การ์ตูนที่รัก /นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ /หนึ่งชีวิตหนึ่งพบพาน ยุคสมัยสีคราม

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หนึ่งชีวิตหนึ่งพบพาน

ยุคสมัยสีคราม

 

ผ่านไปแผงหนังสือพบการ์ตูนเล่มเดียวจบห่อกระดาษแก้วไว้อย่างดี ลายเส้นคุ้นตา สวยงามคลาสสิค ตัวหนังสือญี่ปุ่นขนาดใหญ่ อ่านชื่อผู้เขียนก็ต้องหยิบ

สำหรับแฟนการ์ตูนควรรู้จักชื่อนี้ มาซามิ คุรุมาดะ (Masami Kurumada)

แกะกระดาษแก้วเปิดดูข้างในไม่พบชื่อสำนักพิมพ์ ไม่มีรายละเอียด ไล่หาจนพบร่องรอยคำว่า Otaku Comic เพียงคำเดียว พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันทั้งเล่ม คมชัดทั้งหน้าสีและขาว-ดำ คำบรรยายงดงามชัดเจน อ่านง่าย

“ห่างไกลจากคำว่าฉลาดล้ำ อีกทั้งเด็กเกก็มิอาจเป็นได้” เป็นเสมือนลำนำขับเคลื่อนชีวิตของพวกเขา

คำโปรยด้านในว่าสร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงคือดาวน์ทาวน์โตเกียวปี 1960 โรงงานและหมอกควัน เสียงแสบแก้วหูจากรถราง แม่น้ำสุมิดะขุ่นคลั่ก เรือข้ามฟากไปมา แสงจันทร์ที่กระโดดข้ามสะพาน การทะเลาะกันในตรอกย่านการค้า การต่อยตีของผู้ใช้แรงงานที่ร้านเครื่องในหมู ปลอกดาบของยากูซ่าที่ร้านเหล้าราคาถูก

อ่านคำบรรยายนี้แล้วเรียนตามตรงว่าบรรยากาศไม่ต่างจากจังหวัดพระนครเมื่อปีเดียวกัน

 

“ขอรับชีวิตแกไปละ” ทาคาคุระ เคน ยากูซ่าถือดาบซามูไรพูดคำเท่ๆ ก่อนลงมือ เป็นวันเวลาที่วัยรุ่นมองเห็นพวกนอกกฎหมายและยากูซ่าเป็นฮีโร่

หนังสือเล่าเรื่องเพื่อนเกลอมัธยมต้นสามคน นากาชิมะ โทชิเอะ ผู้อยากเป็นยากูซ่ากับเขาบ้าง โคบายาชิ จุนชิอิ ใฝ่ฝันจะเป็นจิตรกรแต่ป่วยหนัก ฮิงาชิดะ มาซามิ เป็นแค่พวกครึ่งๆ กลางๆ ห่างไกลจากคำว่าฉลาดล้ำ อีกทั้งเด็กเกก็มิอาจเป็นได้ ใครๆ ก็บอกว่าเขาจะได้เป็นนักวาดการ์ตูน

ระหว่างที่สามเกลอกำลังนั่งคุยกันอย่างออกรสเกี่ยวกับแก๊งต่างๆ คุณเคนตัวจริงก็เดินเข้ามา ใส่สูท แว่นดำ ซื้อเหล้า จ่ายเงิน หันหลัง แล้วพูดว่า “คุณยาย เงินทอนไม่ต้อง เอาไว้เลี้ยงเด็กพวกนี้”

คุณเคนเป็นยากูซ่าจริงๆ อาสาฆ่าคนให้พรรคจนได้ดิบได้ดีแต่ในที่สุดก็ถูกจับและรอโทษประหาร

เด็กสามคนใช้เวลาว่างไปฝึกยูโดกับคุณอุซึกิ นายตำรวจที่เกษียณแล้ว อุซึกิรู้ว่าเด็กๆ คลั่งไคล้ยากูซ่ารวมทั้งคุณเคน โทชิเอะ ถึงกับประกาศว่าโตขึ้นจะไปเป็นยากูซ่า

วันก่อนประหาร อุซึกิไปพบคุณเคนในที่คุมขัง เอาบุหรี่นอกไปฝากและขอร้องให้เขาร้องไห้ตอนถูกลากตัวไปประหาร อย่าทำตัวเข้มแข็งสง่างามเหมือนทุกที เด็กๆ จะได้ไม่เอาเยี่ยงอย่าง

อ่านดูเถิด คุณเคนจะทำตามคำขอร้องหรือเปล่า และผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร ใครคิดว่าวิธีเช่นนี้จะได้ผลมากน้อยเพียงใด?

 

วันหนึ่งมาซามิไปเยี่ยมจุนชิอิที่โรงพยาบาล จุนชิอินอนอ่านหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่อยู่ มาซามิหยิบมาอ่านด้วยความตื่นเต้นและอุทานว่าภาพไม่สวยเท่าไร แต่ทำไมอ่านสนุก จุนชิอิจึงว่า “การ์ตูนมิได้อยู่ที่ภาพหรอกนะ อยู่ที่ความสนุกต่างหาก” แล้วให้กำลังใจมาซามิวาดการ์ตูน “เป็นวงการที่ไม่ได้เกี่ยวกับการศึกษาหรือเส้นสาย ขอเพียงมีความสามารถก็เป็นได้แล้ว”

เป็นยุคสมัยที่ใครๆ ก็ออกบ้านไปทำงาน มาซามิวัยเด็กมิได้ทำอะไรนอกจากขีดเขียนชอล์กบนถนนรอพ่อ-แม่กลับบ้าน เขาพอมีพื้นฐานอยู่บ้าง

