ในประเทศ : จากฟอร์ม ครม. ถึงนโยบาย รบ. ปัจจัยร้อนชี้วัดรัฐนาวา “บิ๊กตู่ 2”

คณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ประชุมร่ำลานัดสุดท้าย ขอบคุณ ครม.ที่เหลืออยู่เพียง 15 คนไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการนับถอยหลังอย่างเป็นทางการของการสิ้นสุดรัฐบาลในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บริหารประเทศมากว่า 5 ปีเต็ม

ไทม์ไลน์ต่อไปหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แต่หน้าเดิม ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรค

นั่นคือ การรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.บิ๊กตู่ 2 ทั้ง 35 คนอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จาก 6 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในห้วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

 

เมื่อผ่านพ้นขั้นตอนการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.บิ๊กตู่ 2 ไปแล้ว ภายใน 15 วัน ครม.จะต้องแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ถึงจะเริ่มนับหนึ่งบริหารราชการแผ่นดิน เดินหน้านโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนในช่วงการเลือกตั้งได้อย่างเป็นทางการ

ที่น่าสนใจคือ นโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลผสมทั้ง 19 พรรค ภายใต้การนำของพรรค พปชร. จะเลือกใช้นโยบายของพรรคใดเร่งโชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงให้กับรัฐบาลผสม

เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกพรรคที่มาร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.ก็หวังจะโชว์ผลงาน ปล่อยของผ่านนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน หากนโยบายของพรรคร่วมถูกเก็บเข้าลิ้นชัก แล้วปล่อยให้พรรค พปชร.เป็น “วันแมนโชว์” ปล่อยนโยบายเอาใจประชาชนเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีหวังพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ คงจะไม่ได้ ส.ส.กลับมาเป็นกอบเป็นกำ เลวร้ายสุดคงไม่พ้นต้องสูญพันธุ์ทางการเมือง

 

ที่น่าจับตาคือ นโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภานั้น ทางพรรคแกนนำอย่างพรรค พปชร.จะจัดลำดับนำนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลมาผสมผสาน ให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้เพียงใด

แม้ “บิ๊กตู่” จะให้กรอบการจัดทำนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาไว้ให้พรรคร่วมรัฐบาลได้พอวางใจไว้บ้างว่า “ข้อสำคัญจะต้องพิจารณาร่วมกันในเรื่องนโยบายของรัฐบาล อย่างวันนี้ได้มีการหารือในระดับของพรรคการเมืองต่างๆ ไปบ้างแล้ว ว่าจะมีความสอดคล้องกันอย่างไร ไม่ใช่จะเขียนแค่ของตัวเองอย่างเดียว ทำไม่ได้ จึงต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมืองทั้งหมด

แต่ผมก็บอกว่าให้เอานโยบายของพรรคฝ่ายค้านมาดูด้วย ว่ามีเรื่องใดที่ตรงกันบ้าง บางอย่างก็ทำไปบ้างแล้ว แต่อาจจะได้ไม่มากเท่าที่ต้องการ หรือที่หาเสียงกันมา ก็เห็นใจอยู่ แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณ เพราะเรามีหลายพรรคการเมืองที่รวมกัน เชื่อมั่นว่าทุกพรรคการเมืองรักชาติและประชาชน”

แม้จะแปรเป็นนัยยะที่ “บิ๊กตู่” ส่งถึงพรรคร่วมรัฐบาลในการจัดทำนโยบายว่า นโยบายที่แต่ละพรรคเสนอมายังพรรค พปชร.เพื่อจัดทำเป็นนโยบายรวมของรัฐบาลนั้น คงจะไม่ได้ทั้งหมดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และต้องพิจารณาให้อยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณของแผ่นดินด้วย

 

