ต่างประเทศ : ครึ่งศตวรรษ มนุษย์ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์

วันที่ 21 กรกฎาคมนี้โลกกำลังจะหมุนเข้าสู่ปีที่ 50 ที่ “นีล เอ. อาร์มสตรอง” สร้างประวัติศาสตร์ประทับรอยเท้าลงบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก วันที่นับเป็นการผลักกำแพงขอบเขตความรู้เกี่ยวกับอวกาศให้กว้างไกลไปอีกขั้นหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีคนจำนวนมากถึง 700 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลกเฝ้าชมวินาทีประวัติศาสตร์ที่บันไดยาน “อพอลโล่ 11” พาดลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์บริเวณ “ทะเลแห่งความเงียบสงบ” (Sea of Tranquility)

ก่อนที่นักบินอวกาศอย่าง “อาร์มสตรอง” และ “บัซ อัลดริน” จะเริ่มต้นปฏิบัติการที่เป็น “ก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่” ของมนุษยชาติ

 

“ก้าวแรกบนดวงจันทร์” ของ “อาร์มสตรอง” ซึ่งนับเป็นจุดไคลแมกซ์ของการเชื่อมสัญญาณยาวนาน 31 ชั่วโมง ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในยุคทศวรรษที่ 60 ช่วงเวลาในการยิงสัญญาณถ่ายทอดสดระหว่างองค์การบริหารการบินและอวกาศหรือนาซ่าไปยังสถานีโทรทัศน์หลักๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

ก้าวแรกนั้น ถูกจับตามองจากคนทั่วโลกนับตั้งแต่นาทีที่ “ยานอพอลโล่ ลูนาร์ โมดูล” ลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1969 เวลา 20.17 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด (ยูทีซี) ก่อนที่ในเวลา 02.56 น. ยูทีซี หรือเวลา 09.56 น. ตามเวลาประเทศไทยของวันที่ 21 กรกฎาคม เท้าของนีล อาร์มสตรอง จะสัมผัสลงบนพื้นผิวดาวบริวารดวงเดียวของโลก

สองนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ รวมไปถึง “ไมเคิล คอลลินส์” นักบินอวกาศในยานบัญชาการที่โคจรรอบดวงจันทร์ นับเป็นตัวแทนความสำเร็จของกลุ่มคนเบื้องหลังภารกิจบนดวงจันทร์ครั้งนี้กว่า 400,000 คน

ชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกหยุดลงชั่วขณะโดยมีรายงานผ่านสำนักข่าวเอเอฟพีในเวลานั้นว่า สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่นถึงขั้นทรงหยุดทำพิธีทางศาสนาลงชั่วคราวเพื่อชมการถ่ายทอดสดจากสหรัฐอเมริกา

สื่อทุกแขนงรายงานทุกรายละเอียดนับตั้งแต่การเตรียมความพร้อมในนาทีสุดท้าย การยิงจรวด “แซตเทิร์น วี” จากศูนย์อวกาศเคนเนดี้ รัฐฟลอริดา ในวันที่ 16 กรกฎาคม ขึ้นสู่อวกาศ การเดินบนดวงจันทร์ เรื่อยไปจนถึงการกลับสู่โลกของ 3 นักบินอวกาศในวันที่ 24 กรกฎาคม กินเวลายาวนานถึง 8 วัน ขณะที่มีนักข่าวจำนวนมากถึง 3,500 คนเดินทางไปทำข่าวที่ศูนย์ควบคุมภารกิจในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส

การประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ของนักบินอวกาศสหรัฐได้สำเร็จ นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่สำหรับสหรัฐอเมริกาที่มีเหนือสหภาพโซเวียต สองประเทศที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในยุคสงครามเย็น

 

สหรัฐอเมริกาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะผลักดันโครงการอวกาศให้มีเหนือสหภาพโซเวียต ที่นำหน้าไปก่อนด้วยโครงการ “สปุตนิก” ที่สามารถส่งดาวเทียมโคจรในอวกาศได้เป็นดวงแรก ตามด้วยส่ง “ยูริ กาการิน” เป็นมนุษย์คนแรกที่เดินทางสู่อวกาศ ส่งยานโคจรรอบดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก ก่อนจะส่ง “ลูนาร์ 2” ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

แม้การแข่งขันจะเป็นไปอย่างดุเดือด ทว่า ความสำเร็จดังกล่าวถูกมองเป็นความสำเร็จร่วมกันของมนุษยชาติ สะท้อนจากสิ่งของที่ทั้งบัซ อัลดริน และนีล อาร์มสตรอง เลือกที่จะนำติดตัวขึ้นไปทิ้งไว้บนดวงจันทร์

