 6 ลำ และเรือคอร์เวต 6 ลำ

– กองทัพอากาศ

กองทัพอากาศไทยมีกำลังพลรวม 46,000 นาย เป็นกองทัพอากาศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และมีเครื่องบินที่มีขีดความสามารถทำการรบประจำการ 150 ลำ

การจัดลำดับกองทัพอากาศในภูมิภาคเป็นดังนี้ 1) กองทัพอากาศไทย (46,000) 2) กองทัพอากาศอินโดนีเซีย (30,100) 3) กองทัพอากาศเวียดนาม (30,000) 4) กองทัพอากาศมาเลเซีย (15,000) 5) กองทัพอากาศเมียนมา (15,000) 6) กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ (15,000)

อำนาจกำลังรบทางอากาศเปรียบเทียบ

1)กำลังพลของกองทัพอากาศสิงคโปร์ใหญ่เป็นลำดับที่ 7 แต่มีเครื่องบินที่สามารถทำการรบได้ 134 เครื่อง ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินรบหลัก 129 เครื่อง [เครื่องบินขับไล่ (29) เครื่องบินขับไล่โจมตี (100)]

2) แม้กองทัพอากาศไทยจะมีกำลังพลใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีเครื่องบินที่สามารถทำการรบได้ 150 เครื่อง ในจำนวนนี้เป็นเครื่องบินรบหลัก 107 เครื่อง [เครื่องบินขับไล่ (78) เครื่องบินขับไล่โจมตี (12) เครื่องบินโจมตี (17)]

3) กองทัพอากาศเวียดนามใหญ่เป็นอันดับ 2 มีเครื่องบินขับไล่โจมตี 107 เครื่อง

4) กองทัพอากาศเมียนมา มีเครื่องบินที่สามารถทำการรบได้ 167 เครื่อง เป็นเครื่องบินรบหลัก 110 เครื่อง [เครื่องบินขับไล่ (88) เครื่องบินขับไล่โจมตี (22)]

5) กองทัพอากาศอินโดนีเซีย มีเครื่องบินที่สามารถทำการรบได้ 111 ลำ เป็นเครื่องบินรบหลัก 51 เครื่อง [เครื่องบินขับไล่ (22) เครื่องบินขับไล่โจมตี (29)]

6) กองทัพอากาศมาเลเซีย มีเครื่องบินที่สามารถทำการรบได้ 67 ลำ เป็นเครื่องบินรบหลัก 47 เครื่อง [เครื่องบินขับไล่ (21) เครื่องบินขับไล่โจมตี (26)]

กำลังเศรษฐกิจและงบทหาร

หากพิจารณาการขยายตัวแล้ว งบประมาณทหารไทยมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอำนาจที่เกิดจากการรัฐประหารเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศ และเมื่อพิจารณาจากบริบทระหว่างประเทศแล้ว ไทยจะเป็นประเทศที่มีงบประมาณทหารสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่มีงบประมาณทหารมากเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค

การจัดลำดับงบประมาณทหารในภูมิภาคในปี 2559 เป็นดังนี้

1) สิงคโปร์ (10,249 ล้านเหรียญสหรัฐ)

2) อินโดนีเซีย (8,171 ล้านเหรียญสหรัฐ)

3) ไทย (5,717 ล้านเหรียญสหรัฐ)

4) มาเลเซีย (4,218 ล้านเหรียญสหรัฐ)

5) เวียดนาม (4,010 ล้านเหรียญสหรัฐ)

แต่เมื่อพิจารณาเป็นค่าใช้จ่ายทางทหารต่อประชากรหนึ่งคนแล้ว ไทยมีค่าใช้จ่ายนี้สูงเป็นลำดับที่ 4 กล่าวคือ

1) สิงคโปร์ (ค่าใช้จ่ายทางทหารต่อหัว 1,773 เหรียญสหรัฐ)

2) บรูไน (ค่าใช้จ่ายทางทหารต่อหัว 920 เหรียญสหรัฐ)

3) มาเลเซีย (ค่าใช้จ่ายทางทหารต่อหัว 136 เหรียญสหรัฐ)

4) ไทย (ค่าใช้จ่ายทางทหารต่อหัว 40 เหรียญสหรัฐ)

5) กัมพูชา (ค่าใช้จ่ายทางทหารต่อหัว 39 เหรียญสหรัฐ)

ถ้าพิจารณาวัดจากสัดส่วนงบประมาณทหารต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) ซึ่งเป็นดัชนีวัดขีดความสามารถทางทหารในบริบททางเศรษฐกิจที่สำคัญประการหนึ่งจะพบว่า สัดส่วนนี้ของงบฯ ทหารไทยสูงเป็นลำดับที่ 6 ในภูมิภาค

ประเทศที่มีงบประมาณทหารต่อ GDP สูง 7 ลำดับแรกในภูมิภาคได้แก่ 1) บรูไน (ร้อยละ 3.84) 2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.46) 3) เมียนมา (ร้อยละ 3.32) 4) กัมพูชา (ร้อยละ 3.24) 5) เวียดนาม (ร้อยละ 2.01) 6) ไทย (ร้อยละ 1.46) 7) มาเลเซีย (ร้อยละ 1.39)

น่าสนใจว่างบประมาณทหารของอินโดนีเซียคิดเป็นร้อยละ 0.87 และของฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 0.83 เท่านั้น ซึ่งเป็นสองประเทศหลักในภูมิภาคที่มีการใช้งบประมาณทหารต่ำกว่าร้อยละ 1 ของ GDP

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเชื่อว่ารัฐบาลไทยในอนาคตจะสามารถเพิ่มงบประมาณทหารของประเทศให้อยู่ที่ระดับร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งการเพิ่มขึ้นของงบทหารในอนาคตจะนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะด้านหนึ่งสถานะทางเศรษฐกิจของไทยไม่ดีนัก และในอีกด้านการต่อต้านการใช้จ่ายของรัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร 2557 มีมากขึ้น ประกอบกับการเมืองในระบบรัฐสภาอาจจะไม่เปิดโอกาสให้กองทัพใช้งบประมาณได้ง่ายเช่นในอดีต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหารนั้นอาจจะเกิดได้ยากขึ้น และการจัดซื้อเช่นนี้จะเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในสังคมและในรัฐสภามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย…

หมด “นาทีทอง” ของการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารแล้ว!

หมายเหตุ : ข้อมูลมาจากหนังสือประจำปีของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ ฉบับปี 2560 (IISS, The Military Balance 2017, London, 2017)