เพ็ญสุภา สุขคตะ : ตามรอยเสด็จพระนางจามเทวี จากสถานที่และหลักฐาน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตามรอยเส้นทางเสด็จพระนางจามเทวี จากลวปุระถึงหริภุญไชย ศึกษาจากตำนานพงศาวดาร และสถานที่จริง (1)

จุดเริ่มต้นของการมุ่งมั่นสืบค้นเรื่องนี้ หนุนเนื่องมาจากเวทีเสวนา “สืบค้นพระราชประวัติพระนางจามเทวี” จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 อันเป็นวันสำคัญ ด้วยเหตุที่ตรงกับวันที่พระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองนครหริภุญไชย (ในตำนานระบุว่าพระนางจามเทวีขึ้นนั่งเมือง ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เหนือ พุทธศักราช 1204 เมื่อตรวจสอบกับปฏิทินร้อยปี จะตรงกับวันที่ 18 ธันวาคมพอดี) ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน

มีจำนวนผู้เข้าร่วมเสวนามากถึง 200 คน ประกอบด้วยบุคคลจากหลายภาคส่วน นับแต่ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชนในท้องถิ่น นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในล้านนาและจากภาคกลาง นักกิจกรรมเคลื่อนไหว ข้อสำคัญมีผู้เดินทางไกลมาร่วมงานนี้โดยตรง ทั้งจากจังหวัดลพบุรี (ละโว้) และจากต่างประเทศ

ดร.นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ดำริจัดงานสัมมนาครั้งนั้นว่ามีวัตถุประสงค์ต้องการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการทำงานสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลำพูน ระหว่างชาวลำพูน กับนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ที่มีแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อช่วยกันชำระประวัติศาสตร์หน้าที่คลุมเครือของนครหริภุญไชย

ทั้งนี้ เพื่อให้เมืองลำพูนเกิดความ “รุ่งเรืองและร่มเย็น” ด้วย “วิถีครูบา งานหน้าหมู่” คือเน้นการมีส่วนร่วมและเสียสละจากทุกภาคส่วน

 

นํามาซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งต่อๆ มาอย่างเป็นรูปธรรม คือ “โครงการตามรอยเสด็จพระนางจามเทวีจากลวปุระสู่หริภุญไชย” ระหว่างปี 2559-2561 จำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง ด้วยการเชิญคณะนักวิชาการจากลำพูน-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยมีดิฉันเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัย

ร่วมกับเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เดินทางไปสืบค้นเก็บข้อมูลในแหล่งพื้นที่จริง ด้วยการขออนุญาตเข้าพบและสัมภาษณ์ปราชญ์ท้องถิ่นผู้รู้ในแต่ละพื้นที่

พร้อมสำรวจเส้นทางสัญจรทั้งการคมนาคมทางน้ำและทางบก สภาพภูมิศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต ผู้คนและชาติพันธุ์ร่วมกับบุคคลในพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 11 จังหวัด

โดยเริ่มต้นที่จังหวัดลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง โดยลงพื้นที่จำนวนมากกว่า 20 ครั้ง ระหว่างเดือนเมษายน 2559 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562

เมื่อการสำรวจแหล่งโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีดำเนินมาเกือบครบถ้วนระดับหนึ่งแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้มอบหมายให้ดิฉันทำการประมวล วิเคราะห์ผลที่ได้จากการลงพื้นที่ มาประกอบกับการสืบค้นเอกสารงานวิจัยเพิ่มเติม เพื่อเรียบเรียงเนื้อหาจัดทำเป็น “พระราชประวัติพระนางจามเทวี” ที่มีความรอบด้านมากกว่าเอกสารชิ้นอื่นๆ

เนื่องจากเป็นงานเขียนที่อาศัยหลักฐานจากหลากหลายด้าน ทั้งด้านโบราณคดี ด้านประวัติศาสตร์อันได้แก่จารึกและตำนาน รวมทั้งด้านคำบอกเล่า มุขปาฐะ นิทานพื้นบ้าน เมื่อทำการเรียบเรียงเสร็จแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จักได้นำต้นฉบับจัดพิมพ์เป็นตำราประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่สังกัด

อันเป็นส่วนหนึ่งของ “หลักสูตรท้องถิ่นลำพูนศึกษา” เผยแพร่ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลำพูนต่อไป

 

โดยเอกสารเล่มนี้ มีเนื้อหาทั้งหมด 8 ตอน ประกอบด้วย

ตอนที่ 1 ดินแดนหริภุญไชยยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคสุวรรณภูมิ

