จัตวา กลิ่นสุนทร : ไม่เกินคาดหมาย เพียงเริ่มต้นกลับ “แตกร้าว”?

ประสบการณ์สอนให้เรารู้มาตลอดว่า อะไรๆ ที่เริ่มต้นมารวมกันอย่างหลวมๆ บนผลประโยชน์มันไม่มีทางจะยั่งยืนยาวนาน

การรวมตัวกันก่อตั้ง “พรรคการเมือง” ชนิดที่ไม่มีนโยบายโดดเด่น ไม่มี “อุดมการณ์” และนโยบายอันชัดเจน นอกจากผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง จึงมักแตกสลายได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ตัวอย่างปรากฏให้เห็นตลอดมาสำหรับพรรคการเมืองที่ระดม “นักการเมือง” จากหลายแห่ง นักการเมืองที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย สังกัดพรรคการเมืองมาแล้วมากมาย มีประสบการณ์ในสนามเลือกตั้ง เป็นผู้แทนราษฎรมาอย่างโชกโชน

เรียกว่าลงสมัครเข้ารับเลือกตั้ง จะสามารถเบียดแทรกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้แทบทุกครั้ง

 

การก่อตั้งพรรคการเมือง เริ่มต้นจะต้องมี “นายทุน” ให้การสนับสนุน เพราะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ต้องหาบุคลากรมาปฏิบัติงาน เปิดรับสมัครสมาชิกพรรค ที่สำคัญการคัดเลือกคนมาลง “สมัครรับเลือกตั้ง”

พรรคการเมืองในประเทศไทยก่อกำเนิดและล้มลุกคลุกคลานกันตลอดมา มีพรรคการเมืองอายุยืนยาวเพียงไม่กี่พรรค แต่ส่วนใหญ่จะถูกเว้นวรรคเป็นระยะๆ เรื่อยๆ มาจากการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” ยกเลิก “รัฐธรรมนูญ” การปกครองประเทศ ทำให้พรรคการเมืองต้องหยุดดำเนินงานทางการเมือง

การก่อตั้งพรรคการเมืองของฝ่าย “ทหาร” ซึ่งเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมีมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี พ.ศ.2475

เป็นการสร้างพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป

ส่วนมากจะใช้วิธีกวาดต้อนอดีตผู้แทนเข้ามาอยู่ในสังกัด

แต่มักจะมีอายุไม่ยืนยาว หรือบางทีเกิดความวุ่นวายสับสนไม่สามารถบริหารจัดการ ควบคุม สั่งการภายในพรรคได้

ต้อง “ปฏิวัติ” รัฐบาลตัวเองอย่างเช่นรัฐบาล “จอมพลถนอม กิตติขจร” ในปี พ.ศ.2514

 

พ.ศ.2534 “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ที่ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาลของ “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 17) แต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองเองทันที กลับเอา “นายอานันท์ ปันยารชุน” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 18) ทั้งๆ ที่รู้กันโดยทั่วไปว่า “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีสืบอำนาจต่อไปโดยวางแผนให้เข้าสู่ตำแหน่งโดยมีพรรคการเมืองสนับสนุน จะได้ดูว่าเป็นประชาธิปไตย

“พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล” (บิ๊กเต้) ขณะเป็น “ผู้บัญชาการทหารอากาศ” นับว่าเป็นนายทหารที่มากบารมี เป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการวางแผน “ยึดอำนาจ” รัฐบาล (น้าชาติ) “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ซึ่งกำลังพา “พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก” (เสียชีวิต) เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ และเป็นคนริเริ่มก่อตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” อีกด้วย

พรรค “สามัคคีธรรม” ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (บิ๊กสุ) ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถรวมเอาบรรดาสมาชิกจากพรรคการเมืองต่างๆ มาเข้าสังกัด และส่งสมัครรับเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2535 ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ผู้แทนฯ เข้าสภาจำนวน 79 คน

จึงเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคชาติไทย+กิจสังคม+ประชากรไทย+ราษฎร มีพรรคประชาธิปัตย์+ความหวังใหม่+พลังธรรม+ปวงชนชาวไทย และมวลชน เป็นฝ่ายค้าน

 

รัฐบาลผสมของ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” (บิ๊กสุ) ยังไม่ทันได้แสดงฝีมือบริหารราชการแผ่นดินเกิดการต่อต้านจากพรรค “ความหวังใหม่” โดย “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋ว)” และพรรค “พลังธรรม” ของ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” เป็น 2 หัวหอก เกิด “ม็อบมือถือ” ออกมาชุมนุมเต็มถนนราชดำเนิน และ ฯลฯ ทหารได้เคลื่อนกำลังออกมาปราบปรามจึงเกิดการปะทะกันบาดเจ็บล้มตายสูญเสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน เรียกกันว่า เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” (2535)

การจัดตั้งพรรค “สามัคคีธรรม” เป็นการรวมตัวกันหลวมๆ เกาะเกี่ยวด้วยผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวโดยแท้จริง จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งนายทุนของพรรคไม่ใช่เป็นใครที่ไหนอื่นนอกจากเศรษฐีนักธุรกิจระดับแถวหน้าของประเทศนี้ ซึ่งเชื่อกันว่ายังให้การสนับสนุนพรรคการเมืองเฉพาะกิจอย่างพรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) อยู่ทุกวันนี้

พรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน นอกจากนั้น อาจเกิดจากการกดดันด้วยอีกทางหนึ่ง แต่มิใช่ว่านักการเมืองผู้โชกโชนในสนามการเมืองมากประสบการณ์จะไม่รู้ไม่เข้าใจ เขาอ่านเกมการเมืองออก โดยคิดว่าช่วงเวลานั้นน้ำกำลังแรงไหลเชี่ยวไม่ควรเอาเรือเข้าไปขวาง จึงรอเวลาให้บ้านเมืองคืนกลับสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย”

ซึ่งในที่สุดพรรค “สามัคคีธรรม” มาเร็วไปเร็วเกินกว่าความคาดหมาย

 

“พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ไม่น่าแตกต่างกันมากกับพรรคการเมืองเฉพาะกิจที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไปอีก เป็นการคิดวางแผนแบบเดิมๆ ไม่มีนโยบายอะไรแหลมคมเด่นชัดแปลกใหม่นำเอามาพัฒนาประเทศ คิดเพียงว่าการก่อตั้งพรรคการเมืองจะต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง อดีตผู้แทนฯ เก่าๆ เพื่อจะได้รับเลือกตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ

การตกลงประสานมือประสานความคิดจึงอยู่บนผลประโยชน์ทั้งทางด้านตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ กระทั่งผลประโยชน์เรื่องทรัพย์สินเงินทอง ไม่เว้นกระทั่งการช่วยเหลือโอบอุ้มในเรื่องอื่นๆ

ฉะนั้น จึงมีการช่วยเหลือต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เมื่อเห็นว่านักการเมืองกลุ่มสำคัญๆ พรรคการเมืองเก่าๆ เดิมๆ พรรคอะไร กลุ่มก๊วนต่างๆ อดีตผู้แทนฯ เสียงดี กระทั่งผู้ทรงอิทธิพลบารมีมากผู้ประกอบอาชีพสีเทาๆ ดำๆ อะไรก็ตาม ถ้าตกลงกันได้ก็กวาดต้อนเข้ามา ไม่มีการกลั่นกรอง ต้องการจำนวนมากกว่าคุณภาพ เป้าหมายเพื่อจะได้ชนะการเลือกตั้งจะได้จัดตั้งรัฐบาล ตามที่ประชาชนทั่วไปได้รู้เห็นกันแล้วเป็นอย่างดี

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีเงินทุนสนับสนุนก้อนใหญ่ทำทุกอย่างในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2562) แต่ผลงานไม่เข้าเป้า ไม่ชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาดขาวสะอาด จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายใช้อภินิหารต่างๆ ดำเนินการจนได้เสียงจากพรรคเล็กๆ จิ๋วๆ มาเพิ่ม

และสามารถดึงพรรคการเมืองอื่นๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล

 

การก่อตั้งพรรคแบบไร้อุดมการณ์มาจากหลายแห่งแบบที่เรียกว่าร้อยพ่อพันแม่ เพื่อรวมกันด้วยผลประโยชน์ ขณะที่ผู้บริหารจัดการพรรคตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ล้วนอยู่ในระดับ “กุมาร” ที่ผู้ใหญ่ส่งมาดำเนินงานประสบการณ์น้อย ยังสะสมบารมีไม่พอถึงขนาดเที่ยวไปตกปากรับคำกับใคร เรื่องการแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งต่างๆ ปัญหาจึงเกิดขึ้น

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องรวบรวมพรรคการเมืองจำนวนมากถึง 19 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” มีจำนวนน้อยไม่พอแจกจ่ายหลายกลุ่มในพรรค ลำพังโควต้าของ “นายกรัฐมนตรี” กวาดเอาไปตั้งแต่รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ, ฝ่ายความมั่นคง, ฝ่ายกฎหมาย, รัฐมนตรีกลาโหม, รัฐมนตรีมหาดไทย, รัฐมนตรีต่างประเทศ

กลุ่ม “สามมิตร” สามารถกุมเสียงผู้แทนฯ ไว้ได้จำนวนพอสมควร ซึ่งรัฐบาลขาดไม่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยมือเหล่านั้นในสภา ทั้งกลุ่มสามมิตรและ 4 กุมาร ล้วนมีสายสัมพันธ์สนิทแนบกันมานานกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้มีบทบาทสูงยิ่ง

และจะต้องนั่งเก้าอี้ตัวเดิมเป็นมือเศรษฐกิจ ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต่อไป

 

บ้านเมืองจะต้องมีรัฐบาลเข้ามาบริหาร แม้จะใช้เวลาจัดตั้งนานอย่างไม่เคยมีมาก่อน การต่อรองตำแหน่งลงตัวแบบไม่แตกหัก รอยร้าวระหว่างกลุ่มได้รับการประสาน แต่ไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ทั้งที่คาดหมายกันมาแต่แรกแล้วว่าจะต้องเกิดการแตกร้าวระหว่างกลุ่มภายในพรรค แต่ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดยังไม่ได้ตั้งรัฐบาล หลายฝ่าย รวมทั้ง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี จะเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี จะมีความเด็ดขาดและเอาอยู่ แต่ไม่มีใครรู้อนาคต?

“ทหาร” ที่เข้ามาเป็นนักการเมือง ทั้งที่เคยดูถูกเหยียดหยามนักการเมือง มั่นใจว่าตัวเองจะสั่งการได้ นักการเมืองระดับปราชญ์เคยกล่าวกันมาจนติดปากว่า “นักการเมือง” ไม่ใช่ “ทหารเกณฑ์” จะมาสั่งซ้ายหันขวาหันอย่างทหาร มันไม่ได้ง่ายๆ

ไม่ทันได้บริหารบ้านเมือง ทำท่ามีอาการคลอนแคลน ไม่ค่อยมั่นใจว่า “รัฐบาล” (ผสม) อายุจะยืนยาว