วงค์ ตาวัน | คดีจ่านิวตรงกันข้ามกับคดีเอกยุทธ

วงค์ ตาวัน

มีแนวโน้มสูงมากที่คดีการลอบทำร้าย “จ่านิว” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย จะกลายเป็นคดีที่ปิดไม่ลง แต่ในทางกลับกัน หากคดีนี้ลงเอยเงียบหายไปกับสายลม ก็จะยิ่งยืนยันชัดว่าน่าจะมาจากอิทธิพลอำนาจฟากฝ่ายไหน

เพราะก่อนหน้านี้ เกิดเหตุทำร้ายนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยอีก 2 ราย โดยนายเอกชัย หงส์กังวาน โดนรุมชกต่อยและทุบตีไปจนถึงข่มขู่คุกคามวิธีอื่นๆ รวมทั้งเผารถด้วย รวมแล้ว 9 ครั้ง อีกรายคือ นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง โดยรุมทุบตี 2 ครั้ง

โดยทุกเหตุ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากฝ่ายรัฐ

“จนเปรียบกันว่า การที่รัฐเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย กว่าสิบครั้งดังกล่าว จนมาถึงกรณีจ่านิว เท่ากับเป็นคำรับสารภาพในตัวเองอย่างชัดเจน!”

ขณะเดียวกันกระบวนการสร้างข่าวเพื่อบิดเบนสาเหตุการทำร้ายจ่านิว ไม่ว่าจะเป็นการอ้างเรื่องแก๊งทวงหนี้นอกระบบ ซึ่งในที่สุดก็พบว่าแค่ข่าวปล่อย

ต่อมาก็มีการสร้างเรื่องว่า จ่านิวจำหน้าคนร้ายได้ ระบุว่าเป็นลูกน้องของนักการเมืองดัง ทำนองว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายเดียวกัน เพื่อป้ายสีรัฐ สุดท้ายข่าวลือนี้ก็ดันต่อไปไม่ได้

“เพราะถ้าหากเป็นแก๊งทวงหนี้นอกระบบ ป่านนี้ตำรวจรวบตัวมาแถลงไปหมดไส้หมดพุงแล้ว เพื่อยืนยันว่าฝ่ายรัฐไม่เกี่ยว หรือยิ่งถ้าเป็นลูกน้องนักการเมือง ยิ่งต้องลากคอมาเปิดเผย เพื่อตอบโต้ว่า ที่แท้สร้างสถานการณ์ใส่ร้ายรัฐ”

แต่ในความเป็นจริง คดีผ่านไปหลายวัน ดูแล้วไม่เห็น,อะไรคืบหน้า

“จึงยิ่งสอดรับกับข้อสังเกตที่ว่า ถ้าจับไม่ได้ ก็ยิ่งยืนยันชัดว่าเป็นฝีมือฟากไหน!?”

นอกจากนี้ ยังมีกองหนุนกองเชียร์รัฐบาล ที่ห่วงใยผู้มีอำนาจมากกว่าสวัสดิภาพของประชาชนคนเดินดิน ยังได้พยายามยกคดีฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบกับคดีการทำร้ายนักกิจกรรมประชาธิปไตยในยุค คสช.

โดยอ้างว่า คดีนายเอกยุทธนั่นแหละ น่าจะเป็นฝีมือฝ่ายรัฐในยุคยิ่งลักษณ์

แล้วพยายามพูดถึงคดีเอกยุทธว่าเป็นคดีที่ยังเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้

ทั้งที่คดีฆ่านายเอกยุทธนั้น มีการพิจารณาคดีครบถ้วนทุกศาลแล้ว เป็นคดีถึงที่สุดไปแล้ว โดยจำเลย 6 คน โดนลงโทษทุกคน

ทุกจำเลยรับสารภาพหมด และไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ร้องเรียนว่า ตนเองเป็นแพะ!!

