ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ดักตบพรรณิการ์ : ดราม่าสะท้อนการเมืองวิปริต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

อนาคตใหม่เป็นพรรคที่มีคนรักมากพอๆ กับที่มีคนชัง และถึงแม้จะไม่มีใครประกาศตัวชัดๆ ว่าต่อต้านอนาคตใหม่อย่างคุณเอ๋-ปารีณา ไกรคุปต์ คนส่วนใหญ่ก็รู้ว่าผู้มีอำนาจหลายกลุ่มเกลียดขี้หน้าอนาคตใหม่รุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจที่ปากไวจนปั่นกระแสว่าพรรคนี้หนักแผ่นดิน หรือผู้มีอำนาจที่ไม่เปิดเผยตัวก็ตาม

นับตั้งแต่พรรคลงเลือกตั้งจนปัจจุบัน ผู้มีอำนาจที่รังเกียจอนาคตใหม่ได้แก่นายกฯ และผู้บัญชาการทหารที่แสดงออกเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว

ส่วนผู้มีอำนาจที่ไม่เปิดเผยได้แก่ “เครือข่าย” ที่สนับสนุนรัฐประหาร 2557 ยกเว้นพรรคคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งได้ ส.ส.น้อยจนรู้ตัวว่าไม่อยู่ในฐานะจะยื่นปากไปแขวะอนาคตใหม่ได้ต่อไป

ด้วยความตระหนักในจำนวนและอิทธิพลอันกว้างขวางของฝ่ายต้านอนาคตใหม่ในสังคมไทย คนเป็นอันมากจึงเห็นตรงกันว่าธนาธรไม่รอดคดีที่ถูกกล่าวหาว่า “ถือหุ้น” นิตยสารชีวิตไฮโซแน่ๆ

แต่ปัญหาที่ยังไม่มีใครรู้ก็คืออนาคตใหม่จะถูกยุบไปด้วยหรือไม่

และธนาธรจะโดนดำเนินคดีอาญาหรือเปล่าเท่านั้นเอง

สําหรับคนในวงการการเมืองด้วยกัน ประเด็นอนาคตใหม่มีอยู่แค่เรื่อง ส.ส.พรรคนี้จะมีสถานะอย่างไรต่อไป

เพราะถ้าหัวหน้าพรรคถูกตัดสินว่าผิดจนถึงขั้นที่พรรคถูกยุบ ส.ส.อนาคตใหม่ย่อมเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ย้ายไปพรรคไหนก็ทำให้พรรคนั้นเติบได้ทันที หากสมาชิกภาพ ส.ส.ไม่โมฆะไปเพราะธนาธร

สี่เดือนหลังชัยชนะที่เกินคาดในการเลือกตั้ง 2562 คือสี่เดือนที่การโจมตีอนาคตใหม่ยกระดับจนน่าตกใจ

และถึงแม้การโจมตีระหว่างพรรคการเมืองจะเป็นเรื่องธรรมดา ปัญหาที่เกิดแก่อนาคตใหม่ก็รุนแรงกว่าพรรคอื่นจนเห็นได้ชัด

เพราะเป็นการโจมตีเรื่องความไม่ตั้งมั่นในชาติและสถาบันสำคัญในสังคมไทย

พูดก็พูดเถอะ ขณะที่พลังประชารัฐโดนโจมตีด้วยเรื่องสืบทอดอำนาจ หรือคุณอุตตม สาวนายน ทำไมหลุดคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย

ส่วนประชาธิปัตย์โดนถล่มเรื่องทรยศคำพูดที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง

เรื่องที่อนาคตใหม่โดนนั้นเข้าขั้นต้องใช้คำว่า “ไล่ล่า” เพราะเป็นการปลุกปั่นให้คนเกลียดชังพรรคและแกนนำพรรคบางคน

ขณะที่หัวหน้าและเลขาฯ พรรคอนาคตใหม่โดนกล่าวหาว่ามีความผิดในคดีที่โทษรุนแรงอย่าง “ยุยงปลุกปั่น” จนคนเลิกจำแล้วว่ากี่คดี การสร้างกระแสโจมตีพรรคเรื่อง “ชังชาติ”, “ล้มเจ้า” หรือ “หมิ่นสถาบัน” ก็ทวีความรุนแรงจนเข้าขั้นเป็น Hate Speech หรือการใช้ข้อมูลข่าวสารซึ่งนำไปสู่การทำร้ายบุคคล

ล่าสุด โฆษกพรรคอนาคตใหม่ถูกอดีตนักร้องดัง “ทาทา ยัง” โพสต์ IG เออออกับการดักตบสักที

แต่ที่น่าตกใจกว่าคือผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคนโพสต์เชียร์ทาทาเรื่องนี้ไปด้วย

การต่อต้านอนาคตใหมที่ลุกลามถึงรังเกียจโฆษกพรรคขั้นกล้าใช้คำว่า #ดักตบอีช่อ คือสัญญาณของความรุนแรงทางการเมืองที่น่ากังวล

