เทศมองไทย : อียู-เวียดนาม กับเศรษฐกิจไทย

รายงาน “ไทยแลนด์ อีโคโนมิก มอนิเตอร์” ของธนาคารโลก ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่าระดับความเร็วในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยชะลอตัวลงในช่วงต้นปี 2019 นี้ สะท้อนความเป็นจริงของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

รายงานชิ้นที่ว่านี้บอกว่า การส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยติดลบมากถึง 4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปี มีผลอย่างมากต่อการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตในช่วงเดียวกันของธนาคารโลกว่าจะลดลงจาก 4.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2018 ลงมาเหลือที่ประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกเหนือจากภาคการส่งออกที่ติดลบ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการติดลบรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีของไทยแล้ว การลงทุนภาครัฐก็ยังชะลอตัวลงไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา “เมกะโปรเจ็กต์” ทั้งหลายที่ชะลอช้าลงเพราะ “การเลือกตั้ง” และกระบวนการทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลที่ตามหลังมา

แต่ในภาคอื่นๆ รายงานของธนาคารโลกระบุเอาไว้น่าสนใจมากว่ายังเป็นไปด้วยดี เช่น การลงทุนภาคเอกชนกับการบริโภคในครัวเรือน ซึ่งยังคงขยายตัวสูงจนเกือบถึงระดับสูงที่สุดในรอบ 3 ปี

เหตุเป็นเพราะ อัตราเงินเฟ้อต่ำ, อัตราการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่กลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ภายใต้สภาพโดยรวมเช่นนี้ การที่ค่าเงินบาทแข็งโป๊ก ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ระหว่าง 5 เปอร์เซ็นต์ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในบรรดาค่าเงินทั้งหลายในภูมิภาค ไม่ได้เป็นผลดีต่อการส่งออกแต่อย่างใด กลับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่มากขึ้นไปอีก

 

เอ. เอ็น. บาซิล รายงานเอาไว้ใน “บิสซิเนส ไทม์ส” ของอินเดีย เมื่อ 8 กรกฎาคมนี้ว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวให้ได้ผล รัฐบาลไทยต้องเร่งทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

เหตุผลพื้นๆ เบื้องต้นก็คือ หลายชาติสมาชิกอาเซียนทำความตกลงเอฟทีเอกับอียูไปเรียบร้อยแล้ว ยังเหลือแต่ไทยนี่แหละที่ยังไม่มีข้อเสนอที่อียูอาจให้ความสนใจร่วมลงทุนและเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วยได้

ในเวลาเดียวกัน อียูเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทย คนในแวดวงอุตสาหกรรมรถยนต์ถึงเชื่อว่าเอฟทีเอกับอียู น่าจะเอื้อให้ตัวเลขที่ว่านี้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

นอกจากนั้น การที่เวียดนามสามารถทำความตกลงเอฟทีเอกับอียูไปได้แล้ว ทำให้การส่งออกของไทยไปยังอียูในทุกๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่เรื่องรถยนต์ตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะตราบเท่าที่ยังไม่มีเอฟทีเอระหว่างกัน ไทยก็ยังจำเป็นต้องเสียภาษีอยู่ต่อไป

ทำให้ต้นทุนสินค้าของไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบต่อสินค้าประเภทเดียวกันของเวียดนาม

 

เอ.เอ็น. บาซิล ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าสินค้าในภาคการส่งออกของไทยหลายรายการมากที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเอฟทีเอ อียู-เวียดนาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์เองเป็นกังวลอยู่ว่า ทั้งภาคสิ่งทอ, อัญมณี, ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อยไปจนถึงสินค้าเกษตรกรรมบางตัวก็อาจได้รับผลกระทบจากความตกลงเอฟทีเอ อียู-เวียดนาม

แม้แต่เรื่องของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ก็อาจได้รับผลกระทบ เพราะบริษัทจากสหภาพยุโรปย่อมเลือกที่จะลงทุนในประเทศที่มีความตกลงเอฟทีเอซึ่งกันและกันอยู่มากกว่าแน่นอน

บาซิลตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า นักวิชาการหลายคนออกอาการหงุดหงิดกับการที่ แม้ว่าเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาไทยแสดงความกระตือรือร้นในการรื้อฟื้นการเจรจากับสหภาพยุโรป ถึงขนาดมีการเปิดเผยกันออกมาว่า คณะตัวแทนของทางการไทยกับอียูกำหนดจะเจรจาเพื่อทำความตกลงเรื่องการค้านี้ให้ได้โดยเร็ว

แต่แล้วคนที่ประสบความสำเร็จ ทำความตกลงมูลค่ามหาศาลได้ก่อนกลับเป็นเวียดนามไปเสียนี่

สาเหตุสำคัญก็ไม่ใช่อื่นใด เป็นเรื่องของประเด็นปัญหาการเมืองแบบเดิมๆ ตามแบบฉบับของไทยแลนด์นั่นแหละครับ