คุยกับทูต ‘เกออร์ก ชมิดท์’ นักการทูตจากเยอรมนี ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คุยกับทูต เกออร์ก ชมิดท์ นักการทูตจากเยอรมนี ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะต่อสุขภาพ

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) และองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของโลกนั้น ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ (Health) และสุขภาวะ (Well-being) ของมนุษย์และจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนโยบาย มาตรการหรือแนวทางด้านสาธารณสุขที่เตรียมการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

นายกเออร์ก ชมิดท์ (His Excellency Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“ประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความก้าวหน้าของระบบดิจิตอล ความขัดแย้งทางการค้าโลก การก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ประเทศไทยและเยอรมนีต้องเผชิญ ดังนั้น ความร่วมมือในระดับพหุภาคีเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติ และประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตลอดจนการร่วมมือกันในโครงการที่เป็นรูปธรรม ย่อมจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน”

มีสองประเด็นหลักจากหลายประเด็นที่ท่านทูตมีความภาคภูมิใจ อันแสดงถึงความมุ่งมั่นและความสำเร็จที่สำคัญของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย

นั่นคือ เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Sustainability and Climate Change) ตลอดจนการฝึกอบรมสายอาชีพ (Vocational Training)

เรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เยอรมนีเป็นพันธมิตรแบบทวิภาคีด้านภูมิอากาศที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย เยอรมนีแบ่งปันประสบการณ์กับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้คำแนะนำด้านนโยบายสำหรับกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยมีการดำเนินการโครงการต่างๆ ในประเทศไทยผ่าน GIZ”

GIZ มีชื่อภาษาไทยว่า “องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี” เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมนีที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน GIZ ปฏิบัติงานในนามของกระทรวงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลเยอรมนี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ เช่น สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก GIZ ดำเนินการอยู่ใน 120 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 20,000 คน

“โครงการที่ GIZ มีความร่วมมือกับทางฝ่ายไทย ได้แก่ การจัดการขยะ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะเล็กของไทย มาตรการป้องกันอุทกภัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) รวมถึงการให้คำแนะนำในการผลิตตู้เย็นที่ประหยัดพลังงาน โดยรวมแล้ว รัฐบาลเยอรมนีใช้เงินไปแล้ว 171 ล้านยูโรตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 สำหรับโครงการดังกล่าวในประเทศไทย และปรารถนาที่จะทำต่อไปในอนาคต”

“อีกตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้ในหลายภาคส่วนรวมถึงภาคการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวในปัจจุบันก่อให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาล ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า การปลูกข้าวถือเป็นรากฐานของภาคการเกษตรไทย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยโครงการใหม่ของพวกเขา คือ Thai Rice NAMA”

โดย GIZ และรัฐบาลไทยได้ร่วมกันส่งเสริมเทคนิคการทำเกษตรแบบใหม่ เช่น การปรับระดับหน้าดินด้วยเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางข้าวและตอซังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม มีข้อดีอีกมากมายสำหรับเกษตรกรด้วยเทคนิคที่ได้รับการส่งเสริมในโครงการนี้ อันรวมถึงการเพิ่มผลผลิตและรายได้ที่ดีขึ้นด้วย

เรื่องการฝึกอบรมสายอาชีพ

“เกี่ยวกับอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมสายอาชีพ โปรแกรมการศึกษาแบบ Dual-Excellence Education (GTDEE) ของเยอรมนี-ไทย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 โดยมีผู้สำเร็จการศึกษา 751 คน ที่ถือใบรับรองตามมาตรฐานของเยอรมนีในวิชาชีพทางเทคนิค 11 หลักสูตรอันเป็นโปรแกรมที่ดีมาก บริษัทที่เข้าร่วมในโปรแกรมนี้ ได้แก่ BMW, Mercedes, Bosch Automotive, Grohe และในประเทศไทย เช่น บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, ไทยเทคนิค อีเล็คตริค บจก. สมุทรปราการ”

“การมีส่วนร่วมของบริษัทเอกชนในการให้การอบรมแรงงานเพื่อการใช้งานของตนเองและตลาดแรงงานโดยทั่วไปนั้น เป็นประเพณีที่ยั่งยืนในประเทศเยอรมนี และเป็นหนึ่งในรากฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศเยอรมนี” ท่านทูตอธิบายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หน่วยงานของเยอรมนีในประเทศไทยที่ให้คำปรึกษาการจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาทวิภาคี คือ หอการค้าเยอรมัน-ไทย (GTCC) ภายใต้ชื่อโครงการ German-Thai Dual Excellence Education และเริ่มมีการเรียนการสอนตั้งแต่ช่วงเมษายน ค.ศ.2013

ทั้งนี้ การลงนามฉบับที่มีความสำคัญ อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการศึกษาทวิภาคีไทย-เยอรมันสู่ความเป็นเลิศระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทยและกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี เมื่อ ค.ศ.2013 ซึ่งกำหนดให้บริษัทเยอรมันในประเทศไทย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัทบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) บริษัทบ๊อช (Bosch) และบริษัทบีกริม (B. Grimm) ทำงานร่วมกัน

ได้สร้างแรงกระตุ้นให้แก่ระบบอาชีวศึกษาที่มีอยู่ของไทยอย่างเห็นได้ชัด

ความร่วมมือกับอาเซียน (ASEAN)

“เรามีความสนใจอย่างมากในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าและมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้คน และทุน เป็นจุดสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับเรา เราสามารถสู้กับปัญหาด้วยกัน เพราะมลพิษจะไม่หยุดที่ชายแดน และเราสนับสนุนโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเรื่องที่อาเซียนทำร่วมกัน เราเชื่อว่าจะดีกว่าหากโลกมีกฎระเบียบที่คล้ายคลึงกันสำหรับทุกคน เราเรียกว่า ระเบียบโลก (world order) และไม่ใช่เพียงหนึ่งหรือสองประเทศที่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร เราไม่ได้อยู่คนเดียวในเรื่องนี้ และเราคิดว่าประเทศในอาเซียนก็หวังอย่างนั้นเช่นกัน” ท่านทูตให้ความเห็น

เยอรมนีเริ่มดำเนินความร่วมมือกับอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 และเมื่อปี ค.ศ.2009 เยอรมนีมีปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับอาเซียนอย่างแข็งขันมาโดยตลอด โดยได้ให้เงินสนับสนุนแก่อาเซียนจำนวน 90 ล้านยูโรในสาขาหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environment and Climate Change) การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration) และการส่งเสริมความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียน (Institutional Strengthening of ASEAN)

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอาเซียน เยอรมนีจึงเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่มีสถานะเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner) ของอาเซียน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.2016

อีกทั้งยังให้การสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly – AIPA) อีกด้วย