คดีฆ่านายเอกยุทธ เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยนายเอกยุทธเป็นนักธุรกิจที่มีบทบาทในทางการเมือง อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายทักษิณ-เพื่อไทย จึงเกิดข้อสงสัยว่าชนวนเหตุน่าจะมาจากใบสั่งทางการเมืองหรือไม่ แต่สุดท้ายมีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ พร้อมคำรับสารภาพและนำชี้พยานหลักฐานสำคัญๆ ได้ครบถ้วน

“ลงเอยจึงเป็นคดีฆ่าเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์”

คดีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายน 2556 โดยญาติเข้าแจ้งความกับตำรวจเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ว่า นายเอกยุทธหายตัวไปอย่างลึกลับ จากนั้นตำรวจเริ่มสืบสวนจนได้เบาะแสจากกล้องวงจรปิด เห็นรถโฟล์กตู้ของนายเอกยุทธแล่นผ่านด่านที่สุราษฎร์ธานี มุ่งลงไปทางใต้

จึงระfมค้นหารถคันดังกล่าว จนกระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน ตำรวจพบรถโฟล์กตู้ของนายเอกยุทธแล่นขึ้นมาจากภาคใต้ มุ่งหน้าเข้า กทม. สามารถควบคุมไว้ได้ พร้อมนายสันติภาพหรือบอล เพ็งด้วง คนขับรถประจำตัวของนายเอกยุทธ

“ทีแรกนายบอลอ้างว่า นายเอกยุทธให้ขับรถไปแล้วขอลงกลางทาง แต่เมื่อสอบสวนและตรวจสอบสภาพในรถ สุดท้ายนายบอลจึงยอมรับสารภาพว่าได้ฆ่านายเอกยุทธไปแล้ว เพราะพยายามจะหลบหนี ส่วนปมเหตุประสงค์ต่อทรัพย์”

นายบอลสารภาพว่า ร่วมกับเพื่อนสนิทคือนายสุทธิพงศ์หรือเบิ้ม พิมพิสาร ลงมือ ใช้ปืนและมีดจี้จับตัวนายเอกยุทธไปกักขัง บังคับให้เขียนเช็กเงินสด 5 ล้านบาท รวมทั้งยึดเอาทรัพย์สินอื่น รวมทรัพย์สินทั้งหมด 6.6 ล้านบาท เมื่อพยายามจะหลบหนีจึงรัดคอจนตาย แล้วนำศพนายเอกยุทธไปฝังที่ไร่ร้างที่ จ.พัทลุง ซึ่งเป็นบ้านของนายบอล จากนั้นพาตำรวจไปยังจุดฝังศพ เมื่อขุดก็พบร่างนายเอกยุทธตามคำให้การจริง

“นอกจากนี้ ยังนำชี้จุดซ่อนของกลาง โดยเฉพาะเงินสดและทรัพย์สินส่วนหนึ่ง ซึ่งฝากพ่อและแม่เอาไว้ สามารถตรวจยึดได้ตรงคำให้การ”

คดีนี้นอกจากจับกุมนายบอลและนายเบิ้มซึ่งร่วมกันจี้จับตัวและฆ่านายเอกยุทธแล้ว ยังจับกุมนายชวลิตหรือเชา วุ่นชุม นายทิวากรหรือทิว เกื้อทอง เพื่อนอีก 2 คนที่ร่วมกันฝังศพนายเอกยุทธที่พัทลุง และจับ จ.ส.อ.อิทธิพล เพ็งด้วง และนางจิตอำไพ เพ็งด้วง พ่อและแม่ของนายบอล ที่เก็บซ่อนเงินและทรัพย์สินของนายเอกยุทธ รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 6 คน

“เป็นคดีประสงค์ต่อทรัพย์ โดยนายบอลให้การว่า ขับรถให้นายเอกยุทธประจำ จนรู้จากการพูดโทรศัพท์ว่ามีเงินสดมากมายหมุนเวียนตลอดเวลา ประกอบกับโกรธแค้นที่แฟนสาวซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทนายเอกยุทธถูกไล่ออก จึงวางแผนทั้งหมดขึ้น”

แต่ต่อมามีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลขณะนั้น เคลื่อนไหว ไม่เชื่อว่าจะเป็นแค่การชิงทรัพย์ มองว่าน่าจะเป็นใบสั่งของผู้อำนาจ โหมประเด็นที่ว่านายบอลกับนายเบิ้มไม่มีศักยภาพพอจะทำได้ เชื่อว่าต้องเป็นฝีมือนักฆ่ามีสี แล้วโยนให้นายบอลและนายเบิ้มเป็นแพะรับบาป

แต่ฝ่ายที่โหมประเด็นนี้ก็ไม่สามารถหาพยานหลักฐานใดๆ มารองรับข้อสันนิษฐานได้ ขณะที่คดีของตำรวจ มีพยานหลักฐานครบถ้วน มีคำสารภาพที่สอดรับกับข้อเท็จจริงทั้งหมด

ที่สำคัญนายบอลกับเพื่อนและพ่อแม่ตัวเองตกเป็นจำเลยทั้ง 6 คน ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่โวยวายว่าเป็นแพะแม้แต่ครั้งเดียว!

เมื่อส่งฟ้องจำเลยทั้ง 6 สู่ศาล ทั้งหมดก็รับสารภาพตรงตามชั้นพนักงานสอบสวน คดีดำเนินไปโดยไม่มีพลิก และไม่มีการร้องเรียนว่าจับผิดจับแพะ จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ 30 ธันวาคม 2557 ให้ประหารชีวิตนายบอลและนายเบิ้ม จำเลยที่ 1-2 แต่คำให้การสารภาพเป็นประโยชน์อยู่บ้างจึงลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต

จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และร่วมกันซ่อนเร้นศพฯ ให้จำคุก 13 เดือน โดยให้รวมโทษที่รอการลงอาญาไว้ในคดีเดิมอีก 6 เดือนด้วย รวมจำคุก 19 เดือน สำหรับจำเลยที่ 4 ให้จำคุก 8 เดือน ฐานร่วมกันซ่อนเร้นศพฯ สำหรับพ่อแม่ของนายบอล จำเลยที่ 5 และ 6 ผิดฐานรับของโจร ด้วยคำรับสารภาพและช่วยติดตามนำเงินของกลางมาคืนจำนวน 4.4 ล้านบาท จึงให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน

“วันที่ 30 มิถุนายน 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โดย 5 จำเลยไม่ขอสู้ชั้นฎีกา มีแค่พ่อของนายบอล จำเลยที่ 5 ซึ่งโดนคุก 1 ปีเศษ ยื่นฎีกาขอให้ลดโทษ”

วันที่ 18 ตุลาคม 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืน ไม่ลดโทษให้จำเลยที่ 5 เป็นอันจบคดี

“ถือว่าถึงที่สุด!”

นับแต่เกิดเหตุและถูกจับกุมในปี 2556 คดีดำเนินมา 4 ปี จนสิ้นสุดในปี 2560 ทั้งหมดไม่เคยกลับคำให้การ ยอมรับสารภาพ และไม่เคยร้องเรียนว่าเป็นแพะรับบาป

อีกทั้งไม่เคยมีใครได้พยานหลักฐานอื่นที่สามารถคัดง้างได้ว่า การฆ่านายเอกยุทธเป็นชนวนเหตุการเมือง

“การที่พยายามหยิบยกเรื่องนี้มาเทียบเคียงกับคดีทำร้ายจ่านิว จึงกล่าวได้ว่า ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง”

ยิ่งเวลาผ่านไป แล้วยิ่งไม่มีการคลี่คลายอะไรชัดเจนสำหรับการทำร้ายจ่านิว

จะยิ่งยืนยันว่าเป็นฝีมือใคร ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับคดีฆ่าเอกยุทธ!