เกษียร เตชะพีระ | อันเนื่องมาแต่ชาติ…ยอดรัก (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงจากคำอภิปรายของผมในงานเสวนา “ชาติที่เรา(จะ)รัก” ในโอกาสอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อายุครบ 79 ปี ณ ร้านหนังสือบุ๊ครี : พับลิค เชียงใหม่ 25 พฤษภาคม ศกนี้)

5)

เสรีภาพ, ชะตากรรม และความรัก

ข้อความตอนที่เกี่ยวข้องในบทความ “ชาติ…ยอดรัก” ของ อ.นิธิเสนอความสัมพันธ์ของเสรีภาพในการเลือกกับความรักชาติแบบชาตินิยม ว่าจำลองแบบมาจากความรักประโลมโลกย์ไว้ 2 ย่อหน้าว่า :

“การแต่งงานแบบคลุมถุงชนเป็นที่รังเกียจของความรักประโลมโลกย์ เพราะความรักประโลมโลกย์เรียกร้องให้ปัจเจกต้องมีเสรีภาพในการเลือกด้วย ว่ากันว่าจะได้ทำให้เกิดความรักที่มั่นคงถาวร ชาติก็อ้างเสรีภาพในการเลือกเช่นกัน เพียงแต่ก่อนที่พลเมืองจะใช้เสรีภาพนั้น ชาติขอเวลาในการกล่อมเกลาเยาวชนด้วยวิธีอันแนบเนียนต่างๆ ก่อน จนในที่สุดทุกคนก็เลือกจะเป็นคู่รักของชาติโดยรู้สึกว่าได้เลือกโดยอิสรเสรีแล้ว เราอาจรู้สึกว่าได้เลือกคู่รักคนนี้อย่างอิสรเสรีเสียยิ่งกว่าเลือกศาสนาด้วยซ้ำ” (https://www.matichonweekly.com/qoute/article_143187)

นั่นหมายความว่าเสรีภาพในการเลือก (freedom to choose) ที่จะรักชาติแบบชาตินิยมนั้น เอาเข้าจริงก็อาจมิได้เกิดจากเจตจำนงเสรีของปัจเจกบุคคลพลเมืองอย่างเป็นไปเองหรือสำนึกได้เอง ทว่าอาจเกิดจากการถูกปลูกฝังมาก่อนผ่านระบบการศึกษาของรัฐ (educated) หรือถูกกล่อมเกลาโดยรัฐให้เกิดความรู้สึกนึกคิดจิตใจที่สอดคล้องรองรับเข้ากับระเบียบการปกครองมาก่อน (governmentalized) ต่างหาก

สมดังที่จิอูเซ็ปเป มาสซินี หัวหอกขบวนการกู้ชาติอิตาลีเป็นเอกภาพ (ค.ศ.1805-1872) และหลวงวิจิตรวาทการ เสนาธิการการเมืองวัฒนธรรมแห่งลัทธิชูชาติสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ค.ศ.1898-1962) ได้เน้นความสำคัญของการศึกษาต่อการสร้างพลเมืองใหม่ผ่าน “มนุสสปฏิวัติ” (human revolution) ทำนองเดียวกัน (www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/หนังสืออิเล็กทรอนิกส์/book/231.html?tmpl=component&print=1)

อ.นิธิยังเขียนต่อไปในบทความเดียวกันว่า :

“แต่อิสรเสรีจริงหรือไม่นั้นยกไว้ก่อน แม้แต่การแต่งงานก็เช่นกัน นิตยสารเพลย์บอยเคยสำรวจคู่สมรสในสหรัฐแล้วพบว่า กว่าครึ่งของผัว-เมียในเขตเมือง มีบ้านอยู่ห่างกันไม่เกิน 3 บล๊อกตอนเป็นหนุ่ม-สาว ตกลงเราเลือกคู่โดยเสรี หรือเลือกภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งกันแน่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ความรู้สึกว่าได้เลือกโดยเสรีนั้นสำคัญมาก เพราะทำให้สามารถประกาศได้ว่า “ลูกจีนรักชาติ””

ประเด็นที่ อ.นิธิยกไว้ก่อน หรือนัยหนึ่งประเด็นที่ว่า “ตกลงเราเลือกรักชาติโดยเสรี หรือเลือกภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งกันแน่?” น่าสนใจเพราะมันเกี่ยวพันโดยตรงกับคำถามนำของครูเบนในหนังสือ Imagined Communities : Reflections on the Origin and Spread of Nationalism (ค.ศ.1983) ที่ว่า :

