วงค์ ตาวัน : ปีแห่งสันติ ไร้ขัดแย้ง

วงค์ ตาวัน

หากไม่มีเหตุผลกลใดให้ต้องเลื่อนโรดแม็ปออกไป โดยหากทุกอย่างยังเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของแกนนำ คสช. เท่ากับว่า ปี 2560 นี้ จะเป็นปีที่เข้าใกล้การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยปกติ จะต้องมีความชัดเจนเรื่องวันเวลาในการเลือกตั้ง ซึ่งเดิมกำหนดเอาไว้ว่าจะอยู่ประมาณปลายปีนี้

หรือกล่าวได้ว่า เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล คสช. แล้ว

ดังที่กล่าวกันว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ปี 2560 บรรยากาศบ้านเมืองจะเริ่มคลี่คลายไปอีกแบบ ผู้คนจะเริ่มรู้สึกคึกคัก เพราะกำลังจะกลับไปสู่สภาพการเมืองอันเป็นปกติ

“พร้อมๆ กัน เสียงถามไถ่ของผู้คน ถึงวันที่ชัดเจนสำหรับการเปิดการเลือกตั้ง จะเริ่มดังระงมไปทั่ว”

อีกด้านหนึ่ง ในช่วงสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย เริ่มมีการเรียกร้อง ให้สังคมไทยกลับมาสู่ความรักความสามัคคี มีสันติ ไร้ความขัดแย้ง

ด้วยหวังว่า เมื่อจะกลับคืนสู่การเมืองปกติดังเดิม จะต้องไม่วนกลับไปหาความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงอีก

เมื่อมีการเลือกตั้ง มีการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างพรรคการเมือง มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ จะทำอย่างไร ไม่ให้เกิดสภาพ แบ่งข้างตีกันอีก

“นี่เป็นสิ่งที่คนไทยทั้งหมดล้วนปรารถนา ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายรัฐบาล คสช. เท่านั้น”

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ คสช. เอง ประเด็นแก้ไขความขัดแย้งแตกแยก ถือเป็นเหตุผลสำคัญ เป็นเป้าหมายใหญ่ ในการเข้าควบคุมการปกครองบ้านเมือง

นับจาก 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เกือบจะครบ 3 ปีแล้ว รวมทั้งเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของอำนาจรัฐบาล คสช. แล้ว

“น่าสนใจว่า บรรลุเป้าหมายนี้มากน้อยเพียงใด!?”

แน่นอนว่า นับจากวันที่ คสช. เข้ามาปกครอง บ้านเมืองก็เข้าสู่ความสงบราบคาบทันที สภาพที่กลุ่มมวลชนแต่ละขั้ว แต่ละสี ออกมาเคลื่อนไหว ปะทะกัน ไม่ปรากฏเลยนับจากวันนั้น

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ความสงบที่เกิดขึ้นมาจากอะไร

เบื้องต้น มาจากการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. กดทุกฝ่ายจนอยู่มือ ควบคุมจนไม่สามารถขยับอะไรได้ แถมแกนนำบางสียังถูกคุมตัวเอาไว้อีก

แต่ถ้า กดเอาไว้เฉยๆ แล้วไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์อย่างถึงต้นตอ ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุความขัดแย้งแตกแยกต่างๆ

น่าคิดว่า สถานการณ์ที่สงบราบเรียบ เป็นความสงบที่เกิดจากการถูกอำนาจกดข่มเอาไว้เท่านั้นเองหรือไม่

ถ้าใช่ ก็อาจปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้!

 

ย้อนกลับไปยังปี 2557 หลังจาก คสช. เข้าควบคุมการบริหารประเทศ ได้มีการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ บางฉบับพูดถึงต้นตอปัญหาบ้านเมืองอย่างน่าสนใจและดูจะมีความหวังว่าจะได้รับการแก้ไข อันจะเป็นการแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมรัฐ ซึ่งได้พูดถึงปัญหาในอดีตที่ผ่านมาว่า การทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมในระยะที่ผ่านมา อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนว่า มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

ดังนั้น เพื่อไม่เป็นการนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม จึงต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ

“อ่านจบก็ร้องเฮกันเลยว่า นี่ไงปม 2 มาตรฐานที่ผ่านมา ซึ่ง คสช. มองเห็นและมีนโยบายเป็นประกาศออกมาอย่างชัดเจน”

แต่เอาเข้าจริงๆ นับจากประกาศเอาไว้ในปี 2557 มาจนถึงวันนี้ มีความชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ ว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ได้ปฏิบัติตามนโยบายของ คสช. ประการนี้

เป็นเรื่องที่ทุกคนหาคำตอบได้ไม่ยาก

ที่สำคัญ คสช. เอง ซึ่งเข้ามาควบคุมบ้านเมือง ประกาศตัวจะเป็นผู้ยุติความขัดแย้ง

สุดท้าย คสช. เอง ได้เล่นผิดบท เสมือนโดดลงไปขัดแย้งเป็นคู่กรณีกับบางฝ่ายเสียเองหรือไม่

“เป็นประเด็นที่หาคำตอบได้ไม่ยากเช่นกัน!?”