ต้องจับตาดูว่านโยบายฉบับเสร็จสมบูรณ์ที่จะแถลงต่อรัฐสภา ทางพรรคแกนนำรัฐบาลจะจัดวางนโยบายชิ้นโบว์แดง โดยเฉพาะนโยบายกัญชาของพรรค ภท. และนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรของพรรค ปชป. อยู่ในลำดับความสำคัญไว้แค่ไหน

จะกลายมาเป็นประเด็นร้อนให้พรรคร่วมต้องมาเปิดศึกกันเองกับพรรค พปชร.ในการจัดทำนโยบาย ซ้ำรอยกับการเปิดศึกภายในกันเองระหว่างแกนนำกลุ่มสามมิตรกับแกนนำในพรรค พปชร.ในการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีของ ครม.บิ๊กตู่ 2 หรือไม่

ยิ่ง “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ออกมาส่งเสียงเรื่องการจัดทำนโยบายไปยังแกนนำพรรค พปชร.ไว้แล้วว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และต้องผลักดันให้มีกฎหมายที่ใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างเสรี เป็นพืชวิสาหกิจชุมชน ทุกอย่างมีขั้นตอนที่ต้องทำ

ยืนยันว่าต้องได้เห็นปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้นอย่างแน่นอน

เพราะพรรค ภท.รู้มาตลอดว่านโยบายนี้ทำให้พรรคได้รับโอกาสเข้ามาในสภาครั้งนี้ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่มีพรรค ภท.สมัยหน้า เหมือนกับที่พรรค ปชป.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนพรรค ภท.ก็ต้องทำนโยบายกัญชาเสรีให้ได้ก่อน

ยิ่งพอได้ฟังนายกฯ พูดถึงเรื่องกัญชาในเชิงสนับสนุน และขอให้ใช้อย่างระมัดระวัง รวมทั้งควรพิสูจน์ให้เห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้จริงๆ ฟังแล้วรู้สึกดีใจว่าผู้นำรัฐบาลได้แสดงวุฒิภาวะ ให้การสนับสนุน และให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาล แบบนี้คนทำงานก็มีกำลังใจ”

 

ขณะที่แกนนำพรรค ปชป.ก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันมาตลอดว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่พรรค ปชป.ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลพรรค พปชร. หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการสนับสนุน พรรค ปชป.ก็พร้อมจะทบทวนมติการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร. เพราะถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลและไม่เป็นไปตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องใหญ่ หากพรรคใดเป็นหัวหอกอาสาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองย่อมถือเป็นพระเอก ได้ซีนของผู้นำเรียกเรตติ้งให้กับพรรคนั้นๆ

แม้ประเด็นและเนื้อหาที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สุดท้ายแล้วจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ากระบวนการและขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นั้น ต้องได้รับเสียงเห็นชอบทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ ส.ว.

หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วย โอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้

 

ที่สุดแล้วก็มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม.บิ๊กตู่ 2 ทั้ง 35 คนมาแล้วเมื่อค่ำวันที่ 10 กรกฎาคม

รายชื่อรัฐมนตรี ส่วนใหญ่เป็นไปตามคาดหมาย (ดูล้อมกรอบ)

ในส่วนพรรค พปชร.ที่ชื่อของ “ผู้กองนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรค พปชร. ในฐานะกลุ่มแกนนำพรรค พปชร.ภาคเหนือ ที่มีข่าวว่าจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หายไป

ปรากฏชื่อหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล พรรครวมพลังประชาชาติไทยมาแทน

แต่ ร.อ.ธรรมนัสได้นั่ง รมช.เกษตรฯ คงช่วยลดแรงกระเพื่อมภายในพรรค พปชร.ลงตามสมควร

ส่วนนโยบายโดยรวมของรัฐบาลจะถูกใจพรรคร่วมรัฐบาล ให้ร่วมใจนำพารัฐนาวาของ “ครม.บิ๊กตู่ 2” ไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

 

คณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2/1

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

ดังนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายวิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

นายอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประภัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายวราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายนิพนธ์ บุญญามณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นายสาธิต ปิตุเตชะ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม