วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /’คุณก็รู้ว่าผมชอบกินไข่’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

‘คุณก็รู้ว่าผมชอบกินไข่’

ร้านอาหารที่ผมพา “พี่เถียร” – เสถียร จันทิมาธร ไปรับประทาน “สองคน” (ไม่ใช่ “สองต่อสอง” อย่าเข้าใจผิด) คือร้าน “กุ๊กสมเด็จ” – โภชน์สภาคาร สี่กั๊กเสาชิงช้า มุมถนนตะนาว เป็นร้านเก่ามีมานาน ตั้งแต่ก่อนตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ และหนังสือพิมพ์ประชาชาตินับสิบปี

เมื่อมาตั้งหลักทำงานบริเวณแพร่งสรรพศาสตร์ พวกเราใช้ร้านนี้รับแขกบ้าง มารับประทานเองบ้าง แต่ไม่บ่อย เพราะราคาไม่ค่อยคุ้นกับกระเป๋าสตางค์

ที่ผมเรียก “เสถียร” ว่า “พี่เถียร” มีที่มาตั้งแต่เริ่มรู้จัก เหตุเพราะ “พี่เถียร” เรียนปี 4 ผมเพิ่งเข้าเรียนปี 1 ที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา ซึ่งเรียกผู้เรียนสูงกว่าว่า “พี่” เป็นธรรมเนียม

ถึงร้านอาหาร ขึ้นไปนั่งชั้นสอง เพราะชั้นล่างมีผู้นั่งรับประทานอาหารเกือบทุกโต๊ะประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ชั้นสองจะได้พูดคุยกันสะดวก แต่ไม่ว่าจะนั่งชั้นไหน ไม่ต้องกังวลกับการพูดคุยกันทุกเรื่องอยู่แล้ว

ปี 2523 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคำสั่ง 66/23 ให้ผู้ที่หลบไปอยู่ต่างประเทศและในป่าดงพงไพร ว่ากันอย่างนั้น กลับมาพัฒนาชาติไทย

จึงไม่ต้องหวั่นเกรงกับจะมีใครเพ่งเล็งหรือกุมตัวอีกต่อไป

 

อาหารบนโต๊ะสำหรับสองคน มีไข่เจียว แกงจืด เป็นหลัก ที่เป็นไข่เจียวเพราะพี่เถียรรับประทานไข่เป็นประจำทุกวันตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯ เมื่อไปตระเวนป่าดงพงไพร ไข่หารับประทานยาก ต้องเจียดจากลูก “หนุน” ซึ่งยังเล็กที่เกิด ณ พงไพรด้วย

“ในนั้น กว่าจะได้กินไข่สักฟองไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะไข่เขามีไว้ให้เด็กกิน ผู้ใหญ่จะกินได้เป็นมื้อเป็นคราวเท่านั้น แล้วคุณก็รู้ว่าผมชอบกินไข่” นอกจากนั้น มีอาหารอีกอย่างสองอย่าง อาทิ ยำและผัดผักเป็นกับแกล้ม “เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ตราสิงห์” พอให้คุยกันออกรสเป็นปกติ

เรื่องที่พูดคุยกันไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของพี่เขาที่เข้าไปท่องพนาไพร “เสถียร” เล่าว่า เคยผ่านเข้ากรุงเทพฯ 2-3 ครั้งจากภาคใต้ สุราษฎร์ธานีขึ้นไปภาคอีสานจังหวัดน่าน สองสามครั้งเข้าไปอยู่ในประเทศลาว เพราะมีฐานตั้งมั่นที่นั่น ส่วนใหญ่ตระเวนในหลายจังหวัดภาคอีสาน

“ช่วงมีเมียมีลูก ไม่ค่อยได้ไปไหน” แล้วเล่าถึงการเลี้ยงลูกในป่าไม่ใช่เรื่องง่าย “ตัวเองไม่ค่อยได้เลี้ยงกับเขาหรอก ส่วนใหญ่เมียเลี้ยงมากกว่า” ก็เหมือนกันนั่นแหละ ทั้งขรรค์ชัย ทั้งสุจิตต์มีเมียมีลูกแล้วทั้งสองคน ส่วนผมเพิ่งแต่งงานมีลูกสองปีเท่านั้น ยังเป็นพ่อลูกอ่อน พอเบียร์หมดขวดที่สาม ได้เวลาอันสมควรต่างคนต่างขอตัวแยกย้ายกันกลับไปผลัดกับเมียดูแลลูก

ของพี่เถียรเขาเริ่มโตแล้ว ส่วนผมลูกยังเป็นเด็กอ่อน

 

ช่วงที่เสถียร จันทิมาธร กลับเข้ากรุงเทพมหานคร เป็นช่วง “มติชน” เริ่มขยายตัว ซึ่งผมบอกกล่าวเรื่องนี้ก่อนเพราะก่อนหน้าที่เสถียรจะกลับเข้ามาทำงานด้วยกัน “มติชน” รับสมัครนักข่าวเพิ่ม และมีที่ปรึกษานอกจากกล่าวไปแล้วเพิ่มขึ้นอีกหลายคน ทั้งเป็นช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งปี 2522 สมัคร สุนทรเวช ก่อตั้งพรรคประชากรไทยขึ้นมาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแทบว่าทุกเขตในกรุงเทพมหานคร แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

หน้าที่ของเสถียร จันทิมาธร ใน “มติชน” งานหนึ่งที่เคยทำประจำ เมื่อครั้ง “รวมประชาชาติ” คือการเขียนบทวิเคราะห์การเมืองในแต่ละวัน กับการร่วมประชุมบทบรรณาธิการ และประชุมข่าวหน้าหนึ่งเพื่อช่วยกันวิเคราะห์และตามข่าววันต่อวัน ช่วงแรกก่อนเที่ยง

อีกหน้าที่หนึ่ง คือการอ่านบทความจากผู้อ่านและนักเขียนประจำที่ส่งมาให้ลงตีพิมพ์ฉบับวันต่อไป ซึ่งต้องส่งให้ช่างเรียงอย่างน้อยล่วงหน้า 2 วัน

ทั้งเสถียรขอตัวกลับจากโรงพิมพ์เร็ว ด้วยเหตุสองสามประการ คือต้องกลับไปพบเจอแหล่งข่าวบ้าง ไปหาหนังสือตามร้านจำหน่ายหนังสือบ้าง ชมภาพยนตร์บ้าง รวมทั้งกลับไปอ่านหนังสือเพื่อเตรียมข้อมูลนำมาเขียนในวันรุ่งขึ้น ทั้งต้องมาทำงานแต่เช้า เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์กรอบเช้าจะได้นำข้อมูลมาเขียนต้นฉบับ

 

การประชุมเพื่อวิเคราะห์เลือกตั้งว่าพรรคการเมืองใดจะได้รับการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด เลยไปถึงพรรคการเมืองใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล

เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดที่เรียกว่า นักข่าวภูมิภาคเป็นเรื่องจำเป็น ขณะที่ “มติชน” มีผู้สื่อข่าวเพียงไม่กี่คน ซึ่งเป็นนักข่าวเดิมจากเมื่อครั้งออกหนังสือพิมพ์ “รวมประชาชาติ”

ผู้ดูแลนักข่าวต่างจังหวัด คือ โอภาส เพ็งเจริญ ที่ย้ายมาจากหน้าที่ซับเอดิเตอร์ “มติชน” เปิดรับสมัครนักข่าวต่างจังหวัดให้เขียนใบสมัครเข้ามาเพื่อคัดเลือกจากใบสมัครนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สื่อข่าวจากหน่วยงานราชการ เช่น เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จังหวัด บางคนเป็นเจ้าของร้านจัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ บางคนเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวอีกคนหนึ่ง เคยทำหนังสือพิมม์ประจำจังหวัดชลบุรีมาก่อน คือ สุชาติ ศรีสุวรรณ สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีฝีมือทั้งการเป็นนักข่าวและเขียนบทความ เมื่อครั้งไปร่วมกับพี่ปรีชา พบสุข ทำหนังสือพิมพ์บางแสน สุชาติบอกว่า บางครั้งเขียนทั้งข่าว เขียนทั้งบทความ

เมื่อแรกมาร่วมทำมติชน เป็นนักข่าวหลากหลายแห่ง ทั้งกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และข่าวการเมือง หลายครั้งต้องไปกระทรวงพาณิชย์ซึ่งอยู่ใกล้มติชน

เมื่อมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์มติชนถนัดอยู่ก่อนแล้ว เรื่องหนึ่งที่ต้องทำคือ การตระเวนหาข่าวทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสำคัญ โดยเฉพาะจากการตั้งเวทีหาเสียงของพรรคการเมือง ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค ทั้งผู้สมัครที่อิสระเคยสมัครเมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2512 มาก่อน และผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวนไม่น้อย

โดยเฉพาะผู้ที่เคยร่วมกับรัฐบาลที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน ยิ่งมีพรรคประชากรไทย ที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้า และพรรคประชาธิปัตย์เพิ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น พ.อ.ดร.ถนัด คอมันต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนกำลังลงไปไม่น้อย

“มติชน” เริ่มเปิดหน้า “เลือกตั้ง” ประจำ ทั้งนำเสนอข่าวทุกด้านทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นจากในกรุงเทพมหานคร จากพรรคการเมือง จากผู้สมัครอิสระ และผู้สมัครสังกัดพรรค รวมถึงส่งผู้สื่อข่าวไปร่วมทำข่าวการเลือกตั้งกับนักข่าวต่างจังหวัด

นับแต่นั้น หนังสือพิมพ์มติชนจึงเป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวการเมืองและการเลือกตั้งที่แม่นยำและมีบทวิเคราะห์ ทั้งจากผู้เขียน – เสถียร จันทิมาธร และข้อมูลจากผู้สื่อข่าวทั่วประเทศในเชิงลึกและกว้างเต็มที่