แม้จะเป็นความจริงว่าความเห็นนี้คาบลูกคาบดอกกับการโพสต์สนุกๆ จนยากจะสรุปว่าชวนกันไปตบใครได้จริงๆ และตัวผู้โพสต์ก็ชี้แจงแล้วว่าโพสต์เพื่อแซวเพื่อนที่รู้ว่าไม่มีทางไปทำแบบนั้น แต่การที่คำประกาศ #ดักตบอีช่อ กลายเป็นเรื่องตลกสำหรับคนบางกลุ่มก็คืออาการของความเกลียดชังที่น่าวิตกอยู่ดี

หนึ่งในคำอธิบายที่มีผู้พูดกันมากคือดราม่าเรื่อง “ดักตบอีช่อ” เกิดเพราะความไม่พอใจตัวบุคคลโดดเด่นเกินไป

แต่ถ้าคำประกาศมีต้นตอจากเรื่อง “ดัง” จริงๆ หัวหน้าและเลขาฯ ก็น่าจะโดนคนกลุ่มนี้ประกาศ “ดักตบ” ด้วย เพราะไม่มีทางที่โฆษกพรรคไหนจะดังกว่าคนอื่นจนเป็นเป้าของการ “ดักตบ” คนเดียว

อะไรทำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะประกาศ “ดักตบ” โฆษกพรรคอนาคตใหม่แบบนี้ ต่อให้จะอ้างว่าเป็นเพียงการเมนต์แซวกันขำๆ โดยรู้ว่าไม่มีใครตั้งใจทำแบบนั้นก็ตาม

คําประกาศ “ดักตบ” เกิดในช่วงที่โฆษกพรรคถูกโจมตีเรื่องแต่งตัวแบบนางเอกละครกาสะลองเข้าสภา ความขัดแย้งในโซเชียลทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่อง “เอาผ้าพื้นเมือง” หรือ “รังเกียจผ้าพื้นเมือง” ซึ่งลุกลามเป็นเอา “ความเป็นพื้นถิ่น” หรือ “ไม่เอาความเป็นพื้นถิ่น” ถึงจุดที่ครหาว่าสภาจะไม่ให้ใส่ผ้าพื้นถิ่นต่อไป

อย่างไรก็ดี ถ้าเนื้อหาสาระของเรื่องนี้เป็นเรื่อง “เอาพื้นถิ่น” หรือ “ไม่เอาพื้นถิ่น” คำประกาศ “ดักตบ” ก็น่าจะมีเป้าหมายที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านอื่นๆ ซึ่งเข้าสภาด้วยผ้าพื้นเมืองเหมือนโฆษกอนาคตใหม่ไปด้วย แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีกระแส “ดักตบ” ส.ส.ศรีนวล, ส.ส.ธัญญ์วาริน หรือ ส.ส.สิรินทร แต่อย่างใด

แน่นอนว่าการที่พลังประชารัฐเสนอให้ประธานสภาวางระเบียบเครื่องแต่งกาย ส.ส. ทำให้คนปั่นกระแสว่า “ฝ่ายสืบทอดอำนาจ” ต้านผ้าพื้นเมือง แต่ที่จริง ผ้าพื้นเมืองคือ “สัญญะ” ของความเป็นชาติที่รัฐยอมรับขั้นชนชั้นนำรณรงค์ให้ประชาชนแต่งจน “ผ้าพื้นเมือง” ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการต่อต้านอะไรในปัจจุบัน

ข้อเสนอของพลังประชารัฐเรื่อง Dress Code หรือเครื่องแบบสำหรับประชุมอาจทำให้คนเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ทำให้ “ร่างกายอยู่ใต้บงการ” แต่รัฐไทยยอมรับ “ผ้าพื้นเมือง” จนโอกาสที่สภาจะห้าม ส.ส.เข้าประชุมด้วย “ผ้าพื้นเมือง” มีน้อยมาก

เพราะการแต่งกายด้วย “ผ้าพื้นเมือง” ไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด

สรุปให้สั้นที่สุด แม้สังคมไทยจะไม่ยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์/วัฒนธรรม “การกลืนกินทางวัฒนธรรม” (Cultural Appropriation) ทำให้รัฐยอมรับประเพณีพื้นถิ่นบางอย่างมานานแล้ว “ผ้าพื้นถิ่น” จึงสื่อสารเรื่องการต่อต้านไม่ได้จนไม่มีเงื่อนไขให้เกิด “การเมืองวัฒนธรรม” ที่ใช้การแต่งกายเป็นเครื่องมือ

ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ “ผ้าพื้นถิ่น” คือแฟชั่นที่ร่างกายของผู้สวมใส่เป็นเพียงการแสดงรสนิยมส่วนบุคคล ส.ส.อนาคตใหม่หรือเพื่อไทยที่ใส่ผ้าพื้นถิ่นจึงไม่ถูกโจมตีขั้นเกิดคำประกาศ “ดักตบ” เพราะไม่มีใครมองว่าคุณศรีนวล, คุณธัญญ์วาริน หรือคุณสิรินทรเป็นฝ่าย “ต้านระบบ” อย่างที่มองคุณพรรณิการ์

การแต่งกายในสภาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในหลายสังคม แต่ในหลายสังคมก็ไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ พม่าซึ่งทหารทำลายทุกชาติพันธุ์ย่อยยับกลับยอมผู้แทนแต่งตัวตามชาติพันธุ์เข้าสภา ส่วนออสเตรเลียซึ่งเป็นประชาธิปไตยกลับกำหนดว่า ส.ส.ควรแต่งตัวแบบนักธุรกิจและผู้บริหารองค์กร

ไม่ว่าโฆษกอนาคตใหม่จะใส่ผ้าพื้นถิ่นเพราะอะไร การเมืองวัฒนธรรมเรื่องผ้าพื้นถิ่นกรณีนี้ไม่ได้สะท้อนการต่อสู้เพื่อความหลากหลายในสังคมไทยนัก

สังคมเห็นคุณพรรณิการ์ในแง่นักการเมืองหญิงซึ่งขยันแต่งแฟชั่นจนฝักใฝ่เรื่องนี้เหนือนักการเมืองหญิงคนอื่น “ผ้าพื้นถิ่น” จึงเป็นเรื่องส่วนตัวกว่าเรื่องส่วนรวม

แน่นอนว่าเราอยู่ในยุคที่การต่อสู้ในปริมณฑลซึ่งเคยเป็น “เรื่องส่วนตัว” กำลังเป็น “เรื่องส่วนรวม” และการขยายวันลาคลอด, สถานะพลเมืองของคนไร้สัญชาติ, การทำให้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ ฯลฯ คือตัวอย่างของ “เรื่องส่วนตัว” ที่เป็น “เรื่องส่วนรวม” ซึ่งน่าจับตาที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่อง ส.ส.แต่งแฟชั่นเข้าสภา

ในสังคมที่การแต่งพื้นถิ่นเพื่อยืนยันอัตลักษณ์พื้นเมืองไม่ใช่เรื่องใหญ่ การถกเถียงเรื่องเครื่องแต่งกายคือการถกเถียงเรื่องส่วนตัวที่ทำให้คุณพรรณิการ์เป็นสัญลักษณ์ของการไม่จำนนกับกฎเกณฑ์ในสภาเท่านั้น

ปัญหาคือใครจะแยกออกว่าการไม่จำนนกรณีนี้เหมือนหรือต่างจากการไม่ทำตามระเบียบที่ขัดใจตัวเอง?

ไม่มีใครรู้ว่าโฆษกอนาคตใหม่ทำแบบนี้เพื่อความพอใจหรือเพื่อเปลี่ยนกติกาสังคม และโฆษกอนาคตใหม่ก็เป็นธรรมกับสังคมน้อยจนไม่เคยประกาศเจตนารมณ์นี้ให้ใครรู้ด้วย โอกาสที่คนบางกลุ่มจะไม่พอใจขั้น “หมั่นไส้” จนบานปลายเป็นดราม่า “ดักตบ” จึงมีมาก ตราบใดที่ไม่มีใครเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวม

นักการเมืองแบบโฆษกอนาคตใหม่สร้างความกระอักกระอ่วนให้คนบางกลุ่ม และถึงแม้ ส.ส.จะเป็นบุคคลสาธารณะที่อยู่ได้ด้วยเงินภาษีประชาชนจนต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เป็นพิเศษ แต่นักการเมืองแบบนี้ก็เป็นคน และคนแต่ละกลุ่มก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับนักการเมืองหรือคนแบบนี้ด้วยเหมือนกัน

ไม่มีพรรคการเมืองไหนตกเป็นเป้าของการโจมตีเท่าอนาคตใหม่ในปัจจุบัน แต่ถึงที่สุดพรรคนี้เกิดจากการรวมตัวของคนที่คิดคล้ายกันเหมือนพลังประชารัฐหรือเพื่อไทย ความระแวงพรรคจึงแสดงความระแวงคนที่คิดต่างซึ่งรวมตัวให้เห็นประจักษ์เท่านั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ฝ่ายระแวงอนาคตใหม่มากกว่าอนาคตใหม่เอง

พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่และนักการเมืองอย่างคุณพรรณิการ์คือดัชนีวัดความอารยะของสังคม สังคมที่มีวุฒิภาวะคือสังคมที่อดทนต่อพรรคและบุคลากรทางการเมืองที่แสดงตัวว่าต่างจากคนอื่นอย่างสุดขั้วได้

ไม่ใช่สังคมที่ไล่ล่าหรือประกาศ “ดักตบ” อย่างที่ทำอย่างไร้ยางอายในปัจจุบัน