รัฐกันชน กับดินแดนที่สยามประเทศ “ได้มา” จากชาติเจ้าอาณานิคม

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
"รัฐกันชน" แผนที่แสดงดินแดนของประเทศสยาม ที่อังกฤษ และฝรั่งเศส "เห็นว่าจำเป็นจะต้องรักษาความเป็นอิสรภาพของกรุงสยามไว้" ตามขอบเขตในข้อตกลงที่ (1) ใน ปฏิญญา อังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 (ภาพจาก : ส.ธรรมยศ, Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม สำนักพิมพ์โฆษิต : 2551,หน้า 233.)

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2439 ชาติมหาอำนาจ ควบตำแหน่งเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ และฝรั่งเศส ได้บรรลุข้อตกลงที่เรียกว่า ปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ.2439 (Anglo-French Declaration 1896)

ใจความสำคัญของปฏิญญาที่ว่านี้ก็คือ ข้อตกลงที่ว่าให้สยามเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างพื้นที่ในเขตอิทธิพลของอังกฤษ กับฝรั่งเศส ในอุษาคเนย์

ในช่วงเวลาดังกล่าว อังกฤษได้เข้าครอบครองพม่าอย่างค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จแล้ว หลังจากเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ ของราชวงศ์คองบอง ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2428 หรือ 11 ปีก่อนหน้าการลงนามในปฏิญญาฉบับดังกล่าว

และก็เป็นช่วงเวลาเพียง 2 ปีเศษหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2236) ที่เรือปืนของกองทัพฝรั่งเศส รุกเข้ามาในน่านน้ำของสยาม ตั้งแต่บริเวณหน้าป้อมพระจุลจอมเกล้า ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ ในปัจจุบัน จนถึงกรุงเทพมหานคร

อันนำมาซึ่งการที่สยามต้องเสียค่าปรับ (ตามคำกล่าวโทษของฝรั่งเศสว่าสยามเป็นฝ่ายผิด) จำนวน 3,000,000 ฟรังก์ พร้อมๆ กับวาทกรรมการเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของฝ่ายสยาม

ณ ช่วงเวลานั้น ขอบข่ายอิทธิพลของฝรั่งเศสจึงครอบคลุมทางด้านฟากตะวันออกของสยาม และอุษาคเนย์ ในขณะที่ฝ่ายอังกฤษมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสยาม และอุษาคเนย์เช่นกัน

ข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ในปฏิญญา พ.ศ.2439 จึงว่าด้วยเรื่องของการแบ่งเค้กดินแดนในภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยใช้สยามเป็นพื้นที่ลดแรงเสียดทาน ไม่ให้ชาติมหาอำนาจทั้งสองปะทะกันโดยตรงนั่นเอง

 

ลักษณะอย่างที่ว่าเห็นได้ชัดตั้งแต่ในข้อตกลงข้อ (1) และ (2) ในปฏิญญาฉบับนี้เลยนะครับ ดังความตามสำนวนแปลเป็นภาษาไทยของ ศ.ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก ที่ว่า

ข้อ (1) คอเวอนเมนต์ของสมเด็จพระนางเจ้าราชินีอังกฤษ กับคอเวอนเมนต์รีปับลิกฝรั่งเศสสัญญาต่อกันไว้ว่าเมื่อยังไม่ได้ยินยอมพร้อมกันแล้ว ถึงแม้จะมีการอย่างใดๆ ก็ดีฤๅเหตุใดก็ดี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวจะไม่ยกกำลังประกอบด้วยเครื่องสาตราวุธ ล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนทั้งหลายเหล่านี้ คือพื้นดินที่น้ำไหลจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง กับลำน้ำลำคลองทั้งหลาย ที่ติดต่อกับแม่น้ำทั้งปวงนี้ กับทั้งที่ฝั่งทะเลตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณจนถึงเมืองแกลงแลที่ดินซึ่งน้ำไหลตกลำน้ำบางตพาน กับลำน้ำพะแสซึ่งเมืองทั้งสองนี้ตั้งอยู่แล้วทั้งที่ดินที่น้ำไหลตก ลำน้ำลำคลองอื่นๆ ซึ่งไหลลงในทุ่งฤๅอ่าวตามชายฝั่งทะเลที่กล่าวมานี้ด้วย