ตอนที่ 2 กรุงลวปุระ ราชธานีแห่งอาณาจักรทวารวดี

ตอนที่ 3 กระบวนเสด็จทางชลมารค จากลุ่มเจ้าพระยาสู่พิงคนที

ตอนที่ 4 สู่ประตูหน้าด่าน และเวียงบริวารสองฟากแม่น้ำปิง

ตอนที่ 5 พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย : การปกครอง และการพระศาสนา

ตอนที่ 6 การขยายอาณาเขตของอาณาจักรหริภุญไชย

ตอนที่ 7 ประวัติศาสตร์หริภุญไชยหลังสมัยพระนางจามเทวี

ตอนที่ 8 เบ็ดเตล็ดบทความ นานาทัศนะของนักวิชาการต่อพระนางจามเทวี

ตอนที่ 1-7 เป็นการเรียบเรียงค้นคว้าของดิฉันทั้งหมด ส่วนตอนที่ 8 นั้น เป็นบทความเบ็ดเตล็ด โดยดิฉันทำหน้าที่บรรณาธิการ คัดเลือกบทความที่เขียนโดยบุคคลค่อนข้างหลากหลายมุมมอง เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เขียนแต่ละท่านสามารถแสดงทัศนคติที่มีต่อการศึกษาเรื่องพระนางจามเทวีได้อย่างกว้างขวางไม่ปิดกั้น

เนื่องจากเรื่องราวหลายช่วงหลายตอนที่เกี่ยวข้องกับพระนางจามเทวีนั้นยังเต็มไปด้วยปริศนาซึ่งยังไม่มีข้อยุติ

 

ดิฉันได้จำแนกเนื้อหาที่ไปในทางเดียวกัน และตั้งชื่อหมวดหัวเรื่องไว้ 5 หมวดดังนี้

มองตำนานผ่านตัวตน : ประกอบด้วยเรื่อง “ตำนานนางพระญาจามเทวี” โดย ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร, “จามเทวี : เรื่องที่ปรากฏในเอกสารท้องถิ่นฉบับวัด ทากาศ จ.ศ.1271” โดย ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน, “ตํานานพระนางจามเทวีและขุนหลวงวิรังคะ : วรรณกรรมมุขปาฐะ คุณค่าและความหมาย ต่อผู้คนในแอ่งเชียงใหม่-ลําพูน” โดย เมธี ใจศรี

คติชนวิทยาและมายาคติ : “จามเทวี-สีดา สถานภาพผู้นําของ วีรกษัตรีรามัญ ในลัทธิไวษณาวิศักติ” โดย ว่าที่ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา, “เจ้าแม่แห่งล้านนา จากนางแก้ว ถึงจามเทวี” โดย วิธูร บัวแดง

ปริศนาเส้นทางเสด็จ : “เส้นทางอพยพเจ้าแม่จามเทวี จากละโว้ สู่หริภุญไชย” โดย สมควร สุขดา, “สันนิษฐานที่ตั้งเมืองของพระนางจามเทวี และเส้นทางเสด็จสู่ลําพูน” โดย พงศ์เกษม สนธิไทย, “ตํานานมูลศาสนา วรรณกรรมสะท้อนสังคม ละโว้และหริภุญไชย” โดย ดิเรก ทรงกัลยาณวัตร

มาตุคามจามเทวี ศรีวิชัย-ละโว้ : “จามเทวีกับสถานะบนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของไทย จากมุมมองในมิติของอํานาจ-การเมืองและการปกครอง” โดย เรืองยศ จันทรคีรี, “พระราชประวัติพระแม่จามเทวี ณ แผ่นดินละโว้” โดย จํานงค์ อยู่สว่าง และ ชุติมา พันธุศาสตร์

รัฐหริภุญไชย การก่อเกิดและล่มสลาย : “การค้า แรงงาน กับการเกิดและล่มสลายของรัฐหริภุญไชย” โดย บุญวรรณี วิริยะชัยวงศ์

 

ดิฉันหวังใจว่าข้อมูลทั้งหมดจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องพระราชประวัติพระนางจามเทวี ในลักษณะการเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ นอกจังหวัดลำพูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเส้นทางคมนาคมทางน้ำแม่ปิงเชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในยุคต่อมาเคยมีบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ใช้เส้นทางเดียวกันนี้ซ้ำอีกหลายครั้ง อาทิ

ในยุคกรุงศรีอยุธยา กองทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็เคยยกมาจากภาคกลางสู่ล้านนาเพื่อใช้เป็นทางผ่านไปตีพม่า สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยยกกองทัพขึ้นมาตีเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ใช้เส้นทางลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ขึ้นมาขับไล่พม่า หรือยุครัตนโกสินทร์ มีกระบวนเสด็จทางชลมารคของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เดินทางจากเชียงใหม่ลงมาถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์

