วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จีน 1989, ฮ่องกง 2019

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ปีนี้ (ค.ศ.2019) เป็นปีที่ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

อันเป็นเหตุการณ์การชุมนุมของนักศึกษาจีนเพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) สนองตอบข้อเรียกร้องของตน การชุมนุมมีขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางกรุงปักกิ่ง และมีขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน ค.ศ.1989

โดยพอถึงเช้าตรู่วันที่ 4 มิถุนายนนั้นเอง ทางการจีนได้ส่งกองกำลังทหารติดอาวุธสงครามพร้อมรถถังเข้าสลายการชุมนุม

การสลายการชุมนุมครั้งนี้จึงมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงทหารบางคนที่ถูกทำร้ายจนตายอันเนื่องมาจากความไม่พอใจของผู้ชุมนุม จนถึงทุกวันนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด ในขณะที่ตัวเลขของทางการจีนระบุว่ามีกว่า 300 คนยังคงไม่เป็นที่ยอมรับจนทุกวันนี้ เพราะเป็นตัวเลขที่ยังไม่นับรวมผู้สูญหายอีกจำนวนไม่น้อย

เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่จบลงด้วยการนองเลือด เหตุการณ์นี้จึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนร่วมสมัย และเรียกขานเหตุการณ์นี้ว่าเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

 

แต่ที่ดูจะถูกพูดถึงน้อยมากก็คือ ผู้ชุมนุมเหล่านี้เรียกร้องอะไรจาก พคจ.?

ซึ่งนับแต่ที่เริ่มการชุมนุมจนถึงการชุมนุมถูกปราบปรามอย่างนองเลือดนั้น ผู้คนทั่วโลกมักเข้าใจว่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้จีนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และเพราะเรียกร้องสิ่งนี้ ผู้ชุมนุมจึงถูกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านระบอบสังคมนิยม หรือเป็นพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ พคจ.มักใช้กล่าวหาคนที่คิดต่างไปจากตน

และถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมากในประเทศที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ อันที่จริงแล้วข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมตั้งแต่แรกเริ่มมีเจ็ดข้อ

ดังนี้

1. ให้มีการชำระทัศนะประชาธิปไตยและเสรีภาพของหูเย่าปังขึ้นมาใหม่ (หูผู้ล่วงลับไปในปีนั้นเคยเป็นเลขาธิการ พคจ. แต่ถูกปลดออกเพราะไปให้การสนับสนุนการเดินขบวนของนักศึกษาใน ค.ศ.1987 ที่ถูกสลายไป และเป็นเชื้อให้เกิดการชุมนุมในครั้งนี้)

2. ให้ยอมรับการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาว่าไม่ใช่มลพิษทางจิตวิญญาณและการปลดปล่อยของชนชั้นกระฎุมพี (พคจ.กล่าวหาผู้ชุมนุมด้วยถ้อยคำดังกล่าว อันเป็นถ้อยคำที่ พคจ.ใช้กับผู้ที่เห็นต่างกับตนอยู่เสมอ)

3. ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของผู้นำรัฐและสมาชิกในครอบครัว

4. ให้เลิกการห้ามตีพิมพ์ความเห็นส่วนบุคคลและให้การรับรองเสรีภาพในการพูด

5. ให้เพิ่มเงินทุนเพื่อการศึกษาและรายจ่ายของกลุ่มคนที่มีความรู้

6. ให้ยกเลิกข้อห้ามการแสดงออกของประชาชนในปักกิ่ง และ

7. ให้ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตยในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาแทนที่ข้ารัฐการที่ตัดสินใจทางด้านนโยบายอย่างผิดๆ

 

จะเห็นได้ว่า ทั้งเจ็ดข้อดังกล่าวไม่มีข้อใดที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ พคจ.เปลี่ยนระบอบการปกครองแม้แต่ข้อเดียว

แม้จะมีบางข้อที่เอ่ยถึงประชาธิปไตยหรือเสรีภาพบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ พคจ.ก็ใช้เป็นปกติภายในพรรคเช่นกัน

ในเมื่อไม่ใช่การชุมนุมเพื่อเปลี่ยนระบอบแล้วเหตุใดผู้ชุมนุมจึงถูกกล่าวหาเช่นนั้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ พคจ.ไม่ยอมเจรจากับผู้ชุมนุม แต่ต้องการให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุมสถานเดียว

ซึ่งยิ่งเท่ากับกดดันให้ผู้ชุมนุมจำต้องยกระดับการชุมนุมของตนให้มีพลังมากขึ้น ตอนนี้เองที่การอภิปรายของผู้ชุมนุมจึงเริ่มมีการพูดถึงประชาธิปไตยแบบตะวันตก และทำให้ถูกมองว่าต้องการเปลี่ยนระบอบ จนนำมาสู่ข้ออ้างในการปราบปรามที่จบลงอย่างนองเลือด

