โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/จตุรพิธพรชัย มหาลาภ พระปิดตา หลวงปู่ดู่ วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

จตุรพิธพรชัย มหาลาภ

พระปิดตา หลวงปู่ดู่

วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา

 

“หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา อดีตพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธา

วัตถุมงคลและเครื่องรางที่อธิษฐานจิตปลุกเสกโด่งดังไปไกล ล้วนเป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง

เมื่อปี พ.ศ.2518 นายเรียน นุ่มดี ผู้บัญชาการเรือนจำ จ.พระนครศรีอยุธยา ในขณะนั้น และเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิด กำลังจะเกษียณอายุราชการและจะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เห็นว่าวัดเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เป็นวัดเก่าแก่ทรุดโทรม ตั้งใจจะช่วยบูรณะวัดและจัดสร้างวิหารขึ้นใหม่

จึงได้นำความปรึกษา หลวงปู่ดู่จึงให้จัดสร้างวัตถุมงคล “พระปิดตามหาลาภ จตุรพิธพรชัย” และแนะนำครูบาอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสก เพื่อหาทุนทรัพย์บูรณะวัดเขาใหญ่ และจัดสร้างวิหารจตุรพิธพรชัยตามที่ตั้งใจไว้

ประกอบพิธีพุทธาภิเษกที่วัดรัตนชัย (วัดจีน) อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2518 มีพระเกจิอาจารย์ร่วมพิธี 16 รูป อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ, หลวงพ่อใหญ่ วัดสะแก, หลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู, หลวงพ่อออด วัดบ้านช้าง, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงพ่อกวย วัดโฆษิตาราม เป็นต้น

เป็นพระเนื้อผงวิเศษ มีขนาดประมาณ 3 x 3.5 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นองค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ด้านหลังมีอักขระเลขยันต์ของหลวงปู่ดู่

ซึ่งหลวงปู่รับเป็นธุระในการออกแบบพระให้ ตลอดจนปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม หลังจากนั้น ได้นำพระชุดนี้เข้าพิธีพุทธาภิเษก พร้อมกับเหรียญจตุรพิธพรชัย 9 พระอาจารย์ที่วัดรัตนชัยอีกครั้ง

จึงนับว่ามากด้วยคุณวิเศษอย่างแท้จริง

พระปิดตา หลวงปู่ดู่ (หน้า-หลัง)

 

หลวงปู่ดู่ มีชาติกำเนิดในสกุล “หนูศรี” เกิดวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม 2447 ตรงกับวันวิสาขบูชา ที่บ้านข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายพุดและนางพ่วง หนูศรี

มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารก ต่อมาบิดาจากไปเมื่ออายุเพียง 4 ขวบ จึงอาศัยอยู่กับยาย โดยมีพี่สาวเป็นผู้ดูแล เริ่มศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

อายุ 21 ปี บรรพชาอุปสมบทที่วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในพรรษาแรก ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรม กับเจ้าคุณเนื่อง, พระครูชม และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

ด้านการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานศึกษากับหลวงพ่อกลั่น และหลวงพ่อเภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา รวมทั้งตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และเดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่ จ.สุพรรณบุรี และสระบุรี

พรรษาที่ 3 เดินธุดงค์จากอยุธยามุ่งตรงสู่สระบุรี กราบนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท จากนั้นไปยังสิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กระทั่งอาพาธด้วยโรคเหน็บชาจึงพักธุดงค์

ทั้งนี้ ตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์นอกวัด ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2490 และถือข้อวัตรฉันอาหารมื้อเดียวมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2500 ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.2525 ศิษย์ต้องกราบนิมนต์ให้ท่านฉัน 2 มื้อ

 

ปกติท่านจะอยู่ประจำที่กุฏิ ปีหนึ่งๆ จะออกมาเพื่อลงอุโบสถเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันโมทนากฐิน

เป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษ ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีผู้ปวารณาจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ส่วนใหญ่จะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลย อันจะเสียสมณสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายเกิดความปลื้มปีติ ก่อนยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม ข้าวของต่างๆ ที่เป็นสังฆทาน ถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะระบายออก จัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลน

ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ถึงกับเมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่จำวัดเป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม

หากลูกศิษย์คนใดสนใจขวนขวายในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ก็จะส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจ ที่สำคัญจะไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักอื่นในเชิงลบหลู่ หรือเปรียบเทียบดูหมิ่น

นอกจากความอดทนอดกลั้นอันเป็นเลิศ ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น

 

ด้านวัตถุมงคล มิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ สร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่อง ด้วยเห็นประโยชน์ เนื่องจากบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เคยปรารภว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล”

พระเครื่องบูชาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกให้แล้วปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เป็นเพียงผลพลอยได้ แต่กุศโลบายที่แท้จริง คือ มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติ เป็นต้น

รับแขกโปรดญาติโยมไม่ขาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 จนปลายปี พ.ศ.2532 สุขภาพจึงทรุดโทรมลง แต่ท่านใช้ความอดกลั้นอย่างสูง แม้จะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ก็สู้ออกโปรดญาติโยมเหมือนไม่เป็นไร บางครั้งถึงขนาดที่ต้องพยุงตัวเอง ก็ยังไม่เคยปริปากให้ใครต้องกังวล

เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2533 จึงมรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจ สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65