วิรัตน์ แสงทองคำ : อีกยุค “ไทยพาณิชย์”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ที่มาภาพ : World Bank

ธนาคารเก่าแก่ของไทยเดินหน้าสู่ยุคใหม่อีกยุคอย่างแข็งขัน

เรื่องราวนั้น เกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ดำเนินไปอย่างเร้าใจและน่าติดตามยิ่งนัก

โดยเฉพาะเริ่มจาก ยุทธศาสตร์ไทยพาณิชย์ “Going Upside Down” (กลับหัวตีลังกา) สาระซึ่งผู้คนสนใจอยู่ที่ “เป้าหมายการมีเครือข่ายสาขาเหลือเพียง 400 แห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ที่ 1, 170 สาขา ที่สำคัญตั้งเป้าจำนวนพนักงานไว้ที่ 15,000 คน จากปัจจุบันทั่วประเทศมีมากถึง 27,000 คน” (อ้างจากหัวข้อข่าวทางการของธนาคารไทยพาณิชย์ 22 มกราคม 2561)

มาจนถึง “ไทยพาณิชย์ลงนามขายธุรกิจประกันชีวิตให้กลุ่มเอฟดับบลิวดี และร่วมเป็นพันธมิตรแบงก์แอสชัวรันส์ระยะยาวในไทย นับเป็นความร่วมมือด้านประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์” (1 กรกฎาคม 2562) ผู้คนสนใจมูลค่าซื้อขายเป็นพิเศษ “ธนาคารจะได้รับค่าตอบแทนทั้งหมดเป็นจำนวน 9.27 หมื่นล้านบาท”

อันที่จริงในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญอีกบางอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าการเปลี่ยนนามผู้ถือหุ้นใหญ่ (มิถุนายน 2561)

การปรับโครงสร้างบริหาร โดยแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่พร้อมกันถึง 4 คน (กุมภาพันธ์ 2562)

จนถึงดีลที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง ธนาคารไทยพาณิชย์ กับซีพี ออลล์ ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญที่เรียกว่า Digital Financial Partnership เปิดช่องทางบริการใหม่ของธนาคาร สามารถทำธุรกรรมได้ที่ 7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ 24 ชั่วโมง (มีนาคม 2562)

 

เหตุการณ์สำคัญที่น่าสนใจเป็นพิเศษควรเป็นเรื่อง “ธนาคารไทยพาณิชย์แต่งตั้งนายกกรรมการและประธานกรรมการบริหาร” (4 เมษายน 2562) สาระสำคัญอยู่ที่การแต่งตั้ง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกกรรมการ แทนอานันท์ ปันยารชุน “ครบวาระและแจ้งความประสงค์ไม่ขอรับการต่อวาระ”

ด้วยเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญข้างต้น สะท้อนความเป็นไปของธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต่อจากนี้

เรื่องราวช่วงต่อจากอานันท์ ปันยารชุน ถึง ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย จึงน่าสนใจ ทบทวน

 

อานันท์ ปันยารชุน จากนักการทูตผู้มีชื่อเสียงสู่ภาคธุรกิจ มีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมระดับกว้าง-อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทย (2523) ประธาน ASEAN TASK FORCE (2525-2526) จุดเริ่มต้นความพยายามผนึกกำลังภาคอุตสาหกรรมในอาเซียน เมื่อก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมขึ้นเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภา

และแล้วมีบทบาทก้าวข้ามจากอุตสาหกรรมไปสู่ธนาคาร เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งแรก (2527) ช่วงธนาคารกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นเวลาเดียวกันกับธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นผู้จัดการใหญ่

ในปี 2534 อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้อยู่ในตำแหน่งไม่นาน เขาได้สร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ ถือเป็นผลงานอ้างอิง แต่มีบางกรณีที่ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึง โดยเฉพาะกรณีการเกิดขึ้นของทีวีเสรี ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในยุครัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เชื่อมโยงมาสู่การก่อเกิดเครือข่ายธุรกิจสี่อสารซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์หนุนหลัง

“อิทธิพลข้อมูลข่าวสารและระบบสื่อสารมีพลังอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 โดยเฉพาะการเติบโตอย่างน่าเกรงขามของกลุ่มธุรกิจสื่อสารใหม่ๆ ในสังคมไทย กลายเป็นอำนาจต่อรองที่ไม่อาจมองข้ามได้ อิทธิพลของกลุ่มใหม่เหล่านี้ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มอิทธิพลธุรกิจเก่าโดยตรง” ผมเคยวิเคราะห์ไว้ (ปี 2541)

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อานันท์ ปันยารชุน กลับเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ (ปี 2535) ในช่วงเวลาการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เครือข่ายธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ทว่าความผันแปรมาถึงอย่างรวดเร็วในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 โดยเฉพาะธุรกิจทีวีเสรีและสื่อสาร ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของธนาคารไทยพาณิชย์

อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ยาวนานถึง 22 ปี ก่อนก้าวขึ้นเป็นนายกกรรมการในปี 2550 “ตลอดระยะเวลา 22 ปี อานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำพาธนาคารผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในหลายยุค”

ถ้อยแถลงสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ในครั้งที่ประกาศแต่งตั้งนายกกรรมการคนใหม่ แทนจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (มีนาคม 2550)

 

ส่วน ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เรื่องราวกว้างๆ อย่างย่อของเขาควรอ้างอิงจากข้อมูลทางการธนาคารไทยพาณิชย์เอง

“ดร.วิชิตมีประวัติการทำงานที่ยาวนานในภาคการเงินการธนาคาร โดยเริ่มต้นการทำงานด้านการธนาคารที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปี 2520 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในระหว่างปี 2537-2538 และได้กลับเข้าสู่การทำงานด้านการธนาคารอีกครั้งในตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารรัตนสิน จำกัด (มหาชน) ในปี 2541