หลังเหตุการณ์ผ่านไป พคจ.ยังคงยืนยันว่าสิ่งที่ตนทำนั้นถูกต้องแล้ว แต่ก็น่าสังเกตด้วยว่า ถ้าหากยืนยันเช่นนั้นแล้ว เหตุใด พคจ.จึงยังคงห้ามมิให้ชาวจีนกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไม่ว่าในรูปแบบใด ยิ่งในยุคดิจิตอลทุกวันนี้ด้วยแล้วก็ยิ่งหาวิธีมาเซ็นเซอร์กันอย่างจริงจัง

ดังนั้น การห้ามกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในขณะที่ยืนยันว่าที่ตนทำนั้นถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

 

หากทบทวนเหตุการณ์นี้อีกครั้งหนึ่งแล้วจะพบว่า คนที่มีอิทธิพลสูงมากคนหนึ่งในการตัดสินใจให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมนั้นคือ เติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งศูนย์กลางพรรค ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดทางการทหาร และเขาก็เป็นผู้ตัดสินใจคนสำคัญในกรณีนี้ แต่หลังเหตุการณ์จบลงปรากฏว่าจีนถูกประณามไปทั่วโลก

ดังนั้น การกล่าวถึงเหตุการณ์นี้จึงย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นนักปฏิรูปของตัวเติ้งเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ พคจ.คงยอมไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อการปฏิรูปที่สู้อุตส่าห์ฟูมฟักจนจีนรุ่งเรืองได้ในทุกวันนี้

ใช่หรือไม่ว่า เหตุการณ์เทียนอันเหมินหากไม่เป็นรอยด่างพร้อยของเติ้งเสี่ยวผิง ก็เป็นรอยด่างพร้อยของ พคจ.เอง? การห้ามกล่าวถึงเหตุการณ์นี้จึงเคร่งครัดอย่างยิ่ง

เนื่องเพราะเหตุการณ์นี้ถูกห้ามพูดถึงในจีน การรำลึกถึงเหตุการณ์นี้จึงไม่มีให้เห็นที่จีนอย่างเปิดเผย ส่วนที่ทำกันอย่างลับๆ ก็ไม่มีใครล่วงรู้

แต่ที่รำลึกกันอย่างเปิดเผยนับแต่ครบรอบปีแรกของเหตุการณ์นี้มาจนถึงทุกวันนี้คือฮ่องกง

 

ทุกๆ วันที่ 4 มิถุนายนของทุกปี ชาวฮ่องกงเรือนพันเรือนนับหมื่นจะจัดให้มีการชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว มาจนถึงปีนี้อันเป็นปีครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์นี้

แต่จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ก็ตาม การณ์กลับปรากฏว่าปีนี้ได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่มากกว่านั้น เมื่อชาวฮ่องกงก่อการชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนขึ้นมา และเป็นการชุมนุมประท้วงคณะผู้บริหารฮ่องกงโดยตรง

ผู้ชุมนุมมีนับล้านคน ในขณะที่ตัวเลขของทางการระบุว่ามีหลักแสน แต่กระนั้นการชุมนุมครั้งนี้ได้ทำให้ผู้บริหารฮ่องกงต้องยอมรามือและขอโทษชาวฮ่องกงในที่สุด

เหตุใดชาวฮ่องกงจึงไม่ปรารถนาที่จะให้กฎหมายนี้ผ่านสภาของตน ทั้งๆ ที่การส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นปัญหาของฮ่องกงมานาน ด้วยทำให้ผู้กระทำผิดบางคนลอยนวลไปได้เพราะไม่มีกฎหมายนี้รองรับ

อันที่จริงแล้วชาวฮ่องกงรู้ถึงข้อดีของกฎหมายนี้ แต่ที่ชาวฮ่องกงไม่ยอมรับก็คือ การส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปพิจารณาคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ ที่ต่างก็รู้กันว่าการพิจารณาคดีที่จีนนอกจากจะไม่มีมาตรฐานดังนานาชาติแล้ว บทลงโทษก็ยังหนักกว่าอีกหลายประเทศอีกด้วย ยิ่งเป็นคดีทางการเมืองด้วยแล้วก็ยิ่งน่ากลัว

บทลงโทษหนักอย่างไร?

 

ในที่นี้จะยกตัวอย่างคดีทางการเมือง ซึ่งก็คงไม่มีคดีไหนจะดีไปกว่าคดีเหตุการณ์เทียนอันเหมินอีกแล้ว ตัวอย่างนี้เป็นประสบการณ์ตรงของบทความนี้ ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการจีนท่านหนึ่ง ที่ถูกจับกุมคุมขังในข้อหาให้การสนับสนุนการชุมนุมครั้งนั้น และได้รับการปล่อยตัวหลังเหตุการณ์ผ่านไปนานนับสิบปี

ตอนที่สนทนากันนั้น เนื้อหาการพูดคุยจะหนักไปทางความเป็นอยู่ของท่านในระหว่างที่อยู่ในคุก และเรื่องที่ท่านเล่าดูแล้วก็ไม่มีอะไรที่หนักหนาไปกว่านักโทษโดยทั่วไป

แต่พอท่านเล่าไปๆ จนมาถึงตอนหนึ่งท่านก็เล่าว่า ในระหว่างที่อยู่ในคุกนั้นท่านได้พบและสนทนากับหญิงสาวคนหนึ่งชื่อเฉินหยวนหยวนด้วย

เฉินหยวนหยวนที่ท่านพูดถึงนี้คือใคร?