ว่ากันว่า ในช่วงเริ่มต้นของการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล คสช. นั้น มีแนวคิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่น่าสนใจหลายประการ สะท้อนออกมาด้วยประกาศคำสั่งที่เหมือนจะมีแนวโน้มเข้าใจปัญหาอย่างดี

แต่ต่อมา เกิดความคิดในการมองปัญหาที่แตกต่าง ระหว่างซีกพิราบและซีกเหยี่ยวในหมู่แกนนำ คสช.

ทิศทางจึงเริ่มเป๋ไปเป๋มา

จนในหลายเรื่อง คล้ายเอนเอียงไปทางขั้วหนึ่ง ทำให้เกิดการปะทะกับอีกขั้วหนึ่ง

การดำรงสถานะ ผู้เข้ามาแก้ปัญหา ไม่อยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่ง ก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป

 

มีนักคิดนักวิชาการหลายรายเสนอมุมมองเอาไว้ว่า ในทุกสังคมโลก ผู้คนย่อมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน บ้างก็เชื่อมั่นในแนวทางเผด็จการ บ้างก็ยืนยันว่าต้องประชาธิปไตย มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยมบ้าง สังคมนิยมบ้าง อำนาจนิยมบ้าง

ไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดเหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ที่ในสังคมหนึ่ง ทุกคนจะมีอุดมการณ์เดียวกันทั้งหมด

“ทั้งหมดนี้ มีการคิดค้นหาทางออกมาอย่างยาวนานแล้ว และมีข้อสรุปว่า ประชาธิปไตยเป็นระบบที่จัดสรรแบ่งปันอำนาจทางการเมืองได้อย่างสันติที่สุด!”

ประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ตัดสินใจในวันเดินเข้าคูหากาบัตร

ส่วนจะเลือกใครพรรคไหน ก็แล้วแต่สภาพความเป็นจริงในขณะนั้น แล้วแต่ปัญหาที่ประชาชนเผชิญในช่วงนั้น

ดังนั้น แต่ละพรรค แต่ละแนวทาง แต่ละอุดมการณ์ ก็อาจจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งได้ ถ้าหากแนวทางนโยบายสอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการในระยะนั้น

อีกทั้งระบบเลือกตั้ง ยังมีวาระ สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันชนะได้ หากแพ้ครั้งนี้ อีกไม่เกิน 4 ปีมาตัดสินกันใหม่

มีช่วงเวลาชัดเจน มีการต่อสู้อย่างสันติชัดเจน มีโอกาสเท่ากันชัดเจน

“ประชาธิปไตยจึงเป็นที่ยอมรับของทั่วทั้งโลก ว่าเป็นระบบ ที่จัดสรรอำนาจได้อย่างเป็นธรรมที่สุด เปิดโอกาสให้ทุกขั้วทุกอุดมการณ์ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด และมีช่วงเวลาวาระชัดเจนที่สุด”

แทนที่สังคมไทยเราจะไปเชื่อหรือไปหวังกับอำนาจพิเศษ ซึ่งอันที่จริงคือเผด็จการ และไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงและยั่งยืน

“เพราะการใช้อำนาจ ก็แค่กดข่มปัญหา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถึงต้นตอ!!”

หากทุกฝ่ายหันมายอมรับประชาธิปไตย อันเป็นระบบที่จัดสรรอำนาจได้ลงตัวเป็นธรรม สังคมไทยก็น่าจะมีทางออกที่เหมาะสมที่สุด

จะขั้วไหนอุดมการณ์ไหน เป็นระบบที่เท่าเทียมกันที่สุด ตัดสินโดยกระแสประชาชนอย่างแท้จริง

แทนที่เราจะไปเชื่ออำนาจพิเศษ เชื่อในอัศวินม้าขาว

แต่เปลี่ยนมาเชื่อในประชาธิปไตย การเลือกตั้ง ซึ่งก็คือเชื่อประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินชะตากรรมประเทศ อย่างเที่ยงธรรม และมีวาระให้รอคอยได้ไม่ยาวนานไป

นี่แหละจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ความสามัคคี ลดขัดแย้ง และสันติ ได้ดีที่สุด!