“คำถามใหญ่หลวงที่สุดที่เกิดจากลัทธิชาตินิยม กล่าวคือ อะไรเล่าที่ทำให้จินตกรรมอันจำกัดทางประวัติศาสตร์สมัยใหม่เหล่านี้ สามารถทำให้เกิดการเสียสละพลีชีพอย่างมโหฬาร?” (ฉบับแปลไทย น.13)

เพื่อตอบคำถามนี้ ครูเบนเสนอให้เทียบเคียงชาตินิยมกับ “ระบบวัฒนธรรมขนาดใหญ่” เช่น เครือญาติและศาสนา แทนที่จะเป็น “อุดมการณ์ทางการเมืองที่ยึดถืออย่างสำนึกตน” อาทิ เสรีนิยมหรือลัทธิฟาสซิสต์ (Imagined Communities, 1st edition, p.15, 19)

ก็แลจุดแข็งของระบบวัฒนธรรมขนาดใหญ่ อย่างศาสนาคือมันสามารถตอบคำถาม/ให้ความหมายแก่ “ชะตากรรมทั้งหลายแหล่” (fatalities : helplessness in the face of fate) ของมนุษย์อย่างความตาย ถิ่นกำเนิด ฯลฯ ซึ่งโดยปกติทั่วไปเราไม่สามารถเลือกอย่างเสรีได้ ขณะที่วิธีคิดเชิงวิวัฒนาการ/ก้าวหน้าทั้งหลายรวมทั้งลัทธิมาร์กซ์ได้แต่ “เงียบกริบ” ต่อคำถามทำนองนี้ ครูเบนอธิบายว่า :

“ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่จำต้องมีคือการแปรเปลี่ยนเชิงโลกวิสัยเพื่อทำให้ชะตากรรมกลายเป็นความสืบเนื่อง และการณ์จรกลายเป็นมีความหมาย ดังที่เราจะได้เห็นต่อไปว่ามีของน้อยสิ่งนักที่เคยและยังคงเหมาะเจาะกับการบรรลุเป้าหมายนี้ได้ดีไปกว่าความคิดเรื่องชาติ หากแม้นรัฐชาติทั้งหลายกลายเป็นที่ยอมรับโดยจำนนอย่างกว้างขวางว่าเป็นของ “ใหม่” และ “มีลักษณะทางประวัติศาสตร์” แล้ว ชาติทั้งหลายซึ่งแสดงออกทางการเมืองมาเป็นรัฐชาติดังกล่าวนั้นกลับถูกถือว่าตั้งเค้าตระหง่านมาแต่อดีตอันไกลโพ้นจนเหลือที่จะจดจำไว้ได้อีกต่อไป และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือมันยังเคลื่อนคล้อยไปสู่อนาคตอันไร้ขอบเขตอีกด้วย มนต์ขลังของชาตินิยมอยู่ตรงการพลิกเปลี่ยนความบังเอิญให้กลายเป็นชะตาลิขิต เราจึงอาจกล่าวได้ดังที่เดอเบรย์เคยกล่าวไว้ว่า “ใช่ มันเป็นอุบัติเหตุทีเดียวเจียวที่ผมดันเกิดมาเป็นคนฝรั่งเศส แต่ถึงไงฝรั่งเศสก็ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์นี่นา”” (p.19 ผู้เขียนแปล)

ฉะนั้น แทนที่ [ความรักชาติแบบชาตินิยม] จะเป็นเรื่องของ [ปัจเจกบุคคลผู้เลือกที่จะรักชาติอย่างเสรี]

เอาเข้าจริง มันน่าจะเป็น [การเปลี่ยนแปรชะตากรรม (fatality) และการณ์จร (contingency) ที่เผอิญ (chance) เกิดมาอยู่ในประเทศชาตินี้] ให้กลายเป็น ->

[ชะตาลิขิต (destiny) ให้ถือกำเนิดมารับทอดสืบเนื่อง (continuity) ความเป็นชาติที่มีมาแต่อดีตต่อไปข้างหน้าในอนาคตอย่างมีความหมาย (meaning)] – แล้วจึงรักชาติต่างหาก

ดังสะท้อนออกในเนื้อร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ขออัญเชิญมาในที่นี้ ความว่า (https://web.ku.ac.th/king72/2530/rao_soo.html) :

บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเหย้า

เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป

ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย

อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย

ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย

สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู

บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้

เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว