วิกฤติศตวรรษที่ 21 | การเดินทัพทางไกลใหม่ของจีน และการสร้างระบบการค้าโลกใหม่

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (6)

การเดินทัพทางไกลใหม่ของจีน

สงครามการค้าที่จีนกระทำตอบโต้สหรัฐนั้นเป็นที่รู้ทั่วไปว่าจะเป็นสงครามยืดเยื้อขณะที่สหรัฐใช้ยุทธศาสตร์รุกรบรุนแรง ฉับพลัน บังเกิดผลเร็ว เช่น ทำให้ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง สงครามยืดเยื้อตามแนวคิดของจีนนั้นมีอยู่สามขั้นด้วยกัน

ขั้นแรก เป็นการถอยทางยุทธศาสตร์ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่กำลังรบมากเกินไป แสวงหาพันธมิตรใหม่ สร้างยุทธศาสตร์ใหม่หรือทำให้ยุทธศาสตร์นั้นเป็นที่ยึดกุมทั่วทั้งกองทัพ

ขั้นที่สอง เป็นการยันหรือการโต้กลับทางยุทธศาสตร์

ขั้นสุดท้าย เป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ เข้าโจมตีฝ่ายปรปักษ์และเอาชนะ

สีจิ้นผิงเป็นผู้เสนอแนวคิดการเดินทัพทางไกลใหม่ให้แพร่หลาย เมื่อเขาเดินทางลงพื้นที่ในมณฑลเจียงสี ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2019 ที่นั่นเขาทำกิจกรรมที่เป็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับสงครามการค้าสองกิจกรรมด้วยกัน

กิจกรรมแรก เป็นการเยี่ยมชมบริษัทผลิตแร่หายาก ซึ่งแร่หายากนี้เป็นที่ต้องการใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคและการทหาร และจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เป็นการส่งสารว่าจีนอาจใช้แร่หายากเป็นเครื่องมือในการตอบโต้สหรัฐ โดยห้ามหรือเข้มงวดการส่งออกแร่นี้ได้ แต่จีนก็ยังไม่ได้ทำ

กิจกรรมที่สอง เป็นข่าวใหญ่กว่า เมื่อเขาปราศรัยต่อเจ้าหน้าที่พลเรือน ทหารและประชาชนว่า “เราอยู่ที่นี่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทัพทางไกล เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาที่กองทัพแดงได้เริ่มออกเดินทัพ ขณะนี้เรากำลังเตรียมเดินทัพทางไกลใหม่ และเราจะต้องเริ่มต้นอีกครั้ง”

ซึ่งตีความหมายกันว่า จีนเตรียมทำสงครามยืดเยื้อทางเศรษฐกิจกับสหรัฐ (ดูข่าว “ผู้นำจีนกร้าว พร้อมเปิดศึกการค้ายืดเยื้อกับสหรัฐ” ใน voathai.com 22/05/2019)

การเปรียบเทียบสงครามการค้าสหรัฐ-จีนขั้นแรกกับการการเดินทัพทางไกลสมัยเหมาเจ๋อตงนั้น เป็นเทคนิคการประชาสัมพันธ์ขั้นสูงต่อทั้งภายในและต่างประเทศ

ประการแรก เป็นการสืบทอดสงครามปฏิวัติของประธานเหมา ในการต่อสู้กับกลุ่มเจียงไคเช็กที่มีนโยบายเป็นบริวารของสหรัฐ เป็นการสืบทอดการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างเด็ดเดี่ยว การต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาของเหมายิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อเขาได้เรียกร้องให้ประชาชนจีนอาสาสมัครเข้าหน่วยรบเพื่อช่วยเหลือเกาหลีเหนือในเดือนตุลาคม 1950 และได้สู้รบกันอย่างดุเดือดในสงครามเกาหลี (1950-1952) ได้ลบตำนานกองทัพสหรัฐเป็นกองทัพที่ไม่มีใครพิชิตได้ลงไป