และในปี 2542 ดร.วิชิตได้เข้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการธนาคารและประธานกรรมการบริหาร ล่าสุด ดร.วิชิตได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคารให้ดำรงตำแหน่งนายกกรรมการธนาคาร มีผลตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2562”

ภาพ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย โดดเด่นขึ้นอย่างมิพักสงสัย ในฐานะประธานกรรมการบริหารซึ่งอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง 2 ทศวรรษ

ว่าไปแล้วสามารถเทียบเคียงได้ในบางมิติกับยุคประจิตร ยศสุนทร ผู้มากับยุคใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์อย่างแท้จริง

 

ยุคประจิตร ยศสุนทร เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ สะท้อนการปรับตัวครั้งใหญ่ สร้างโอกาสทางธุรกิจกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีบทบาทหนึ่งที่สำคัญ สนับสนุนเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในช่วงนั้น เคียงคู่กับเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี

ประจิตร ยศสุนทร ผู้มีประสบการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ถึง 11 ปี (2516-2527) ก่อนก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารอีก 15 ปี (2527-2542) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับดำรงตำแหน่งนายกกรรมการ (2530-2541) ด้วย

ยุคประจิตร ยศสุนทร เป็นยุคสะสมประสบการณ์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ รุ่นต่อเนื่องมาจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ (ผู้จัดการใหญ่ 2527-2535) โอฬาร ไชยประวัติ (ผู้จัดการใหญ่ 2535-2542) และชฎา วัฒนศิริธรรม (ผู้จัดการใหญ่ 2542-2550) ท่ามกลางการเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจโลกเข้ามากระทบสังคมไทย

ในช่วงปี 2527-2542 พัฒนาการธนาคารไทยพาณิชย์เป็นไปอย่างก้าวกระโดด เมื่อเปรียบเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์ไทยแล้ว มีสถิติอันน่าทึ่งอ้างอิงไว้ ช่วงเวลาแค่ 2 ทศวรรษ จากปี 2513 ถึงปี 2533 สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจากระดับ 12,000 ล้านบาท มาทะลุ 1 แสนล้านบาท

(จากหนังสือ “CENTURY OF GROWTH” The first 100 years of Siam Commercial Bank)

 

ยุคประจิตร ยศสุนทรสิ้นสุดลง เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เชื่อกันว่าปัจจัยเร่งมาจากความเชื่อมั่นอย่างสูงในการสร้างเครือข่ายธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์อย่างมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสื่อสาร ท่ามกลางปรากฏการณ์การพองตัวเกินธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจไทย

ทว่ายุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เปิดฉากขึ้นในบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผลสะเทือนอันรุนแรงต่อระบบธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 ยังคงดำเนินไประยะหนึ่ง พร้อมๆ เพียง 2 ปี การมาของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย แผนการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Change Program เปิดฉากขึ้น การปรับกระบวนการและระบบภายในธนาคารครั้งใหญ่เดินหน้าไปพร้อมๆ กับบางระยะสร้างโอกาสใหม่ๆ บ้าง ซึ่งไม่ออกจากแกนธุรกิจ อาทิ การเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้ออย่างเต็มตัว (ปี 2549)

ช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ระบบธนาคารโลกเผชิญภาวะผันแปรอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจากวิกฤตการณ์การเงินโลกในช่วงปี 2550-2553 มาจนถึงการเปิดฉากเปิดโฉมเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ขณะเศรษฐกิจไทยเองชะลอตัวราวปี 2557-2558 เป็นต้นมา ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งความผันแปรทางการเมือง

ในช่วงนั้นธนาคารไทยพาณิชย์เดินหน้ายกระดับ แผนปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

จาก Change Program สู่ Transformation Program แผนการอันเข้มข้นเริ่มต้นตั้งแต่กลางปี 2559 ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนพอสมควร ธนาคารยังคงรักษาระดับผลกำไร 4 หมื่นล้านบาท มีการจ่ายเงินปันผลอย่างคงเส้นคงวา อย่างตั้งใจ ในสัดส่วนเกือบๆ 50% โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีมานี้ (2560-2561) เกือบๆ 2 หมื่นล้านบาท

สิ่งที่คงไว้ เช่น ยุคใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ยุคประจิตร ยศสุนทร ซึ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นอีกฉากตอนจากยุคเก่าอันอนุรักษนิยม (2449-2515) นั่นคือ คงบุคลิกธนาคารยุคใหม่ ดำเนินแผนการธุรกิจเชิงรุก โดยสาระบางมิติแล้ว ระหว่างยุคประจิตร ยศสุนทร กับยุควิชิต สุรพงษ์ชัย ย่อมแตกต่างกัน

จากแผนการเชิงรุก สู่ภายนอก มุ่งขยายธุรกิจรอบๆ ธนาคาร สู่แผนการเชิงรุกในการปรับตัวจากภายใน เชื่อว่า ยุควิชิต สุรพงษ์ชัย ยังคงดำเนินไป

————————————————————————————————————–

ข้อมูลจำเพาะ

ธนาคารไทยพาณิชย์

นายกกรรมการ

พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ 2515-2530

ประจิตร ยศสุนทร 2530-2541

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา 2541-2550

อานันท์ ปันยารชุน 2550-2562

วิชิต สุรพงษ์ชัย 2562-

ประธานกรรมการบริหาร

ประจิตร ยศสุนทร 2527-2542

ชุมพล ณ ลำเลียง 2542

วิชิต สุรพงษ์ชัย 2542-2562

หมายเหตุ
แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ Century of Growth และตัดตอนเฉพาะช่วงเวลาอ้างอิง