กับอีกทั้งที่ดินซึ่งตั้งอยู่ข้างเหนือที่น้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยาแลตั้งอยู่ในระหว่างพรมแดนฝ่ายอังกฤษกับฝ่ายไทยลำแม่น้ำโขงกับที่ดินฟากตะวันออกซึ่งน้ำไหลตก ลำน้ำแม่อิงนั้นด้วย อีกประการหนึ่งสัญญากันไว้ว่า จะไม่คิดหาอำนาจแลหาผลประโยชน์วิเศษ ภายในเขตรที่ดินนี้ซึ่งจะเปนอันไม่ได้รับเสมอเหมือนกันฤๅ ซึ่งจะเปนการที่ไม่ให้ฝ่าย อังกฤษและฝ่ายฝรั่งเศสกับคนชาวเมืองของสองประเทศ แลคนที่พึ่งพาอาไศรยในสองประเทศนั้นไดรับผลเท่ากันด้วย แต่ข้อสัญญานี้จะไม่ตีความไปตัดทอนลดหย่อน ข้อวิเศษ์ทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ตามความในหนังสือสัญญาฝรั่งเศสกับกรุงสยาม ลงวันที่ 3 ตุลาคม รัตนโกสินทรศก 112 อันว่าด้วยการในแถบพื้นที่ 25 กิโลเมตร ฝั่งตวันออกแม่น้ำโขง แลว่าด้วยการเดินเรือในลำแม่น้ำนั้นด้วย

ข้อ (2) ความที่กล่าวไว้ในข้อก่อนนี้ จะไม่เปนที่ขัดขวางต่อการที่ประเทศทั้งสองจะยินยอมกันต่อไปอันเปนการที่ประเทศทั้งสองคิดเห็นว่าจำเปนจะต้องรักษาความเป็นอิสรภาพของกรุงสยามไว้ด้วย แต่ว่าประเทศทั้งสองนี้สัญญากันไว้ว่าจะไม่แยกกันไปทำสัญญาที่ยอมให้ประเทศอื่นอีกประเทศหนึ่งไปทำการ ที่ประเทศทั้งสองนี้ต้องงดเว้นเองตามหนังสือสัญญานี้ด้วย

 

จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่าชาติเจ้าอาณานิคมทั้งสอง ไม่เพียงแต่จัดการแบ่งสรรพื้นที่ในเขตอิทธิพลของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเออออห่อหมกกันเองว่า สยามควรมีดินแดนครอบคลุมพื้นที่บริเวณไหนบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นการไปตกลงกันเองโดยที่ทางฝ่ายสยามไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลยสักนิด

แต่ก็นั่นแหละครับ บางส่วนจากข้อความในข้อ (2) ก็ระบุไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า “ทั้งสองคิดเห็นว่าจำเปนจะต้องรักษาความเป็นอิสรภาพของกรุงสยามไว้ด้วย” หมายความว่า ทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศสต่างก็เห็นสยามตัวน้อยๆ ไม่ต่างไปจากลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด

หนึ่งในปัญญาชนสยามอย่าง แสน ธรรมยศ หรือที่มักจะรู้จักกันมากกว่าในนามปากกา ส.ธรรมยศ (พ.ศ.2457-2495) เคยประเมินขนาดพื้นที่ของประเทศสยาม ตามข้อตกลง ข้อ (1) ในปฏิญญาฉบับนี้ และวาดออกมาเป็นแผนที่อย่างลำลอง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ประเทศสยามที่อังกฤษและฝรั่งเศส “เห็นว่าจำเปนจะต้องรักษาความเป็นอิสรภาพ” เอาไว้มีขนาดเล็กกระจิริด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ดินแดนที่ชาติเจ้าอาณานิคมทั้งสองแบ่งกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ.2439 ฉบับนี้ ก็เป็นเพียงดินแดนลอยๆ ที่ไม่ได้มีใครเขายอมรับ นอกจากสองชาติมหาอำนาจที่ตกลงกันเองนี้หรอกนะครับ

เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อตกลงในการปักปันเขตแดน แต่เป็นเพียงการทำความตกลงระหว่างอังกฤษ และฝรั่งเศสว่า ใครจะมีบทบาทในการขยายอิทธิพลทางการเมืองการปกครอง แล้วเข้าจับจองพื้นที่บริเวณไหน โดยที่ชาติคู่สัญญาจะไม่เข้าไปก้าวก่ายระหว่างกันต่างหาก