ประการที่สอง ชี้ว่าสงครามการค้าครั้งนี้มีหลายขั้นตอน ที่จำต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งรับ การตั้งต้นใหม่เป็นการเปลี่ยนพลังขัดขวางเป็นพลังขับเคลื่อน วิกฤติเป็นโอกาส ลดการถูกกดดันทางเศรษฐกิจ-การค้า-เทคโนโลยีจากสหรัฐให้ได้ในเวลาอันสั้นที่สุด คล้ายกับการเดินทัพทางไกลสมัยประธานเหมา (1934-1936) ที่เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการเคลื่อนไหวในเมืองสร้าง “โซเวียต” (สภาคนงาน) ขึ้นในมณฑลเจียงซี (เรียกว่าโซเวียตเจียงซี) สู่การสร้างศูนย์การนำในชนบทที่เมืองเหยียนอาน มณฑลส่านซี อาศัยพลังชาวนาอันไพศาล สร้างกองทัพปลดปล่อยประชาชน ทำสงครามประชาชนยืดเยื้อใช้ชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด

ประการสุดท้าย การเริ่มต้นอีกครั้งในการเดินทัพทางไกลใหม่ ได้มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์แล้ว เพียงแต่เมื่อเกิดมีสงครามการค้าขึ้น จำต้องเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่า และมีความยืดหยุ่นพลิกแพลง เพื่อต่อสู้กับการคุกคามท้าทายที่มีอันตรายถึงชีวิต

เหตุใดจีนจึงใช้ยุทธศาสตร์ตั้งรับในขั้นแรก

ประเด็นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของสงครามสหรัฐ-จีน สงครามการค้านี้แก่นแกนได้แก่สหรัฐต้องการรักษาโลกาภิวัตน์แบบบรรษัทที่มีดอลลาร์สหรัฐเป็นฐานและนำโดยสหรัฐ ส่วนจีนต้องการสร้างโลกาภิวัตน์แบบหลายขั้วอำนาจ ที่ใช้เงินหลายสกุลเป็นฐาน และร่วมกันสร้างระเบียบเศรษฐกิจการค้าโลก

ในสถานการณ์ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ที่นำโดยสหรัฐ แม้เสื่อมถอยแต่ยังคงเป็นด้านหลัก จากเหตุปัจจัยหลายด้าน

ได้แก่

สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีอำนาจแห่งชาติสูงสุด

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งแกร่งที่สุดในโลก เป็นเงินสำรองหลักระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 61 ของโลก (ตัวเลขไตรมาสที่ 4 ปี 2018 แต่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี) เป็นเงินใช้ในการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศราวร้อยละ 90 หนี้ในโลกเกือบ 40% อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ กว่าเงินหยวนของจีนจะมีบทบาทสำคัญ ใกล้เคียงต้องใช้เวลานานไม่น้อย และในบรรษัทใหญ่ที่สุด 500 แห่งของโลกในปี 2018 อันดับหนึ่งยังคงเป็นสหรัฐ ตามติดด้วยจีน (บรรษัทเหล่านี้มีรายรับในปี 2018 ถึงราว 30 ล้านล้านดอลลาร์)

ท้ายสุดสหรัฐได้เสียเปรียบดุลการค้าจำนวนมหาศาลกับจีนต่อเนื่องมาหลายปี ซึ่งหมายถึงว่าสหรัฐมีกำลังไฟในการทำสงครามการค้าสูงกว่า ความปั่นป่วนในการค้าโลก

โดยทั่วไปช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลนี้ได้ระดับหนึ่ง ปัญหามีอยู่ว่า สหรัฐจะสามารถเก็บเกี่ยวผลได้นี้อย่างไร เพราะสหรัฐก็เสียเปรียบดุลการค้ากับทั้งโลก ประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากสงครามนี้ได้แก่ อินเดียและเวียดนาม เป็นต้น ก็ต้องการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมากเช่นกัน

ถ้าสหรัฐขยายสงครามการค้าไปทำกับประเทศทั่วโลก ก็จะเปิดโอกาสให้จีนสามารถสร้างหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ-การค้าได้ง่ายขึ้น