จุนชิอิบอกให้เขาเป็นนักวาดการ์ตูน เขาจะรออ่านก่อนป่วยหนักไปมากกว่านี้ เวลาเดียวกันโทชิเอะถูกตำรวจจับ ก่อนถูกคุมตัวไปก็บอกให้เขาไปเป็นนักวาดการ์ตูนแล้วจะรออ่านในคุก คุณอุซึกิถึงแก่กรรมได้ทิ้งจดหมายให้แก่เขา บอกให้เขาไปเป็นนักวาดการ์ตูนเช่นกัน

วันหนึ่งมาซามิถูกวัยรุ่นสามคนรุมทำร้าย เขากำมีดขึ้นสนิมขึ้นมาหวังแทงคืนให้หายแค้น แต่แล้วเขากลับหยุดตัวเองได้ ชีวิตจะเดินทางไหนก็เริ่มจากจุดนี้ ห่างไกลจากคำว่าฉลาดล้ำ อีกทั้งเด็กเกก็มิอาจเป็นได้

แต่มาซามิใช้ชีวิตล่องลอยทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันอีกสามปี จนถึงตอนเรียนจบมอปลายจึงเขียนต้นฉบับการ์ตูนสั้นตอนเดียวจบได้เป็นครั้งแรก และนำไปเสนอสำนักพิมพ์ชูเอย์ฉะ

 

ที่ชูเอย์ฉะไม่มีใครสนใจเขาเลย เขาได้พบชายวัยกลางคนชื่อนาคามุระที่พากเพียรส่งต้นฉบับมานาน 15 ปีโดยถูกปฏิเสธมาตลอด มาซามิตามคุณนาคามุระไปที่บ้านพบกองหนังสือการ์ตูนมหึมาที่เขาสะสมไว้ แต่ลูก-เมียมีความเป็นอยู่ขัดสนเพราะเขามิได้เริ่มทำมาหากินอย่างจริงจังเสียที แล้ววันหนึ่งเขาก็ตายจากไป กองหนังสือการ์ตูน อุปกรณ์วาดภาพ และต้นฉบับการ์ตูนฝีมือของเขาถูกทิ้งไปเป็นกองขยะ

กระดาษชำระยังใช้เช็ดก้นได้ ใครบางคนบอกแก่มาซามิ

นาคามุระเป็นอีกคนหนึ่งที่บอกมาซามิว่าหัวใจของการ์ตูนมิได้อยู่ที่ภาพสวย แต่อยู่ที่ภาพร่าง (ซึ่งคนในวงการเรียกว่าเนม) หากภาพร่างเล่าเรื่องได้ดี ตัดต่อแม่นยำ ตัวละครโดดเด่น ที่สำคัญคืออ่านสนุก โอกาสที่จะได้ตีพิมพ์ก็พอเป็นไปได้

มากไปกว่านี้คือ หลังจากตีพิมพ์ไปแล้ว เสียงโหวตและยอดขายจะเป็นตัวตัดสินว่าการ์ตูนจะถูกสั่งให้ตัดจบและถอดออกเมื่อไรการ์ตูนเรื่องหนึ่งจะได้ภาพสีหรืออยู่ท้ายเล่มรอการถอดออก เหล่านี้มิใช่ผู้เขียนหรือแม้กระทั่งบรรณาธิการจะเป็นผู้ตัดสิน

โดดเด่นวูบเดียวแล้วหลงตนเองนั้นไม่ยาก แต่จะยืนยงคงกระพันนั้นไม่ง่าย

 

“ไม่สนุกเลยสักนิด ภาพก็แย่เนื้อเรื่องก็มั่วซั่ว” คือคำที่บอกอจัมป์บอกแก่เขาในการรับต้นฉบับครั้งแรก

แล้วเวลาก็ผ่านเข้าสู่ทศวรรษที่ 70 การ์ตูนของเขาไม่มีอะไรคืบหน้า จากจัมป์เขาเปลี่ยนมายื่นต้นฉบับที่โชเนนแชมเปี้ยนที่ซึ่งเท็ตซึกะ โอซามุ ทำงานอยู่ แม้จะไม่ประสบผล แต่บอกอขี้เมาก็เหลือบสายตาดูผลงานของเขาอยู่บ้าง เวลาผ่านไปอีกหลายปีที่เขาเข้า-ออกยื่นต้นฉบับให้แก่นิตยสารต่างๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธเหมือนเดิม

นี่คือเรื่องราวของมาซามิ ฮิงาชิดะ ซึ่งจะได้ใช้นามปากกาว่ามาซามิ คุรุมาดะ ในการตีพิมพ์ผลงานครั้งแรกทั้งซึ่งได้รับการประเมินผลว่า “เนื้อเรื่องก็เชยๆ ภาพก็ยังห่วยเหมือนเดิม”

นี่คือเรื่องราวเริ่มต้นของผู้เขียนนักชกเจ้าสังเวียน (Ring ni Kakero) ปี 1977 และเซนต์เซย์ย่า (Saint Seiya) ปี 1986 อันลือลั่นของโชเนนจัมป์ และบิทเอ๊กซ์ (B’t X) ปี 1994 ของโชเนนเอซในเวลาต่อมา

 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จริงหรือ?

สำหรับนาคามุระแล้วไม่จริง เขาตายอนาถโดยที่แม้แต่ลูก-เมียก็ไม่เห็นคุณค่าของงานที่เขารัก

แล้วสำหรับมาซามิ คุรุมาดะ เล่า เขาสำเร็จเพราะความพยายามจริงหรือ?

ในสังคมที่ฉ้อฉลกันได้ทุกเรื่องต่อหน้าต่อตาโดยสิ้นความละอายใจ เราควรดำรงตนอย่างไร