ซึ่งเส้นทางของบุคคลสำคัญทุกพระองค์ที่กล่าวมานี้ สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับเรื่องเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีได้ แม้ว่าเส้นทางน้ำบางยุคสมัยอาจมีการเปลี่ยนเส้นทางเดินหรือเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองไปแล้วก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางลำน้ำปิงในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยลงมาบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน พบว่าท่านมีความมุ่งหมายต้องการตามรอยบุญของพระนางจามเทวีทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นการศึกษาเส้นทางเสด็จของพระนางจามเทวีในครั้งนี้ เราสามารถสัมผัสได้ถึงประวัติศาสตร์โบราณที่ยังมีชีวิต มีคุณค่า มีความหมาย มีเลือดเนื้อจิตวิญญาณอยู่ในทุกอณู

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความศรัทธาของทุกชุมชนในล้านนาต่อพระนางจามเทวีจักไม่มีวันจางหาย แม้นานตราบนาน

 

การศึกษาเรื่องพระราชประวัติพระนางจามเทวี อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี หากยึดตามศักราชที่ระบุในตำนานว่าพระนางจามเทวีเดินทางมายังนครหริภุญไชยเมื่อปี 1205 แล้ว ก็ย่อมแสดงว่าในลำพูนควรพบหลักฐานด้านโบราณคดี อันประกอบด้วยโบราณวัตถุ (อาทิ เทวรูป พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ) และโบราณสถาน (สถูปเจดีย์ และซากโบราณคดี) ที่ควรมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 เท่านั้น เนื่องจากพระนางจามเทวีเป็นบุคคลในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัญหาในการศึกษาคือ ในดินแดนภาคเหนือทั้งลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง เราไม่พบเอกสารลายลักษณ์ (จารึก) ที่มีอายุเก่าแก่ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวีในพุทธศตวรรษที่ 13 เลย จารึกอักษรมอญโบราณที่เก่าสุดในหริภุญไชยพบแค่พุทธศตวรรษที่ 15 เท่านั้น คือจารึกแม่หินบดเวียงมโน ที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนศิลาจารึกที่มีการกล่าวถึงนามของพระนางจามเทวีหลักที่เก่าที่สุดคือ “จารึกจุลคีรี” วัดพระธาตุดอยน้อย อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เขียนในสมัยพระเมืองแก้ว ประมาณ พ.ศ.2040 ด้วยอักษรฝักขาม เขียนเรื่องราวย้อนหลัง เอ่ยถึงพระนางจามเทวีมาสร้างพระธาตุที่นั่น

ส่วนร่องรอยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 13 นั้น พบในลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงอยู่บ้างจำนวนหนึ่ง ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการลงสำรวจพื้นที่แหล่งต่างๆ ตามรายชื่อที่ระบุในตำนาน

ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ได้บันทึกประวัติความเป็นมาของถิ่นฐานตัวเองไว้ในรูปแบบตำนานอย่างมีสีสัน เป็นเรื่องราวของพระนางจามเทวีในลักษณะที่แตกต่างกันไป บ้างก็สอดคล้องกับตำนานกระแสหลัก บ้างก็ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะผิดหรือถูก แต่ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความรักความผูกพันที่แต่ละชุมชนมีต่อพระนางจามเทวี ท้องถิ่นเหล่านั้นล้วนปรารถนาอยากเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินที่พระนางจามเทวีเสด็จผ่าน

วันที่ 23 กรกฎาคม ศกนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ฤกษ์งามยามดีจัดให้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการ ยกร่างหลักสูตรท้องถิ่นลำพูนศึกษา หัวข้อ “พระราชประวัติพระนางจามเทวี” และ “ประวัติศาสตร์เมืองลำพูน” ณ ห้องประชุมของหน่วยงาน โดยภาคเช้าเป็นการนำเสนอผลงานที่ดิฉันค้นคว้าวิจัยและเรียบเรียงเป็นหลักสูตรในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนประมาณ 200 คน จากทุกภาคส่วน นักวิชาการ เพศบรรพชิต นักการศึกษา ข้าราชการ เอกชน นักกิจกรรมวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯลฯ

ส่วนภาคบ่ายจะเปิดเวทีอภิปรายวิพากษ์หลักสูตร ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเสนอความคิดเห็นว่าอยากให้ลูกหลานของท่าน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติต่อไป ได้เรียนรู้อะไรจากการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองลำพูน

อันที่จริงรายชื่อผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาก็เต็มปริ่มแทบจะล้นทะลักแล้ว

แต่หากยังมีท่านใดสนใจจริงๆ อยากเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ กรุณาเคาะกล่องเฟซบุ๊ก (ชื่อ Pensupa Sukkata) ออดอ้อนกันหลังไมค์กับดิฉันก็อาจช่วยเบียดแทรกที่นั่งให้ได้ค่ะ