จีนที่ขณะนี้ตกเป็นด้านรองก็พลิกกลับขึ้นมาเป็นด้านหลักได้

ก้าวใหม่ของจีนในโลกยุคไร้กติกา

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนแสดงว่าประชาคมโลกเข้าสู่ยุคไร้กติกา ที่เรียกว่าไร้กติกา ความจริงหมายถึงมีกติกามากเกินไป นั่นคือขณะนี้มีอย่างน้อย 3 กติกาใหญ่ด้วยกัน

กติกาแรก เป็นของสหรัฐในการรักษาระเบียบโลกเดิมไว้ตั้งแต่เริ่มศตวรรษที่ 21 ประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนใช้ความพยายามอย่างหนักในการรักษาจักรวรรดิของตนไว้ ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกใช้แสนยานุภาพและการโกหกคำโตว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างสูงเพื่อจัดระเบียบมหาตะวันออกกลางให้เป็นเสรี ประชาธิปไตยแบบสหรัฐแต่ล้มเหลว

ถึงสมัยโอบามาได้สวมเสื้อสันติภาพ เสรีภาพ (จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ) ปกคลุมการใช้กำลังทหาร การทิ้งและคุกคามว่าจะทิ้งระเบิดประเทศต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล ยังคงติดหล่มสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ทั้งยังเปิดสงครามใหม่ที่ลิเบียและซีเรีย เมื่อถึงสมัยทรัมป์ ใช้วิธีเปิดเผยตัวเองอย่างล่อนจ้อน ทุบโต๊ะตวาดว่า สหรัฐเหนือชาติใด และสหรัฐจะกลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง นำเอากฎหมายและผลประโยชน์ของตนเป็นกติกา และกฎหมายระหว่างประเทศ ผลออกมาก็ไม่น่าจะดีนัก

กติกาข้อที่สอง เป็นของจีน-รัสเซียและพันธมิตรในการสร้างระบบการค้าโลกใหม่ขึ้น เป็นการเผชิญหน้าขับเคี่ยวกับกติกาของสหรัฐโดยตรง ทั้งสองกติการต่างกล่าวหากันว่า ไม่เคารพกติกาตลาดและกติกาโลก

กติกาที่สาม เป็นของประเทศต่างๆ ที่ไม่ต้องการถือหางหรือเข้าเป็นพวกสหรัฐหรือจีนอย่างเต็มตัว หรือถือหางเข้าพวกตามกรณีตามผลประโยชน์แห่งชาติของตน

กล่าวโดยย่อ ภาวะโลกไร้กติกาเกิดจากกติกาเดิมไม่สามารถธำรงอยู่ได้ กติกาใหม่ก็ยังไม่แข็งแรงมาแทนที่ ประเทศต่างๆ จำต้องอดทน อดกลั้น มีความยืดหยุ่นเพื่ออยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงนี้ ที่สำคัญไม่ควรสร้างภาวะไร้กติกาขึ้นในประเทศของตน

ก้าวใหม่ของจีนในภาวะนี้ หมายถึงการยึดมั่นในหลักการค่านิยม ในการสร้างกติกาหรือกฎระเบียบใหม่ที่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกส่วนใหญ่ได้ มีที่ควรกล่าวถึง 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก ได้แก่ การไม่เต้นไปตามเพลงของสหรัฐ กระทั่งทำสิ่งที่ตรงข้าม เช่น เมื่อสหรัฐขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 200 พันล้านดอลลาร์เป็นร้อยละ 25 จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐเป็นร้อยละ 25 เช่นกัน แต่มีมูลค่าเพียง 62 พันล้านดอลลาร์

หรือเมื่อสหรัฐใช้ลัทธิปกป้องการค้าที่มีฐานจากชาตินิยมคับแคบและคนขาวเป็นใหญ่ จีนก็พยายามไม่ปลุกระดมเรื่องความรักชาติเพื่อต่อต้านสินค้าอเมริกา ปล่อยให้เป็นเรื่องของภาคเอกชนหรือภาคประชาชน

