สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ครูอยากสอน นักเรียนอยากเรียน (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลังจากผู้เข้าร่วมประชุมแยกย้ายกันเข้าห้องย่อย 10 หัวข้อ รายการต่อไปของเวทีวิชาการ นวัตกรรมสู่โรงเรียนคุณภาพ ห้องเรียนเป็นฐาน กระบวนการเป็นทุน เป็นการเสวนาเพื่อร่วมกันหาแนวทาง ต่อยอดการดำเนินโครงการ ทั้ง sQip และเพาะพันธุ์ปัญญาต่อไปอย่างไรเพื่อให้ผลส่งถึงตัวผู้เรียน เกิดความเปลี่ยนแปลงกับตัวนักเรียนให้มากที่สุด

รับฟัง 3 นักคิด สะท้อนมุมมองในหัวข้อ “การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสู่การเรียนรู้ของผู้เรียน”

เริ่มจาก ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย

 

“โรงเรียนบ้านห้วยไร่ฯ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สิ่งที่โรงเรียนเน้นคือ 1.โครงสร้างหลักสูตรที่โรงเรียนดำเนินงานทบทวนในทุกปีเพื่อเป็นพิมพ์เขียวในการดำเนินงาน เพราะมีเนื้อหาบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะพบว่างานนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากภารกิจหลักของโรงเรียน มีหลักสูตรทวิศึกษาเพื่อให้เด็กมีโอกาสต่อการเรียนสาขาวิชาชีพ

2.การจัดเวลาเรียนใหม่เพื่อตอบสนองผู้เรียน 3.การสนับสนุนทรัพยากรการสอนที่ตรงต่อความต้องการในแต่ละห้องเรียน เช่น การไม่ซื้อหนังสือเพราะมีเพียงพอ แต่ขอนำไปทำหนังสือใหม่ที่ตรงต่อการสอนของห้องเรียน”

“sQip ทำให้โรงเรียนดำเนินงานได้อย่างรัดกุมผ่าน Q ต่างๆ ภายใต้นโยบายที่ผ่านเข้ามาหลากหลาย โรงเรียนจะรับมือและตอบสนองอย่างไร เช่น โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนสุจริต โรงเรียนประชารัฐ โรงเรียนสีขาว โรงเรียนดีประจำตำบล โรงเรียน ICU โรงเรียนต้องมาทำเอกสารเพื่อให้เกิดโรงเรียนเหล่านี้ ดังนั้น โรงเรียนบ้านห้วยไร่ฯจึงต้องผลักนโยบายให้ถึงห้องเรียน”

แต่สิ่งที่ไม่เคยปรากฏในนโยบาย เช่น การทำพิธีไหว้ครูตั้งแต่เริ่มสอน ทำให้ครูภูมิใจ เด็กรู้จักครู ลดช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียน การเล่นกีฬาร่วมกัน การเยี่ยมบ้านนักเรียน แลกของขวัญปีใหม่ หากทำกิจกรรมนี้อย่างมีความหมายจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของนักเรียนกับครู

การทำห้องเรียนน่าอยู่ทำให้ห้องเรียนเป็นห้องแห่งการเรียนรู้ คุณครูสอนคิดเป็นการสอนที่มากกว่าการจำ ทำให้เด็กได้คิด มีการพัฒนาเครื่องมือให้ครูสอนคิด เช่น การสอนเรื่องลมบก ลมทะเล น้ำขึ้น-น้ำลง ทำให้ห้องเรียนมีผลงานของเด็กติดตามผนังห้องเรียน การส่งเสริมการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติ นักเรียนได้ทำอาหาร ทำเกษตร ซึ่งตรงกับข้อค้นพบที่เด็กได้ปฏิบัติ ทำให้เด็กได้เรียนรู้จริง การปล่อยให้ข้อสอบรั่วเพื่อให้เด็กสนใจที่จะถาม/อ่าน การเปลี่ยนยุทธศาสตร์การสอนในรายวิชาคณิตศาสตร์ที่ให้นักเรียนถาม ทำโจทย์หน้าห้องเรียน