นอกเหนือไปจากแผ่นป้ายจากยาน “อพอลโล 1” ที่ถูกเลือกเพื่อเป็นเกียรติให้กับสามนักบินอวกาศที่สละชีวิตในอุบัติเหตุระหว่างการทดสอบยานอวกาศที่ใช้ในภารกิจสู่ดวงจันทร์ไปก่อนหน้าแล้ว

อัลดรินและอาร์มสตรองยังเลือกที่จะนำเหรียญโซเวียต 2 เหรียญติดตัวไปด้วยเพื่อรำลึกถึงนักบินอวกาศ “โซเวียต” 2 คนอย่าง “วลาดิมีร์ โคมารอฟ” ผู้เสียชีวิตในยาน “โซยูซ 1” ในปี 1967 รวมไปถึง “ยูริ กาการิน” มนุษย์คนแรกที่โคจรรอบโลก ที่เสียชีวิตระหว่างการทดสอบเครื่องบินรบมิก-15 ในปี 1968

 

อัลดรินและอาร์มสตรองมองว่าความสำเร็จดังกล่าวควรเป็นความสำเร็จร่วมกันของมนุษยชาติ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้นักบินอวกาศทั้งสองเลือกที่จะนำกิ่งมะกอกทองคำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “สันติภาพ” ติดตัวไปด้วย พร้อมกับ “แผ่นดิสก์ ซิลิคอน” เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร

แผ่นดิสก์สลักตัวอักษรขนาดเล็กมองเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นข้อความของประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงข้อความจากผู้นำจาก 73 ประเทศทั่วโลกทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง แสดงออกถึงความภาคภูมิใจและการเฉลิมฉลองความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่

ข้อความจากผู้นำทั่วโลกบางส่วนเขียนด้วยลายมือ บางส่วนเขียนเป็นภาษาท้องถิ่น ถูกส่งมายังนาซ่า ยกย่องความกล้าหาญของมนุษย์ที่กล้าก้าวไปยังดินแดนที่ไม่เคยมีมนุษย์เหยียบย่างถึงมาก่อน

กว่า 70 ประเทศเรียงตามตัวอักษรตั้งแต่อัฟกานิสถาน ถึงแซมเบีย ในจำนวนนี้รวมไปถึง “ประเทศไทย” มีรูปแบบเนื้อหาที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด นั่นก็คือ “สันติภาพ”

ข้อความจากผู้นำไทยในแผ่นซิลิคอนขนาดจิ๋วระบุเอาไว้ว่า “ประชาชนไทยปีติยินดีและสนับสนุนความสำเร็จของมนุษย์โลกในครั้งนี้ ในฐานะอีกก้าวหนึ่งไปสู่สันติภาพทั่วโลก”

 

เจมส์ ฮันเซน ผู้เขียนชีวประวัตินีล อาร์มสตรอง ระบุว่า มีข้อความจากผู้นำประเทศที่อาร์มสตรองชื่นชอบอยู่ 3 ข้อความ หนึ่งคือข้อความจากประธานาธิบดีคอสตาริกา ที่หวังว่าภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งนี้ “จะให้ประโยชน์ใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติให้ดีขึ้น”

ขณะที่ข้อความที่สองของกษัตริย์แห่งเบลเยียม ทรงระบุว่า พระองค์ทรง “ตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งถึงความรับผิดชอบและความเคารพของเราที่มีต่อภารกิจที่อาจเปิดมุมมองของพวกเราที่มีต่ออวกาศ แต่สำหรับผู้คนที่เหลืออยู่บนโลกที่ยังคงต้องการส่วนเติมเต็มนั้น ภารกิจนี้ก็อาจนำความเป็นธรรมและความสุขมาสู่มนุษยชาติได้มากขึ้น”

ด้านประธานาธิบดีไอวอรี่ โคสต์ ก็ส่งข้อความขอให้แมสเซ็นเจอร์คนแรกไปยังดวงจันทร์ให้ทำบางสิ่ง

“มองมายังโลกและตะโกนดังๆ ว่าปัญหาทั้งหลายบนโลกที่ทำร้ายมนุษย์มันไร้ความหมายเพียงใดเมื่อมองจากบนนั้น” เฟลิกซ์ ฮูเฟต โบนี ประธานาธิบดีไอวอรี่ โคสต์ ระบุ

ผ่านไป 50 ปี แน่นอนว่า “สันติภาพ” บนโลกยังคงไม่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องขอบคุณก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ก้าวนั้นที่นำมนุษยชาติก้าวหน้ามาไกลอย่างในทุกวันนี้