หรือเมื่อสหรัฐข่มขู่โลกในเรื่องขึ้นอัตราภาษีโน่นนี่ จีนประกาศลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ หรือเมื่อสหรัฐแสดงท่าทีกีดกันการลงทุน จีนประกาศเปิดรับการลงทุน

ประการที่สอง ที่สำคัญที่สุดได้แก่ การรักษาความแข็งแรงและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของจีน เพราะเมื่อเศรษฐกิจจีนแข็งแรง ก็เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ใบหนา เป็นที่อยู่ที่ทำกินของชีวิตจำนวนมากได้ สีจิ้นผิงกล่าวว่า “เศรษฐกิจจีนไม่ใช่สระน้ำ แต่เป็นมหาสมุทร…พายุใหญ่ลมแรงอาจทำให้สระน้ำถล่มทลายได้ แต่ไม่ใช่มหาสมุทร”

จีนได้มีปฏิบัติการหลายอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ที่สำคัญคือมาตรการทางภาษี ได้แก่ เดือนตุลาคม 2018 จีนได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ปีละ 717.6 พันล้านหยวน และทำให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 0.87 จุดเมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2017

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การปฏิรูปภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนเมษายน 2019 ลดภาษีนี้ลงกว่า 1 ล้านล้านหยวน ที่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก ถึงกระนั้นการขาดดุลงบประมาณของจีนอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าระดับร้อยละ 3 ที่ถือว่าเป็นขีดที่ต้องระมัดระวังที่ถือปฏิบัติทางสากล

นอกจากนี้ จีนยังได้เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศให้กว้างขึ้นตามนโยบายรักษาเสถียรภาพการลงทุน สร้างบรรยากาศทางการลงทุนและด้านตลาด และรักษาเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและค่าธรรมเนียมท่าเรือ

มาตรการเหล่านี้ทำให้การค้าสินค้าระหว่างประเทศในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.1 สินทรัพย์การลงทุนของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เศรษฐกิจจีนขณะนี้โตเกิน 90 ล้านล้านหยวนไปแล้ว

ซึ่งจีนถือว่าตนนั้นสามารถต่อสู้กับผลกระทบใหญ่จากสงครามการค้าได้ทั้งสามด้านคือ ด้านการค้าระหว่างประเทศ การบริโภค และการลงทุน

(ดูบทความชื่อ Chinese economy able to withstand impact from economic, trade frictions ใน en.people.cn 28/05/2019)

ประการสุดท้าย ได้แก่ การยึดมั่นในหลักการโลกาภิวัตน์ เมื่อสหรัฐจะถอนตัวจากโลกาภิวัตน์ ใช้เงินดอลลาร์กดดัน แซงก์ชั่นชาติต่างๆ ให้ยอมมอบความเป็นใหญ่ให้ จีนก็อาสาตัวเป็นแกนหนึ่งในการผลักดันโลกาภิวัตน์สู่ขั้นใหม่ ได้แก่ การรักษาผลดีของโลกาภิวัตน์ไว้ และแก้ไขผลด้านลบในด้านความเหลื่อมล้ำและความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นโลกาภิวัตน์แบบชนะ-ชนะ ทั้งนี้ จีนวิเคราะห์ว่า โลกาภิวัตน์เป็นกระแสประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจต้านทานและย้อนกลับได้ ผู้ต้านกระแสย่อมจะต้องพบกับความยากลำบากใหญ่ ถูกประวัติศาสตร์ทิ้งไว้เบื้องหลัง

จีนจะสามารถปฏิบัติได้ตามประกาศได้หรือไม่ ยังไม่แน่ แต่ในเฉพาะหน้า ชาติต่างๆ ต้องการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนที่คล่องตัว และนั่นก็เพียงพอที่ทำให้แนวคิดของจีนเป็นสินค้าที่ขายได้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงบทบาทของผู้นำสหรัฐและจีนในการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น