ความสัมพันธ์ของครูกับผู้บริหารที่สนับสนุนให้เกิดการปรับหลักสูตรในทุกปี ที่ผ่านมาผู้บริหารอาจจะสื่อสารสร้างความสัมพันธ์แบบผิดๆ เป็นการสื่อสารในลักษณะการตามทวงงานซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับห้องเรียน ดังนั้น ผู้บริหารต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารที่ชี้ให้ครูสนใจห้องเรียน การเรียนการสอนนักเรียน การคุยเรื่องเด็กนักเรียนในห้อง จะทำให้ครูรู้ว่าผู้บริหาร Focus เรื่องอะไร “ผู้บริหารต้องรองเท้าขาดก่อน กางเกงขาดก่อน” ครูศุภโชคเน้น

หลักสูตรคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ครูอยากสอน และนักเรียนอยากเรียน ต้องหาน็อตที่ต้องหมุนก่อนคือห้องเรียน เพื่อให้สามารถยกระดับการเรียนของโรงเรียนได้สอนให้มากกว่าการท่องจำ ต้องทำให้นักเรียนคิด ปฏิบัติ สิ่งที่ควรระวังคือการทำเพื่อรางวัล เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยั่งยืน แต่ต้องทำภายใต้ความคิดว่าทำแล้วนักเรียนจะได้อะไร

จิตวิญญาณครูสร้างยาก ต้องใช้เวลา ที่เห็นมักจะเจอจิตวิญญาณผ่านการบ่นนักเรียน ดังนั้น โรงเรียนต้องปรับสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น การเข้าแถว เป็นต้น

การสร้างจิตวิญญาณครูของโรงเรียน คุณครูใหม่จะให้ครูออกเยี่ยมหาปัญหา หาแนวทางการแก้ไข เพื่อสร้างความสัมพันธ์ สร้างจิตวิญญาณครู ปรับวิธีการไหว้ครู ปรับวิธีประชุมผู้ปกครองให้ไปประชุมตามห้องของนักเรียน และมีรางวัลให้ครู Teacher of The year

 

ถึงคิว นักคิดนักทำรายต่อไป ดร.กาญจน์วรินทร์ ผลอนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติ เซนต์แอนดรูว์ส (St. Andrews International School Bangkok) ก่อนหน้านี้เธอเป็นหัวหน้าหมวดและครูภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมไทย ครูใหญ่ไทย โรงเรียนบางกอกพัฒนา

ครูถ่ายทอดประสบการณ์ว่า โรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 1,900 คน เปิดสอนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีหลักสูตรนานาชาติเป็นหลัก และมีโปรแกรมพิเศษด้านวิชาชีพซึ่งมาจากต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของ North Anglia ซึ่งมีหน่วยงานเข้ามาช่วยในการดำเนินงานของโรงเรียน มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย MIT ในการพัฒนาเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การที่มีภาคีเครือข่ายทั่วโลกทำให้เด็กนักเรียนมีการสื่อสารเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนในต่างประเทศ

พันธกิจสำคัญของโรงเรียนคือการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน และพัฒนานักเรียนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อโลก

โครงสร้างของโรงเรียนจะมีผู้บริหารจัดการ 2 ฝ่ายคือวิชาการและบริหารจัดการ ซึ่งจะสนับสนุนร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย

“การรับนักเรียน โรงเรียนจะไม่ได้เลือกแต่เด็กเก่ง เพราะเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ หัวใจของโรงเรียนคือ การมีความสุข คุณครูมีความสุข นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองพึงพอใจ

“หลักสูตรประถมเน้นหัวข้อเป็นฐานในการเรียนรู้ เพราะต้องการให้เห็นมิติของความเชื่อมโยงถ้าต้องใช้ชีวิตภายนอกห้องเรียน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการอ่านเพราะช่วยให้นักเรียนเข้าถึงได้ทุกวิชา

“หลักสูตรมัธยมเน้นการดูแลให้ความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมช่วยเหลือเด็กผ่านครูประจำชั้น และครูผู้ช่วย โดยมีหลากหลายวิชา มัธยมปลายเป็นการสอนหลักสูตรแบบเข้ม 6 วิชา มีกิจกรรมให้นักเรียนทำที่หลากหลาย ศิลปะ ดนตรี กีฬา เข้าค่าย ภาษาต่างประเทศ การแสดง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการ”

ครับ บทสะท้อนคิดของผู้บริหารโรงเรียนอินเตอร์ท่านนี้ยังไม่จบ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจอีกมาก แต่เหตุเพราะพื้นที่ถ่ายทอดจำกัด เลยขอยกไว้ต่อตอนหน้า พร้อมกับทัศนะของนักการศึกษา ผู้เป็นครูของครูท่านต่อไป เป็นใคร ต้องติดตาม