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักค้นคว้าเอกสารมือทอง โดยเฉพาะเอกสารจากฝั่งยุโรปอย่าง ไกรฤกษ์ นานา เพิ่งจะนำเสนอหลักฐานที่เพิ่งค้นพบใหม่ในงานสโมสรศิลปวัฒนธรรม เสวนา ณ ห้องโถงมติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมาว่า มีบทวิเคราะห์ของชาวสหราชอาณาจักร

ถึงปฏิญญาฉบับดังกล่าวในนิตยสาร Blackwood Edinburgh Magazine ฉบับตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1896 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ โดยในบทวิเคราะห์ที่ว่า มีที่กล่าวถึงประเทศสยามด้วย

“ท้ายที่สุดสยามเองก็น่าจะพอใจที่พื้นที่อันชอบธรรมของตนได้รับการรับรองและการันตีสถานภาพว่าจะปลอดภัยจากการคุกคามจากภายนอกโดยที่ทุกฝ่ายสามารถตั้งมั่นอยู่ได้อย่างผาสุกโดยปราศจากความขัดแย้งที่ไม่จำเป็นในอนาคต

ข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสควรเป็นที่ยอมรับของพระเจ้ากรุงสยาม (รัชกาลที่ 5) เพราะจะช่วยให้พระองค์มีอิสระเสรีภาพที่จะปกครองแผ่นดินต่อไปได้กึ่งกลางเขตอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนโดยรอบอันชอบธรรม ตามข้อตกลงภายใต้เงื่อนไขใหม่ โดยรัฐบาลของเรา”

ข้อความข้างต้นเป็นตอนท้ายสุดของบทความจากนิตยสาร Blackwood Edinburgh Magazine ตามสำนวนแปลของคุณไกรฤกษ์ ซึ่งผมคัดมาจากในสูจิบัตรเล่มน้อย ที่ใช้ประกอบงานเสวนาดังกล่าว ซึ่งแม้จะเป็นข้อความที่แสดงถึงความถือดี และไม่เห็นสยามอยู่ในสายตาเพียงไรก็ตาม แต่ก็แฝงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น สยาม ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งอังกฤษเองก็ตามที ก็ไม่มีชาติไหนที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากหรอกนะครับว่า ดินแดนส่วนต่างๆ ที่สองชาติมหาอำนาจทำการแบ่งเค้กกันนั้น ส่วนไหนเป็นของใครกันแน่?

แน่นอนว่าเหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ ยังไม่มีการปักปันเขตแดน จึงยังไม่มีใครสามารถอ้างได้เต็มปากว่า พื้นที่บริเวณไหนเป็นของตนเอง โดยมีหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายมารองรับ

ดังนั้น ดินแดนที่อังกฤษและฝรั่งเศสเห็นว่าควรจะปล่อยให้เป็นพื้นที่ “รัฐกันชน” คือผืนดินตามข้อตกลงข้อที่ (1) ในปฏิญญาฉบับนี้นั่นแหละ ที่ชาติเจ้าอาณานิคมทั้งสองเห็นว่า ควรจะเป็นดินแดนของประเทศสยาม

และหากจะมองย้อนกลับไปในทิศทางตรงขัาม ดินแดนส่วนใดก็ตามในแผนที่ประเทศไทยปัจจุบันนี้ ที่งอกเงยขึ้นมาจากแผนที่รัฐกันชน ข้อตกลงข้อที่ (1) ในปฏิญญาฉบับดังกล่าว ก็คือดินแดนที่เรา “ได้มา” จากพื้นที่บริเวณที่ชาติมหาอำนาจเหล่านี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฮุบไว้เป็นดินแดนของตัวเอง เพราะสยามก็ยังไม่เคยมีแผนที่ อันแสดงให้เห็นถึงอาณาเขตในอธิปไตยของตนเองมาก่อนด้วยเช่นกัน

 

เอาเข้าจริงแล้ว ประเทศไทยจึงไม่เคยเสียดินแดนอะไรอย่างที่มักจะเข้าใจผิดกันหรอกนะครับ

แผนที่ของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ แสดงให้เห็นถึงดินแดนที่เราต่อสู้จนได้มาจากชาติมหาอำนาจ โดยถูกต้องตามนิตินัย

ดังนั้น เราจึงควรจะภาคภูมิใจกับดินแดนที่ได้มามากกว่า ที่จะเอาแต่จงเกลียดจงชังกับชาติที่ปกครองดินแดน ซึ่งเราไม่เคยเสียไป