เฉินหยวนหยวน (ค.ศ.1624-1681) เป็นนางบำเรอคนหนึ่งที่ขุนศึกอู๋ซันกุ้ย (ค.ศ.1612-1678) แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) รักและหวงมากๆ ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองได้ถูกบอกเล่าต่อๆ กันมาจนกลายเป็นนิทานหรือตำนาน

แต่เรื่องที่เล่าและเชื่อกันมากคือ ระหว่างที่อู๋ซันกุ้ยไปต้านการบุกโจมตีจีนของทัพแมนจูที่ชายแดนอยู่นั้น ได้ทราบข่าวว่าเฉินหยวนหยวนถูกผู้นำกบฏคนหนึ่งขืนใจ

อู๋ซันกุ้ยโกรธยิ่ง โกรธจนไปเปิดประตูด่านซันไห่กวานที่ตนยันทัพแมนจูอยู่เพื่อให้ทัพแมนจูเข้ามา

และทำให้ทัพแมนจูสามารถยึดปักกิ่งและโค่นล้มราชวงศ์หมิงได้สำเร็จ แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาคือ ราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

ตอนแรกๆ ที่ได้ฟังคิดว่าท่านคงหลงไปด้วยความชรา แต่คุยๆ ไปอีกท่านก็เล่าเรื่องนี้อีก ว่าเฉินหยวนหยวนได้พบปะสนทนาอะไรกับท่านขึ้นมาอีก

ในฐานะคนฟังเมื่อตั้งสติได้จึงต้องว่าไปตามน้ำ คือวางท่าทีให้ลื่นไหลไปกับท่านในเรื่องของเฉินหยวนหยวน

ตอนหนึ่งจึงได้ถามท่านว่า เฉินหยวนหยวนสวยสมคำร่ำลือหรือไม่1

ท่านตอบว่า สวยมากๆ และจากการว่าไปตามน้ำนี้เองที่ทำให้พบว่าท่านถูกคุกจีนกระทำจนสูญเสียความเป็นบุคคลไปแล้ว

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ตัวอย่างของผู้ที่ถูกคุกจีนกระทำ โดยเฉพาะคดีทางการเมือง โดยที่เราไม่อาจรู้ได้ถึงกระบวนการที่กระทำต่อนักโทษ รู้เพียงว่าเมื่อออกจากคุกแล้วนักโทษคนนั้นอยู่ในสภาพที่เพี้ยนไปแล้ว

ดังนั้น ชาวฮ่องกงคงไม่ต่อต้านกฎหมายนี้หากเป็นการส่งผู้ร้ายไปยังประเทศที่พิจารณาคดีและมีบทลงโทษที่อารยะ แต่ที่ต่อต้านคือ การส่งไปจีนที่สามารถล่วงรู้ชะตากรรมได้ว่าคงไม่อารยะแน่ๆ

จากเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่มีกลุ่มฮาร์ดคอร์วัยหนุ่มนับร้อยคนใช้กำลังบุกเข้ายึดสภา พร้อมกับทำลายข้าวของและแสดงสัญลักษณ์ที่สะท้อนความไม่พอใจที่มีต่อจีน ถึงแม้การกระทำครั้งนี้จะล่อแหลมจนอาจทำลายความสำเร็จจากที่ผ่านมาก็ตาม

อำนาจของจีนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมที่เทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ.1989 จึงไม่เพียงยังคงหลอกหลอนผู้คนที่ประสบชะตากรรมในครั้งนั้นมาจนทุกวันนี้เท่านั้น หากแต่ยังคงหลอกหลอนชาวฮ่องกงด้วยด้วยเรื่องใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ

และใน ค.ศ.2019 นี้ก็นับเป็นการหลอกหลอนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง

————————————————————————————————————–
1เฉินหยวนหยวน ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในแปดคณิกาแห่งฉินฮว๋าย (ฉินฮว๋ายปาเอี้ยน) ที่มีชีวิตและชื่อเสียงในช่วงรอยต่อระหว่างราชวงศ์หมิงและชิง ทั้งแปดคนนี้ใช่แต่จะขึ้นชื่อในเรื่องความงามเท่านั้น หากยังเป็นผู้มีความรู้ในวรรณคดี กวี ศิลปะ เพลง และดนตรีอีกด้วย ชื่อเสียงในทางหลังนี้ชี้ให้เห็นว่า คณิกาทั้งแปดเป็นผู้มีการศึกษา แต่มิอาจใช้ความรู้ที่มีให้เป็นประโยชน์ในทางการเมืองได้ เพราะการเมืองจีนในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของลัทธิขงจื่อที่ปฏิเสธบทบาทของหญิง